ชีวิตที่พอเพียง 3707. ศาตร์แห่งการหลับและการฝัน



หนังสือ Why We Sleep : The New Science of Sleep and Dreams(2017) เขียนโดยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา Matthew Walker  แห่ง UC Berkeley บอกว่าการนอนหลับและฝันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต    การหลับดีช่วยให้สุขภาพดี และสมองดี    และคนเราฝึกให้เป็นคนหลับลึกหรือหลับอย่างมีคุณภาพได้  

คนเราทุกคนมีกลไกกำกับเวลาอยู่ภายในร่างกาย  กำกับให้ง่วง  หิว  หลับ  ตื่น ตามเวลา    โดยแต่ละคนมีรูปแบบของตนเอง    เช่นบางคนมีนิสัยคล้ายนกฮูก คือนอนดึก ตื่นสาย    บางคนคล้ายไก่ คือนอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า    มนุษย์นกฮูกสมองตื่นตัวดีตอนกลางคืน    ในขณะที่มนุษย์ไก่สมองปลอดโปร่งตอนเช้า    คนเราไม่เหมือนกันในเรื่องนาฬิกาภายในร่างกาย  

คนที่ต้องดำรงชีวิตฝืนธรรมชาติของตนเองในเรื่องเวลาภายในร่างกาย  อาจเกิดความเครียด  ซึมเศร้า  และนำไปสู่โรคเรื้อรังได้    คนที่นอนไม่พอเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

สัตว์ต่างๆ ต้องนอนหลับทั้งสิ้น   แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งนอนแต่ไม่หลับ (ตา) คือปลาฉลาม    เพราะปลาฉลามไม่มีหนังตา    ช้างเป็นสัตว์นอนน้อย ราวๆ วันละ ๔ ชั่วโมง    ฝั่งตรงข้าม สัตว์ที่นอนมากชั่วโมงคือเสือและสิงโต ราวๆ ๑๕ ชั่วโมง    กระรอกก็นอนราวๆ วันละ ๑๕ ชั่วโมง     คนเรานอนโดยเฉลี่ยวันละ ๘ ชั่วโมง    แต่มีความแตกต่างกันมากระหว่างคน   

การหลับมีหลายแบบ   สัตว์ต่างชนิดมีรูปแบบการนอนหลับแตกต่างกัน    ที่นอนหลับแล้วมี REM (rapid eye movement) มี ๒ กลุ่มคือ นกกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม    นั่นคือเวลาที่ฝัน    ผมเพิ่งรู้ว่านกก็ฝันเหมือนกัน   แต่มีข้อยกเว้นที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในน้ำจะไม่มี REM    เพราะช่วง REM กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายจะเปลี้ยไม่ทำงาน    หากสัตว์พวกนี้มี REM ก็จะจมน้ำตาย  

ระหว่างนอนหลับคนบางคนละเมอเดิน (sleepwalk) ได้    มีเรื่องจริงในสหรัฐอเมริกา ชายคนหนึ่งมีประวัติละเมอเดิน    คืนหนึ่งเขาละเมอเดิน ลุกจากเตียงไปหยิบมีด ขับรถออกจากบ้าน ไปบ้านแม่ยายที่อยู่ห่างออกไป ๑๔ ไมล์    เข้าไปในบ้านแล้วใช้มีดแทงแม่ยายตาย   แล้วขับรถกลับบ้าน   ระหว่างทางเขา “ตื่น”    และตกใจที่มือเปื้อนเลือด    จึงไปรายงานตำรวจที่สถานีว่าสงสัยเขาจะได้ฆ่าคน    แต่จำไม่ได้เลยว่าที่ไหนหรือใคร    เขาถูกจับฟ้องศาลฐานฆ่าคนตาย    แต่เมื่อศาลทราบประวัติละเมอเดิน ก็ตัดสินให้เขาพ้นผิด   

ละเมอเดินไม่ได้เกิดในช่วง REM    เด็กตอนนอนหลับมีช่วง REM สั้น    จึงมีช่วงหลับให้เกิดละเมอเดินได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่    ลูกสาวคนหนึ่งของผม ตอนอายุราวๆ ๕ - ๖ ขวบ  ละเมอลุกขึ้น เปิดประตูออกจากห้องนอน มาที่ห้องรับแขกที่ผมนั่งทำงานอยู่ โดยฉวยเอาหมอนข้างมาโยนไว้ที่เตียงนอนเล่นในห้องรับแขก    แล้วกลับไปนอนต่อ   ตื่นเช้าลุกขึ้นมาบ่นว่าหมอนข้างหาย 

เขาแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อให้นอนหลับได้ดีและยาว (๘ ชั่วโมง)    ว่าตอนกลางวันให้โดนแดดมากๆ    จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้มีระบบควบคุมการนอนหลับได้ดี    และหลีกเลี่ยงสุราและบุหรี่ในตอนค่ำ     แต่ผมมีวิธีที่ดีกว่านั้น    ผมมีประสบการณ์ตรงว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเวลาไหนก็ได้ของวัน (ผมออกตอนเช้ามืด) ช่วยการนอนหลับได้ดีที่สุด      

วิจารณ์ พานิช

๖ พ.ค. ๖๓                                                                                                                                                                                          


หมายเลขบันทึก: 677740เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2020 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2020 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท