พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๓ (พระสูตร เล่มที่ ๕) เรื่องที่ ๖๙.โคลิสสานิสูตร เรื่องการปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ป่า


๖๙. โคลิสสานิสูตร  เรื่องการปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ป่า

คุณธรรมของภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ภิกษุชื่อโคลิสสานิ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มีมารยาททรามนั่ งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร ปรารภภิกษุชื่อโคลิสสานิ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้ว จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่มีความเคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย (๑)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเข้าใจลำดับแห่งอาสนะว่า ‘เราจักไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เป็นเถระ และจักไม่กันอาสนะภิกษุผู้เป็นนวกะ’ ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่เข้าใจลำดับแห่งอาสนะ จะมีผู้ติเตียนภิกษุรูปนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่เข้าใจลำดับแห่งอาสนะ’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ควรเข้าใจลำดับแห่งอาสนะ (๒)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรรู้อภิสมาจาริกธรรม ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่รู้อภิสมาจาริกธรรม จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียวสำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่รู้อภิสมาจาริกธรรม’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรรู้อภิสมาจาริกธรรม (๓)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเข้าบ้านเช้านัก ไม่ควรกลับมาสายนัก ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ ที่เข้าบ้านเช้านัก กลับมาสายนัก’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรเมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเข้าบ้านเช้านัก ไม่ควรกลับมาสายนัก (๔)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนฉันภัตตาหาร ในเวลาหลังฉันภัตตาหาร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนฉันภัตตาหาร ในเวลาหลังฉันภัตตาหาร จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘ท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ผู้สมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียวนี้ ได้ทำการเที่ยวไปในเวลาวิกาลไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจารีก็จะกล่าวทักท้วงเธอผู้ไปในสงฆ์ได้’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนฉันภัตตาหาร ในเวลาหลังฉันภัตตาหาร (๕)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘ท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ผู้สมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียวนี้ ได้ทำการคะนองกาย คะนองวาจาไว้มากแน่ อนึ่ง เพื่อนพรหมจารีก็จะกล่าวทักท้วงเธอผู้ไปกับสงฆ์ได้’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรคะนองกาย คะนองวาจา (๖)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้มีปากกล้า ไม่ควรเป็นผู้มีวาจาจัดจ้าน ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้มีปากกล้า เป็นผู้มีวาจาจัดจ้าน จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้แต่เป็นผู้มีปากกล้า เป็นผู้มีวาจาจัดจ้าน’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงไม่ควรเป็นผู้มีปากกล้า เป็นผู้มีวาจาจัดจ้าน (๗)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ว่าง่าย เป็นกัลยาณมิตร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ว่ายาก เป็นบาปมิตร จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่เป็นผู้ว่ายาก เป็นบาปมิตร’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เมื่อไปหาสงฆ์ อยู่ในสงฆ์ จึงควรเป็นผู้ว่าง่าย เป็นกัลยาณมิตร (๘)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร จึงควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย (๙)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่เป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร จึงควรเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร (๑๐)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่เป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียวสำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร จึงควรเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง (๑๑)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้ปรารภความเพียร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรเป็นผู้เกียจคร้าน จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่เป็นผู้เกียจคร้าน’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรจึงควรเป็นผู้ปรารภความเพียร (๑๒)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรจึงควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น (๑๓)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรจึงควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น (๑๔)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเป็นผู้มีปัญญา ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้มีปัญญาทราม จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่เป็นผู้มีปัญญาทราม’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรจึงควรเป็นผู้มีปัญญา (๑๕)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรทำความเพียรในอภิธรรมและในอภิวินัย เพราะเมื่อมีผู้ถามปัญหาในอภิธรรมและในอภิวินัยกับภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรถูกถามปัญหาในอภิธรรมและในอภิวินัยแล้ว ตอบไม่ได้ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียวสำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ถูกถามปัญหาในอภิธรรมและในอภิวินัยแล้วตอบไม่ได้’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรจึงควรทำความเพียรในอภิธรรมและในอภิวินัย (๑๖)

ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรทำความเพียรในสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน เพราะเมื่อมีคนถามปัญหาในสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูป เพราะล่วงรูปฌานกับภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรถูกถามปัญหาในสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌานแล้ว ตอบไม่ได้ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ถูกถามปัญหาในสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌานแล้ว ตอบไม่ได้’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร จึงควรทำความเพียรในสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน (๑๗)

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม เพราะเมื่อมีคนถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรมกับภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถ้าภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรถูกถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรมแล้วตอบไม่ได้ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไรกับการสมัครใจอยู่ป่าแต่ผู้เดียว สำหรับท่านผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนี้ แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคุณวิเศษที่กุลบุตรผู้ออกบวชแล้วต้องการ’ จะมีผู้ติเตียนภิกษุนั้นได้

เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร จึงควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม (๑๘)

เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า

ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่านี้ ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรเท่านั้นหรือที่ควรสมาทาน ประพฤติ หรือธรรมเหล่านี้แม้ภิกษุผู้อยู่ในอารามใกล้บ้านก็ควรสมาทานประพฤติด้วย

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านโมคคัลลานะ ธรรมเหล่านี้ ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรควรสมาทานประพฤติ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงภิกษุผู้อยู่ในอารามใกล้บ้านเลย ดังนี้


เรียบเรียงใหม่โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสูตร เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๒ ภิกขุวรรค เรื่องที่ ๙ โคลิสสานิสูตร

หมายเลขบันทึก: 678228เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2020 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2020 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท