ชีวิตที่พอเพียง 3735. วรรณกรรมเยอรมันคัดสรร



หนังสือแปล วรรณกรรมเยอรมันคัดสรร   จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ ประเทืองปัญญายิ่งนัก เป็นหนังสือแนวเดียวกันกับ เรื่องสั้นญี่ปุ่นคัดสรร ที่ผมเคยเขียนบันทึกเล่าไว้แล้ว (๑)   

ผมประทับใจฉากภูมิทัศน์หรือบ้านเมืองในท้องเรื่อง ที่สะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเยอรมนีเมื่อประมาณร้อยปีมาแล้ว หรือก่อนหน้านั้น   

จากเรื่อง การเดินทาง บันทึกและภาพร่าง โดย Hermann Hesse ทำให้ผมได้รู้ว่า    การเดินเท้าข้ามภูเขาแอลป์ เป็นเวลาสิบวัน ของ เฮสเสอะ เมื่อปี ค.ศ. 1920 นั้น    ไม่ได้เดินในป่า  แต่เดินไปตามถนน    และมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่อยู่ใกล้น้ำตกแล้วในช่วงเวลานั้น   บันทึกการเดินทางนี้ เป็นบันทึกความรู้สึกด้านในของผู้เขียน   ที่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสภูมิประเทศที่เดินผ่าน    จากบันทึกและภาพวาด ทำให้รู้สึกว่า   คนสมัยร้อยปีก่อน ผูกพันกับศาสนามากกว่าคนสมัยนี้ อย่างมากมาย    

เรื่อง คนขี่ม้าขาวโดย Theodore Storm ให้ความตื่นเต้นสูงมาก   ไม่ว่าคนสมัยใดวัฒนธรรมใด มีเรื่องลี้ลับเชิงภูตผีอยู่เสมอ   โดยที่ผู้แต่งผูกเรื่อง และมีลีลาการเล่าเรื่องเก่งมาก   นอกจากได้ตื่นเต้นไปกับท้องเรื่องแล้ว    ยังได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ และสังคมของชาวบ้านในเมืองหนาวเมื่อราวๆ หนึ่งร้อยปีก่อน    ซึ่งยังเป็นสังคมเกษตรกรรม  แม่บ้านยังปั่นด้ายทอผ้าใช้เอง    ยังใช้เทียนไข หรือตะเกียงน้ำมันกันอยู่   ผมอ่านแล้วรู้สึกคุ้นๆ    

นอกจากเรื่อง คนขี่ม้าขาว แล้ว    นอกนั้นเป็นข้อเขียนเชิงกวี หรือศิลปิน    ที่เขียนความคิดคำนึง  หรือมิติด้านในของตนออกมา     ผมได้เรียนรู้ว่า ข้อเขียนคุณภาพสูงมีลักษณะอย่างนี้     โดยที่เมื่อก่อนผมไม่มีโอกาสอ่านหนังสือแบบนี้   

ในสายตาของผม วรรณกรรมดีเด่นเหล่านี้ สะท้อนภาพชีวิตจิตใจของมนุษย์     สะท้อนออกมาเป็นข้อเขียนเชิงวรรณกรรม    คือไม่บอกตรงๆ โต้งๆ    ดังนั้นภาษาที่ใช้จึง อ่านเข้าใจยาก อย่างที่ นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์กล่าว     แต่เป็นภาษาที่งดงาม    และเป็นวรรณกรรม    คำว่า “เป็นวรรณกรรม” ในความหมายของผมคือ    ผู้อ่านแต่ละคนอ่านแล้วตีความต่างๆ กัน  

หนังสือแปลของสำนักพิมพ์ คนบ้าหนังสือ   มีลักษณะร่วมทุกเล่มคือ แปลโดยคุณวิภาดา กิตติโกวิท (นักแปลเปี่ยมคุณภาพ)    และเขียนบทกล่าวนำโดย นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์    ผมฝึกอ่านส่วนบทกล่าวนำ  และคำนำของผู้แปล ด้วยสมองซีกซ้าย    แล้วอ่านเนื้อเรื่องด้วยสมองซีกขวา (ซึ่งผมทำไม่ค่อยเป็น) เพื่อให้ได้รับรสความงาม

แต่ก็อดไม่ได้ ที่จะจับประเด็นส่วนที่ให้คติสอนใจเอามาเล่า    หน้า ๒๖ บอกอุดมการณ์ของ แฮร์มันน์ เฮสเสอะ “เป็นผู้แสวงหา ไม่ใช่ผู้เก็บรักษา”    ที่เตะตาผมอย่างแรง    เพราะผมประเมินตนเองว่า เป็นคนมีนิสัยบุกไปข้างหน้า    ไม่ค่อยเก็บรักษาสิ่งของหรือทรัพย์สมบัติ   นิสัยแบบนี้คงจะมีทั้งข้อดีและข้อด้อย          

หน้า ๕๖  เฮสเสอะ เอ่ยถึงเรื่อง พระเจ้า และศรัทธา    ที่สะท้อนจิตอิสระ “พระเจ้าอยู่ภายในเรา”    และในหน้า ๔๐๖ ไรเนอร์ มาเรีย ริลเคอ บอกว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้า     จะเห็นว่า ปราชญ์หรือกวีเมื่อร้อยปีก่อน มองศาสนาและพระเจ้าด้วยมุมมองเสรีเพียงใด     

หน้า ๓๗๔ - ๓๗๕ และ ๓๗๗ ไรเนอร์ มาเรีย ริลเคอ แนะนำวิธีสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ความเป็นกวี หรือความเป็นศิลปินของตน     ให้ทำงานจากแรงขับดันภายในตน   ไม่ใช่จากแรงขับดันภายนอก เช่นนักวิจารณ์ หรือคนชอบไม่ชอบ    ช่างเหมือนกับความคิดของ โอกุสตฺ โรแดง ในหนังสือแปล โอกุสตฺ โรแดง : ว่าด้วยศิลปะ - บทสนทนากับปอล กฺแซลล์ (๒)   

ถ้าถามว่า ผมชอบเรื่องไหนมากที่สุด ผมตอบว่าผมชอบ จดหมายถึงกวีหนุ่ม มากที่สุด    ในลักษณะของจดหมายจากคนอายุ ๒๘  เขียนแนะนำคนหนุ่มอายุ ๑๙ ที่กำลังเรียนวิชาทหาร ควบคู่ไปกับฝึกเป็นกวี    เป็นจดหมาย ๑๐ ฉบับ ระหว่างปี ค.ศ. 1903 – 1908   โดยที่ฉบับที่ ๑๐  เขียนห่างจากฉบับที่ ๙ เป็นเวลากว่า ๔ ปี   

ทำไมผมจึงชอบ    ผมชอบเพราะเป็นเรื่องที่คนหนุ่มคุยกับคนหนุ่ม     ในเรื่องจิตใจ    ทั้งสองคนต่างก็เป็นคนที่ยังมีประสบการณ์ชีวิตไม่มาก    มีความไม่รู้มากกว่าความรู้   

หน้า ๓๙๑ ริลเคอ แนะนำ ฟรันซ์ ซาเวอร์ คัปปุส ผู้รับจดหมาย (ที่ไม่เคยพบหน้ากันเลย) ให้ รักปัญหา  และอย่ารีบร้อนแก้    ชวนให้ผมนึกถึง การคิดระบบที่ ๒  คิดช้าๆ (๓)    ซึ่งก็คือการคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง (reflection) 

กวีและศิลปิน ต้องค่อยๆ ละเลียดสิ่งที่สัมผัส หรือเผชิญในชีวิตจริง    กลั่นผ่านอารมณ์ออกมาเป็นบทกวี หรือชิ้นงานศิลปะ

ผมไม่ได้เกิดมาเป็นศิลปิน

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้  

วิจารณ์ พานิช

๗ มิ.ย. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 678391เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท