เสียงจากคนค่าย : ความบังเอิญที่เกิดจากความตั้งใจ (นางสาวธัญรัตน์ คำแพง)


แต่พอทำไปทำมา หนูกลับรู้สึกชอบและผูกพันกับกิจกรรมของศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ พอทำไปสักระยะ หนูก็ไม่สนใจเรื่องชั่วโมงจิตอาสา กยศ. ทุกกิจกรรมที่เข้าร่วม หนูไม่เคยคิดที่จะเก็บชั่วโมงใดๆ เลยก็ว่าได้ บ่อยครั้งเข้ากลับเริ่มรู้สึกว่า “ยิ่งทำยิ่งเพลิน ยิ่งทำยิ่งสนุก”

อันที่จริงหนูก็ไม่ตั้งใจที่จะมาทำกิจกรรมที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมหรอกนะคะ จะว่าไปมันเป็นความบังเอิญเสียมากกว่า  เริ่มแรกเลยหนูกับเพื่อนไปเจอ “พี่บิ๊ก” (เกรียงไกร พรสวัสดิ์) ซึ่งเป็นพี่ที่เรียนสาขาเดียวกันกับหนูกำลัง “เปิดหมวก” อยู่ที่ตลาดน้อย  เพื่อนำเงินไปช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม  พอเห็นดังนั้นหนูกับเพื่อนเลยช่วยพี่บิ๊กจัดกิจกรรมเปิดหมวกด้วยความเต็มใจ  เลยกลายเป็นความบังเอิญที่ตั้งใจนั่นเอง


จากนั้นพี่บิ๊กก็เอ่ยปากชวนให้ลงชุมชนไปด้วยกัน แถมเกริ่นๆ ว่า “ไปแล้วได้ชั่วโมงจิตอาสา กยศ.ด้วย” พอได้ยินเช่นนั้นหนูก็เริ่มคิดที่อยากจะไปทำกิจกรรมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ และจริงๆ ช่วงนั้นก็กำลังว่างๆ อยู่พอดี  คิดแค่ว่าตัวเองว่างและอยู่ห้องไม่มีอะไรทำ หนังสือก็ขี้เกียจอ่าน (ฮ่าๆ) ก็เลยอยากหาอะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมบ้าง

แต่พอทำไปทำมา หนูกลับรู้สึกชอบและผูกพันกับกิจกรรมของศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ  พอทำไปสักระยะ หนูก็ไม่สนใจเรื่องชั่วโมงจิตอาสา กยศ. ทุกกิจกรรมที่เข้าร่วม หนูไม่เคยคิดที่จะเก็บชั่วโมงใดๆ เลยก็ว่าได้  บ่อยครั้งเข้ากลับเริ่มรู้สึกว่า “ยิ่งทำยิ่งเพลิน ยิ่งทำยิ่งสนุก”  

กระทั่งถึงช่วงเวลาที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งภายใน หนูก็ได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้ช่วยธุรการและทะเบียน”  แต่เอาจริงๆ แล้วเวลาทำงานพี่ๆ ให้ช่วยอะไรหนูก็ทำตามที่พี่ๆ บอก โดยเฉพาะค่ายล่าสุด คือ “ค่ายต้านลมหนาว”  หนูได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการเตรียมของไปค่าย  การเปิดหมวกและหาของบริจาคไปทำกิจกรรมสอยดาว สิ่งเหล่านี้หนูก็ทำอย่างเต็มที่


สำหรับค่ายต้านลมหนาว สานปัญญา: จิตอาสาเรียนรู้คู่บริการ  จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-15 มีนาคม 2563 ณ โรงเรียนบ้านหนอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมกับกลุ่มนิสิตพรรคชาวดิน  โดยงบประมาณหลักๆ ทางพรรคชาวดินจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ จะรับผิดชอบเรื่องกิจกรรมและจัดหางบประมาณเพิ่มเติม รวมถึงการลงพื้นที่เตรียมค่ายฯ

หนูตัดสินใจไปค่ายครั้งนี้ เพราะเคยไปทำค่ายที่นั่นมาแล้วครั้งหนึ่ง  ยังมีภารกิจทางใจที่ต้องสานต่อให้แล้วเสร็จ จึงไม่ลังเลใดๆ ที่จะไปออกค่ายและมีความสุขกับการได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกิจกรรมบางกิจกรรมในค่าย เพราะมันคือโอกาสของการพัฒนาตนเอง และเหมือนว่าพี่ๆ เพื่อนๆ เชื่อว่า "เรามีค่า หรือมีศักยภาพ"

  


การไปค่ายต้านลมหนาวในครั้งที่สอง มีความแตกต่างจากคราวก่อนมาก โดยเฉพาะการแบ่งงานที่ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร ต้องคิดเอง บริหารจัดการเอง และแก้ปัญหาร่วมกัน เรียกได้ว่ารับรู้เรื่องราวต่างๆ ร่วมกันให้ได้มากที่สุด มิใช่การรับรู้เพียงไม่กี่คนและแก้ปัญหาอยู่เพียงไม่กี่คน  หรือแม้แต่ความแตกต่างจากค่ายของสาขาที่ไปแล้วจะทำแต่เฉพาะในส่วนของโรงเรียน สมาชิกค่ายก็มีจำนวนมาก  การทำงานก็ไม่ค่อยเป็นระบบ ไม่ค่อยเป็นขั้นเป็นตอน  จะทำอะไรก็ต้องถามพี่ๆ อยู่เสมอว่ามันอยู่ในกรอบหน้าที่ หรืออยู่ในรูปแบบของกิจกรรมหรือเปล่า 

ส่วนค่ายของศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ  ที่หนูได้ไปนั้น เป็นค่ายที่ทำครบวงจรทั้ง “บ้าน วัด โรงเรียน”  หรือที่เรียกว่า “บวร”  ซึ่งหนูได้เรียนรู้การทำงานที่เป็นระบบ สามารถคิดนอกกรอบได้  แต่ละคนหากมีความคิดเห็นอะไรก็สามารถช่วยออกความคิดเห็นกันได้ หนูมองว่าวิธีการแบบนี้ทำให้หนูเข้าใจการเป็นผู้นำได้และการเป็นผู้ตามพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี


ด้วยเหตุนี้หนูจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่าค่ายต้านลมหนาวฯ ล่าสุดที่ได้ไปมานั้นสอนหลายอย่างมากเลยค่ะ ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต ช่วยให้ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้หนูได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ดีขึ้น และที่สำคัญคือทำให้หนู “ทำงานเป็น” ขึ้นมากกว่าที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดค่ะ 

นี่คือความบังเอิญที่หนูพบเจอแล้วตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้อย่างจริงจังเท่าที่หนูจะเรียนรู้ได้  ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันคือความบังเอิญที่งดงามสำหรับหนู และหนูก็มีความสุขกับการได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองก็ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด


เรื่อง : นางสาวธัญรัตน์ คำแพง
ชั้นปีที่1 สาขาเกษตรศาสตร์
คณะเทคโนโลยี​ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 678358เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบุญของน้องที่มีโอกาสไปค่ายนะคะ

สวัสดีครับ พี่แก้ว

ผมมีความเชื่อและศรัทธาเสมอมาว่า ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เถอะ ค่าย หรือค่ายอาสาพัฒนา เป็นโรงเรียนผู้นำสำหรับคนหนุ่มสาวได้เป็นอย่างดี มันช่วยให้พวกเขาได้ฝึกการคิด ฝึกการทำงานจริงในสถานการณ์จริงทั้งในเชิงบุคคลและทีม ฝึกการรับผิดชอบตัวเองและสังคมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

แต่ทุกวันนี้ ระบบการเรียนในหลักสูตรก็อาจไม่เอื้อมากนัก เพราะขนาดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็มีเรียน นิสิตจำนวนไม่น้อยลงเรียนในเสาร์-อาทิตย์ ส่งผลให้ไปเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท