(182) KM : การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับ Notetaker และผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ในหน่วยงาน ปีงบประมาณ 2563 : ตอนที่ 2 ดำเนินการประชุม


คณะกรรมการ KM จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน หรือพาทำ ตามความต้องการของ Notetaker และผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ของหน่วยงาน

บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ต่อจาก ตอนที่ 1 ว่าด้วยเรื่องเตรียมความพร้อม นะคะ

การประชุมเชิงปฏิบัติการ : ดำเนินการใน 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 ชี้แจงเรื่องแผนปฏิบัติการ KM ปี 2563-2566 และเชิญชวนส่งผลงานในตลาดนัด KM’63

หลังพิธีเปิด นางชมพูนุช วีระวัธชัย ประธานคณะกรรมการ KM บรรยายเรื่องแผนปฏิบัติการคณะกรรมการบริหารองค์ความรู้ ปีงบฯ 2563 เริ่มจาก SWOT Analysis, แผนกลยุทธ์การดำเนินงาน KM 

SWOT Analysis ระบบการจัดการความรู้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

    •  S1 : บุคลากรมีองค์ความรู้ในตัวบุคคล มีความเชี่ยวชาญหลายสาขา จำนวนมาก มีทักษะการทำงานแบบสหวิชาชีพ (ทีมแนวราบ)
    • W1 : การดำเนินงานด้านการจัดการความรู้โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ไร้ทิศทาง / ไม่มีกลยุทธ์ (ไม่ต่อเนื่อง)
    • O1 : นโยบายทุกระดับให้การสนับสนุนการจัดการความรู้
    • T1 : ไม่มีเงินงบประมาณ

    โดยสรุป แผนกลยุทธ์การดำเนินงาน KM

    • (1) ระยะที่ 1 ปีงบฯ 63 เริ่มจากเล็ก / เริ่มด้วยใจ ไม่ใช้เงิน
    • (2) ระยะที่ 2 ปีงบฯ 64 ขยายวง KM
    • (3) ระยะที่ 3 ปีงบฯ 65-66 เป็นต้นไป ยกระดับเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

    SWOT Analysis และแผนการดำเนินกิจกรรมของคณะกรรมการ KM ได้นำเสนอและได้รับความเห็นขอบจากผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

    กิจกรรม ‘ตลาดนัด KM ปี 63’ ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 นี้จะจัดใน theme “คนมีดี เอาดีมาอวด” 

    ในทางปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่หน่วยงานต่างๆ จึงให้เริ่มจากจุดที่มีความพร้อมก่อน เป็นการต่อยอดจากทุนเดิมที่มี เช่น ‘อัญมณี’ (ผลสำเร็จของงานที่เป็นภาคภูมิใจของหน่วยงาน) ของแต่ละหน่วยงาน ที่หน่วยงานนำเสนอผู้อำนวยการเมื่อครั้งที่ไปตรวจเยี่ยมที่หน้างาน เป็นต้น

    ทุกหน่วยงานมีผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ของหน่วยงาน บางหน่วยงานมี Note Taker กำหนดให้ดึงทักษะศักยภาพของบุคลากรออกมาใช้ ดัดแปลงอัญมณีหรือ CQI นำมาเจียระไนด้วยกระบวนการ KM เพื่อสร้างคุณค่าจากงานประจำที่เราทำอยู่ทุกวัน โดยคณะกรรมการ KM จะจัดประชุมกลุ่มย่อย (workshop) เพื่อจัดเตรียมผลงานที่จะนำเสนอให้ จะเป็นพี่เลี้ยงหรือพาทำ (ถ้าจำเป็น) เพื่อให้ผลงานที่ได้มีความสง่างาม วัตถุประสงค์หลักของการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่า KM ไม่ยากอย่างที่คิด มีพี่เลี้ยงพาทำ และประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำผลงานของตนเองออกมาอวด


    ส่วนที่ 2 ทบทวนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบทบาท Notetaker และจัดประสบการณ์ฝึกทักษะร่วมกัน

    ส่วนนี้ดิฉันเป็นผู้ดำเนินการ โดย เริ่มจาก

    (1) ทบทวนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบทบาท Notetaker

    เนื่องจากคณะกรรมการ KM ได้แชร์เอกสารที่เกี่ยวข้องลงใน Line: KM Man Prasri ให้ศึกษามาล่วงหน้าหลายวันแล้ว จึงใช้เวลาทบทวนเพียง 5-6 นาที ในลักษณะเลื่อน slide ผ่านไป เน้นเฉพาะส่วนที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ในการประชุมครั้งนี้  

    (2) จัดประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกัน

    จัดประสบการณ็แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการวิเคราะห์ สังเคราะห์กรณีตัวอย่างที่เป็นบทความเผยแพร่ใน www.gotoknow  จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

    เรื่องแรกชื่อเรื่อง (174) 'เด็กขาดแคลนรุนแรง' กับ 'ความหวังและการมองโลกในแง่ดี https://www.gotoknow.org/posts/662197  

    วิธีการนำเสนอ : วิทยากรอ่านบทความ ให้ฟังพร้อมๆ กัน แล้วให้ผู้เข้าประชุมร่วมวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตามหัวข้อต่อไปนี้

    • ก. ส่วนเกริ่นนำ ประกอบด้วย (1) ชื่อเรื่อง (2) ผู้เล่าเรื่องหรือเจ้าของเรื่อง (3) ผู้บันทึกเรื่องเล่า
    • ข. ส่วนเนื้อหาเรื่องเล่า-ประสบการณ์ (กรณีศึกษา) ประกอบด้วย (4) เนื้อหา เรื่องเล่า ประสบการณ์ (กรณีศึกษา) (5) คำคม ประโยคเด็ด คำพูดสำคัญ
    • ค. ส่วนการตีความหรือสรุป (โดยเจ้าของเรื่องหรือบันทึก) (6) สรุปประเด็นสำคัญ (7) ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น (8) เทคนิค วิธีการ เคล็ดลับสำคัญ (9) ปัจจัยสำเร็จหรือแรงผลักดันต่อการทำเรื่องนั้น (10) ปัญหา อุปสรรค และวิธีการก้าวผ่าน (11) คุณค่าของเรื่อง (เป็นการสรุป ตีความความรู้ เพื่อยกระดับการเรียนรู้) (12) ข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ข้อพึงระวัง (เป็นการสรุปตีความเพื่อเป็นบทเรียน) (13) ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติได้จริง

    จากบทความ เริ่มต้นด้วยการเชื่อมโยงแนวคิด ที่ผู้เขียนอ่านบทความของนายแพทย์วิจารณ์  พานิช อีกทอดหนึ่ง เป็นตัวอย่างการดึง Tacit Knowledge (TK) มาเขียนเป็นบทความเผยแพร่เว็บไซต์   

    สำหรับการวิเคราะห์ในหัวข้อ (11) คุณค่าของเรื่อง (เป็นการสรุป ตีความความรู้ เพื่อยกระดับการเรียนรู้) (12) ข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ข้อพึงระวัง (เป็นการสรุปตีความเพื่อเป็นบทเรียน) (13) ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติได้จริง นั้น เป็นนามธรรม (abstract) และขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นๆ มีค่านิยม และให้คุณค่ากับสิ่งใด แต่ในภาพรวมแล้วในแต่ละสังคมมักให้คุณค่าไปในทิศทางเดียวกัน ตรงนี้วิทยากรได้เน้นว่า สำหรับเรื่องเล่าที่มีคุณค่านั้น ผู้เล่าเรื่องจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจในการเล่าเรื่อง ผู้ฟังก็รู้สึกชื่นชม จึงควรนำเรื่องความสำเร็จมาเล่าสู่กันฟัง เพราะ “ถ้าเราไม่เล่า ใครจะรู้”  คุณค่าของเรื่องนี้คือ การสร้างโอกาสให้กับคนอื่น 

    การแลกปลี่ยน ในบรรยากาศผ่อนคลาย

    บทความเรื่องแรกนี้ไม่ซับซ้อน และวิทยากรจัดทำคำตอบมาเฉลยให้ตอนท้ายเรื่อง เป็นการทบทวนความรู้ไปพร้อมกัน เจตนาเพื่อให้ผลการวิเคราะห์ออกมาในแนวทางเดียวกัน เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้เข้าประชุมว่าสามารถ ‘ทำได้’

    สำหรับการแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ยังสงวนท่าที ต้องใช้เทคนิคต่างๆ กระตุ้นพักหนึ่งจึงเริ่มแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มีผู้เข้าประชุมบางคนวิพากษ์ออกนอกประเด็นบ้าง เช่น (1) ชื่อเรื่อง ผู้เข้าประชุมตอบชื่อเรื่องได้ .. แต่แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า

              “ชื่อเรื่องยาวเกินไป จำยาก” (ฮา)

    แล้วผู้ประชุมคนอื่นๆ ก็เริ่มมีแสดงความคิดเห็นต่อยอด ต่อเนื่องออกไปเรื่อยๆ (เริ่มออกนอกเรื่องอย่างสนุกสนาน) ..  จำเป็นต้องสะท้อนกลับ (feedback) ว่าการแสดงความคิดเห็นหลากหลายนั้นเป็นเรื่องดี แต่มีเวลาจำกัด จำเป็นต้องยุติการวิพากษ์  

    โดยสรุป ตัวอย่างแรกมีผู้แสดงความคิดเห็น 7  คน จำนวน 8 ครั้ง

    เรื่องที่สองชื่อเรื่อง (12) อยากเรียน ป.เอก ให้ประสบความสำเร็จอย่างมีความสุขเชิญทางนี้ : ตอนที่ 1 มีความมุ่งมั่น https://www.gotoknow.org/posts/530719

    วิธีการเดิม คือ วิทยากรอ่านให้ฟังไปพร้อมกัน แล้วให้ผู้เข้าประชุมร่วมวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตามหัวข้อเดิม

    ผู้เข้าประชุมร่วมกันวิเคราะห์ได้มากขึ้น บรรยากาศผ่อนคลาย หยอกล้อกันเองมากขึ้น  โดยมีข้อเสนอแนะที่สะท้อนความเป็นตัวตนของผู้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น  ในช่วงท้ายๆ ของเรื่อง ผู้เข้าประชุมพูดแซงกันจนถึงกับต้องจัดลำดับคิวให้ (ฮา)   

    โดยสรุป เรื่องที่สองมีผู้แสดงความคิดเห็น 9  คน จำนวน 13 ครั้ง

    สรุปตอนท้าย ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงบทบาทคณะกรรมการ KM ปี 63 ที่มีต่อผู้เข้าประชุม ดังนี้

    ก. การเตรียมความพร้อมด้าน KM ของหน่วยงาน : การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อม Notetaker และ ผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ของหน่วยงาน  (สำหรับผู้สนใจเข้าประชุมด้วย ถือเป็นผลพลอยได้)  ให้เข้าใจแนวคิด/หลักการ KM

    ข. บทบาทเป็นพี่เลี้ยง : ปีงบประมาณ 2563 นี้ คณะกรรมการ KM จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน หรือพาทำ ตามความต้องการของ Notetaker และผู้รับผิดชอบการจัดการความรู้ของหน่วยงาน

    ค. การประสานงาน: หน่วยงานสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการ KM ผ่านมาทางคณะกรรมการคนใดก็ได้ กรณีที่ไม่ทราบความต้องการของตนเองอย่างแน่ชัด คณะกรรมการจะไปรับฟังข้อมูลและวิเคราะห์ร่วมกันที่หน้างาน

    ดิฉันขอตัดส่วนที่เหลือไปเสนอใน ตอนที่ 3 AAR การประชุม ค่ะ

    หมายเลขบันทึก: 678187เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2020 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (1)

    ทำให้มองเห็นภาพมากขึ้นคะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท