พานิสิตโครงการ "ครูคืนถิ่น" เรียนรู้จากประสบการณ์ของ ดร.ธีรดา นามให


วันที่ ๒๘ มิ.ย. ๓๐ มิ.ย. และ ๑ ก.ค. ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพานิสิตในโครงการ "ครูคืนถิ่น" กว่า ๕๐ คน เรียนรู้เรื่อง "การศึกษาและพัฒนาชุมชนในบริบทของครูวิทยาศาสตร์" จากประสบการณ์ของ ดร.ธีรดา นามให นายกสมาคมไทบ้าน ผ่านความสำเร็จของงานพัฒนาชุมชน กรณีตัวอย่าง บ้านปลาบู่ อ.วาปี จ.มหาสารคาม (คลิกดูคลิปวีดีโอบางส่วนที่นี่

องค์ประกอบ ๔ สำหรับผู้ที่จะไปพัฒนาชุมชน

ผมจับประเด็นเป็นตัวอย่างแลกเปลี่ยนกับนิสิต ถอดบทเรียน สรุปเขียนเป็น กระบวนการ ๔ องค์ประกอบ เพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน ดังรูป 

๑) รู้จักตนเอง "เห็นคุณค่าในตนเอง" และ "มีจิตจำนงค์เพื่อท้องถิ่น

    ดร.ธีรดา ตั้งคำถาม ให้นิสิตทุกคนเขียนตอบว่า  "คุณค่าของฉันคืออะไร" .... ผมตีความว่า คำเฉลยที่ท่านต้องการให้นิสิต "ผุดบังเกิด" ในใจคือ "ฉันคือครู" "ฉันคือครูคืนถิ่น" "ฉันคือครูคืนถิ่นสาขาวิทยาศาสตร์" 

    • เพราะถ้าเห็นคุณค่าว่า "ฉันคือครู" นั่นหมายถึง นิสิตจะมีจิตจำนงค์เพื่อประโยชน์ของศิษย์ ประโยชน์ของนักเรียน  ... ผมเรียกตาม ศ.นพ.วิจารณ์ ว่า "ครูเพื่อศิษย์" 
    • เพราะถ้าเห็นคุณค่าว่า "ฉันเป็นครูคืนถิ่น" นั่นหมายถึง นิสิตจะมีจิตจำนงค์แน่วแน่ว่า ฉันจะกลับมาพัฒนาท้องถิ่น 
    • เพราะถ้าเห็นคุณค่าว่า "ฉันเป็นครูคืนถิ่นสาขาวิทยาศาสตร์" ย่อมมีจิตจำนงค์แน่วแน่ว่า ฉันจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น 

    ๒) มีแรงบันดาลใจ "มีฉันทะ-มีพลัง" มีความสุขในการทำงาน

    ดร.ธีรดา เล่าว่า กว่า ๑๐ ปีที่ทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตนนั้น ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหามากมาย ต้องรับกับพฤติกรรมแห่งความไม่เข้าใจของสังคมและคนรอบข้าง  หากไม่แน่วแน่ใน "จิตจำนงค์" ว่า ฉันเกิดมาทำไม ฉันจะมีชีวิตอยู่แบบไหน เพื่ออะไร จะต้องท้อถอยและพ่ายแพ้ เปลี่ยนเส้นทางไป  

    สิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการหล่อเลี้ยง "จิตจำนงค์" หรืออุดมการณ์ภายใน คือ ความฉลาดในการสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง และค้นหากัลยาณมิตรที่คิดอ่านคล้ายกัน เสริมพลังให้กันและกัน  

    ๓ รู้จักท้องถิ่น "เห็นคุณค่าในท้องถิ่น" มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่น

    การจะเห็นคุณค่าของท้องถิ่น การเปิดใจเรียนรู้และศึกษาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ความหวังดีที่เกิดจาก "จิตจำนงค์" ในข้อ ๑) จะทำให้เกิดจิตอาสาที่จะพัฒนาท้องถิ่น  และหากทำเหตุทั้ง ๓ ประการนี้ให้ถึงพร้อมแล้ว นิสิตจะทำงานอย่างมีความสุข มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย  

    ๔) มีความรู้ มีทักษะ มีความร่วมมือ 
    วิทยากรท่านใช้คำว่า "เซียน" สำหรับองค์ประกอบนี้ ผมตีความว่า เซียนคือผู้มีความรู้ มีทักษะ และมีความชำนาญ จากประสบการณ์ผ่านงานด้วยตนเอง ซึ่งท่านเน้นว่า สิ่งนี้ต้องฝึก ฝึกเป็นวงจร ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยต้องมีการสะท้อนการเรียนรู้ก่อนและหลังทำ

    หลังจากแลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์นี้ ได้มอบหมายให้นิสิตในโครงการ แยกกลุ่มรายจังหวัด ให้ทดลองสำรวจปัญหาของท้องถิ่นจังหวัดตนเอง แล้วทดลองเอาองค์ประกอบ ๔ ประการนี้ เป็นแนวทางในการคิดแนวทางการแก้ปัญหา  โดยกำหนดให้ใช้เครื่อง ๒ อย่างคือ "ต้นไม้แห่งปัญหา" และ "ต้นไม้แห่งชีวิต"  สามารถดูผลงานนิสิตได้ที่นี่

    จบฮ้วน ๆ แบบนี้นะครับ 

    หมายเลขบันทึก: 678201เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2020 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2020 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท