สะท้อนคิดต่อชีวิต ... นักสร้าง impact



วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓  ผมนัดทำ life reflection กับสหายรุ่นน้องที่เกือบจะเป็นรุ่นลูก    ที่ประกาศตัวเป็น “ฝ่ายซ้าย”    ทำให้ผมได้ทำความเข้าใจ “ฝ่ายซ้ายนักค้าน”    หรือนักติติง    โยงเข้าสู่การศึกษา

เท่ากับสหายท่านนี้ทำหน้าที่เป็น reflection subject โดยเอาชีวิตของเธอเองมาเป็น “กรณีตัวอย่างจริง”    ให้ผมได้เรียนรู้    โดยเธอมาหาผมเพื่อขอคำแนะนำ     และผมได้แนะนำไปว่า ควรมุ่งที่การใช้ชีวิตสร้าง impact ให้แก่สังคมและแก่ตนเอง    อย่าเสียเวลาสร้างผลงานที่ไม่ก่อ impact   

การศึกษาต้องสร้างคนให้เป็นผู้มุ่งใช้ชีวิตเพื่อทำประโยชน์ หรือเป็นคุณ     ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น    ให้มีสติตรวจสอบตนเอง ว่าไม่หลงทำสิ่งที่เป็นโทษ    

หมายความว่า การศึกษาต้องมุ่งสร้าง “ผู้กระทำ” (Agent)    สร้างคนที่เป็นนักปฏิบัติ ลงมือทำเพื่อ หรือหยิบยื่นให้แก่ผู้อื่น    ซึ่งตรงกันข้ามกับ “ผู้รอรับ” ที่รอคอยความช่วยเหลือหรือหยิบยื่นจากผู้อื่น   

ผมสังเกตว่า เพราะการศึกษาไม่ได้เน้นสร้าง  “ผู้กระทำ” (Agent)     เราจึงมีผู้มีการศึกษาสูงที่ไม่เข้าใจชีวิต     ไม่เข้าใจ productivity แห่งชีวิต    หลงไปทำงานสร้างผลงานที่ไม่ก่อ Impact    เท่ากับใช้ความสามารถไปในทางเปล่าประโยชน์อย่างน่าเสียดาย   

คนแบบนี้เป็นคนดี  มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง    เป็นคนสมองดี และมีความรู้ความสามารถ    แต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ความสามารถให้ก่อ impact    ผมจึงมองว่า การศึกษาต้องสร้างทักษะการก่อ impact แก่สังคม และแก่ตนเอง

Distraction หรือตัวชักจูงผิดทาง อย่างหนึ่งคือความรู้    เพราะหมกมุ่นอยู่กับความรู้บางด้านที่ตนร่ำเรียนมา    หรือมีความรู้ความชำนาญ     ทำให้ไม่คิดเรื่องการประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง impact    สมเด็จพระบรมราชชนก (แห่ง ร. ๙) นิพนธ์ไว้ว่า

 True success is not in learning,

But in its application

For the benefit of mankind

ความรู้และการเรียนรู้ไร้ความหมาย    หากไม่ใช่เพื่อการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์     

คำแนะนำอีกอย่างหนึ่ง คือการอยู่กับเจตคติเชิงบวก (positive mindset)    ไม่หลงเข้าไปหมกมุ่นอยู่กับเจตคติเชิงลบ (negative mindset)    ที่บั่นทอน productivity  บั่นทอนการสร้าง impact ในชีวิต   

ดังนั้น การเป็นฝ่ายซ้าย สามารถเป็นฝ่ายซ้ายที่ทรงคุณค่าได้    โดยเป็นฝ่ายซ้ายนักปฏิบัติ  ไม่ใช้ฝ่ายซ้ายนักค้าน     เมื่อเป็นนักปฏิบัติ ความเป็นฝ่ายซ้ายจะไม่สุดโต่ง    เพราะในการปฏิบัติ ต้องอยู่กับความซับซ้อนแตกต่างหลากหลาย     และต้องร่วมมือกับผู้คนในหลากหลายภาคส่วน หลากหลายเจตคติ   

วิจารณ์ พานิช  

๔ ก.พ. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 676097เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2020 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2020 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท