ที่มาของคำว่า อารยะ และ อารยธรรม


อารยธรรม ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงวิถีแห่งความดีงาม ความเจริญ ในหมู่ชาวอารยันและทั่วดินแดนชมพูทวีปในเวลาต่อมา ดังที่เราเห็นปรากฏอยู่ในคำสอนของศาสนาต่างๆ ที่เกิดในอินเดีย อย่างเช่น อริยสัจ (อารยสัจ = Aryan Truth) หรือ อริยมรรค (อารยมรรค = Aryan Way)
หากจะประมวลความหมายของคำว่า “อารยะ” หรือ “อารยธรรม” ก็น่าจะหมายถึง ความเจริญของสังคมมนุษย์ อันเกิดจากความรู้ ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนหรือสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น มีความเป็นอยู่ที่สุขสงบ ในสังคมที่มีระเบียบแบบแผน มีการแบ่งปันความรู้ความคิดให้แก่กัน เพื่อการดำรงชีพและการพัฒนาจิตใจ

เมื่อเราเอ่ยถึงผู้มีอารยะ จึงมักหมายถึงกลุ่มคนที่มีความเจริญตามความหมายข้างต้น

รากของคำ อารยะ มาจาก อารยัน และ อารยธรรม มาจาก อารยะ + ธรรม จึงหมายถึง ธรรมะของชาวอารยัน

ชาวอารยัน ที่เป็นต้นรากคำ “อารยะ” เป็นใครมาจากไหน?

พวกอารยัน เดิมหลายพันปีก่อน เป็นกลุ่มคนที่มีภูมิลำเนาอยู่เหนือทะเลสาบแคสเปียน ต่อมาได้อพยพขยายถิ่นฐานแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งอพยพไปทางตะวันตกได้แปรไปเป็นฝรั่งชาติยุโรป อีกพวกหนึ่งอพยพไปทางแถบที่เรียกว่าบากเตรีย (Bactria เป็นอาณาจักรโบราณ ครอบคลุมดินแดนอัฟกานิสถานตอนบน และเอเชียกลางตอนล่าง) และต่อมาราว ๒,๐๐๐-๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล พวกที่สองนี้ก็ได้อพยพอีกระลอกหนึ่งลงมาทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปอยู่ในประเทศอิหร่านปัจจุบันส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเข้าไปทางภูเขาฮินดูกูษ และที่ราบลุ่มตอนบนของแม่น้ำสินธู กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวอารยันในอินเดีย

ด้วยเหตุนี้ ชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย และชาวยุโรป จึงมีโครงสร้างร่างกายสูงใหญ่ จมูกโด่ง ตาคมโต คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะชาวอินเดียทางตอนเหนือและแถบปากีสถาน อัฟกานิสถาน ยิ่งมีหน้าตาคล้ายอิหร่าน และ ยุโรปมากขึ้น

แล้วอินเดียทำไมตัวดำ … พวกอารยันอพยพเข้ามา ก็ต้องมาเจอชนพื้นถิ่นซึ่งมีผิวเข้ม ชนพื้นถิ่นเดิมที่จริงก็มีความเจริญ มีการทำเกษตรเป็นหลักแหล่ง อยู่กันเป็นชุมชนหมู่บ้าน ชาวอารยันซะอีกเป็นพวกชอบเร่ร่อน รบพุ่ง เมื่ออารยันเข้ามาในชมพูทวีป ชาวพื้นถิ่นที่เคยอยู่สงบไม่ใช่นักรบจึงสู้ไม่ได้ แม้จะมีการขัดแย้งแย่งชิงดินแดนกัน แต่ก็มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กันด้วยเป็นเรื่องธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนผสมผสานทางวัฒนธรรมก็ย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น คนอินเดียในปัจจุบัน จึงมีทั้งพวกขาวคล้ายยุโรป และพวกผิวเข้ม พวกหลังนี้มีสัดส่วนที่มากกว่า

เมื่อชาวอารยัน คุมอำนาจในชมพูทวีปได้มากขึ้น ก็แผ่อิทธิพลทางความคิดความเชื่อ (ที่มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่นด้วย) วางกฎเกณฑ์ให้กับสังคม เกิดเป็นวิถีแบบอารยันขึ้น

คำและความหมายของ “อารยธรรม” จึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงวิถีแห่งความดีงาม ความเจริญ ในหมู่ชาวอารยันและทั่วดินแดนชมพูทวีปในเวลาต่อมา ดังที่เราได้เห็นคำคล้ายๆ กันนี้ปรากฏอยู่ในคำสอนของศาสดาต่างๆ ที่เกิดในอินเดีย อย่างเช่น อริยสัจ (อารยสัจ = Aryan Truth) หรือ อริยมรรค (อารยมรรค = Aryan Way)

ต่อเมื่อศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียแผ่มาถึงอุษาคเนย์ ชนแถบนี้ ซึ่งรวมถึงคนไทยด้วย ก็รับเอาวิถีประเพณีจากอินเดียมาผสมผสานกับของถิ่นเดิม และนำเอาคำว่า อารยะ และ อารยธรรม มาใช้จนกลายเป็นคำของเราเอง และลืมไปว่า ทีแท้เป็นคำเรียกวิถีของชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้มีความอารยะมาก่อนใครหลายพันปีแล้ว

หมายเลขบันทึก: 677977เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2020 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2020 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท