ชีวิตที่พอเพียง 3678. ชีวิตช่วงชุลมุนโควิด ๑๙



ผมออกจากบ้านไปประชุมข้างนอกสองครั้งสุดท้าย วันเสาร์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่ สกอ.   เป็นการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    กับช่วงบ่ายวันที่ ๒๔ มีนาคม ที่ สคส. เพื่อหารือการทำงานของ สคส. ในอนาคต รวมทั้งในสภาพวิกฤติยาวจากโควิด ๑๙    แล้วหลังจากนั้นสมัครใจกักตัวอยู่กับบ้าน    แต่ทำงานผ่านการประชุมออนไลน์ทุกวัน จนชักติดใจ    เพราะสะดวกดี    ได้ผลแทบไม่ต่างจากการประชุมตามปกติ  

ในฐานะคนแก่ ในสถานการณ์วิกฤติโควิด ๑๙ ผมพยายามทำตัวให้เป็น part of the solution    หลีกเลี่ยงการเป็น part of the problems    โดยสื่อสารสาระที่น่าจะช่วยให้คนในสังคมมีสติ มองเห็นภาพความเป็นจริง    เป็นพื้นฐานความรู้ต่อการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม    และไม่แตกตื่น    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่นขงสาธารณชนต่อทีมสาธารณสุข     ผ่านช่องทาง Gotoknow นี่แหละ    บันทึกที่ไวรัลแพร่หลายคือ ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโควิด ๑๙ ได้ดี     ในภาวะวิกฤติ ไม่ว่าในเรื่องใด   trust เป็นยาสมานใจที่สรรพคุณสูงยิ่ง    

ในฐานะผู้ไม่เสพสื่อเพื่อความตื่นเต้น    ผมเสพสื่อเพียงพอประมาณ    เพียงให้ได้รับรู้สถานการณ์    พยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง    โดยบอกตัวเองว่า ไม่มีใครรู้ว่า “ความจริงแท้” เกี่ยวกับโควิด ๑๙ คืออะไร     ข้อมูลและข่าวทั้งหลายนั้น เป็น “ความจริง” ที่สื่อผ่านการตีความของมนุษย์    เป็น “ความจริงทุติยภูมิ”  ผ่านการปรุงแต่งของหลายฝ่าย    โดยไม่มีใครรู้ว่า “ความจริงปฐมภูมิ” ที่ไม่มีการปรุงแต่ง คืออะไร

องค์การอนามัยโลก น่าจะทำหน้าที่หลักในการ “ปรุงแต่ง” ความจริงเกี่ยวกับ เชื้อไวรัส และโรคโควิด ๑๙    ออกสู่มาตรการรับมือระดับโลก    เป็น “ปรุงแต่ง” ด้วยข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ (evidence-based)    ร่วมมือกับเครือข่ายทั่วโลก รวมทั้งวงการวิชาการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงการระบาดวิทยา   

จากสถานการณ์ในภาพรวม เราจะเห็นว่า มาตรการทางระบาดวิทยา และการป้องกันรับมือโควิด ๑๙ ของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก (รวมทั้งไทย)    แข็งแรงกว่าของยุโรปและอเมริกา     ทั้งๆ ที่ความรู้เชิงทฤษฎีมาจากยุโรปและอเมริกา     แต่เอเซียเอามาใช้งานในสถานการณ์จริงเก่งกว่า     ข้อเรียนรู้นี้จะเป็นโจทย์ให้ผมตีความต่อเนื่องได้อีกมาก  

แต่มาตรการรับมือระดับโลก ที่นำโดยองค์การอนามัยโลกก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส  ด้านโรคติดเชื้อ  และด้านระบาดวิทยา ๑๒ คน ออกมาคัดค้าน ตามข่าว 12 Experts Questioning Coronavirus Panic    ซึ่งผมตีความว่าเราต้องตระหนักว่าสถานการณ์โควิด ๑๙ เป็นเสมือนภูเขาน้ำแข็ง    เราเห็นหรือสัมผัสได้เฉพาะส่วน “เหนือน้ำ”    ซึ่งเป็นเพียงร้อยละ ๑๕ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด    ทำให้ข้อมูลที่ได้และเผยแพร่รุนแรงเกินจริง    และมาตรการที่ใช้รุนแรงเกินความจำเป็น

หากข้อมูลว่าคนคิดเชื้อ โควิด ๑๙ เพียงร้อยละ ๑๕ แสดงอาการ    ตัวเลขคนติดเชื้อที่ประกาศก็ต้องเอา ๗ คูณ จึงจะเป็นตัวเลขจริง     อัตราตายก็จะต่ำลงมากมายทันที   

แม้ผมจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ต่อวิธีคิดของทางการ ทั้งระดับโลกและระดับประเทศ    ผมก็ทำตัวเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำแนะนำทุกอย่าง    ซึ่งก็ทำได้ง่าย    เพราะบ้านผมอยู่ในหมู่บ้านชานเมือง     ที่ในหมู่บ้านมีคนไม่มาก    และคนภายนอกเข้ามาไม่ได้    เวลาออกไปซื้อของเล็กๆ น้อยๆ นอกหมู่บ้านก็สวมหน้ากากอนามัย    อยู่ในบ้านและออกไปเดินในหมู่บ้านไม่จำเป็น    เพราะไม่ต้องรักษาระยะห่าง ๒ เมตร ก็ห่างเกินอยู่แล้ว   

แค่สดับตรับฟังข่าวอยู่ห่างๆ     ผมก็ตีความว่า  ความยุ่งยากจากโควิด ๑๙ โดยตรง   อาจน้อยกว่าความยุ่งยากที่มนุษย์สร้างกันเอง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างผ่านสื่อ    ในหลายกรณีเพื่อเอาเรื่องโควิด ๑๙ มาเสริมบารมีของตน    หรือเอามาทำมาหากิน    รวมทั้งใช้เล่นการเมืองระหว่างประเทศ              

ความรู้อย่างหนึ่งที่ไม่มีการเผยแพร่คือ เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มันกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของมัน    ตามบทความ How coronavirus mutations can track its spread – and disprove conspiracies    ที่บอกว่าการศึกษา ลำดับเบสของเชื้อไวรัส ช่วยบอกขั้นตอนการระบาด    เช่นบอกได้ว่าการระบาดในยุโรปเริ่มจากเยอรมนี    ที่คนเยอรมันไปรับเชื้อมาจากเมืองอู่ฮั่น    และบอกว่าการระบาดเริ่มเดือนพฤศจิกายน ที่เชื้อไวรัสระบาดจากสัตว์สู่คน    Larry Brilliant ที่ผมเคยอ้างใน (๑)คงจะเข้าใจเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โคโรนา ดี    จึงทำนาย best case scenario ว่าเชื้ออาจกลายพันธุ์จนค่อยๆ ลดความรุนแรงในการแพร่ไปเอง     

วิจารณ์ พานิช  

๒๐ มี.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677095เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2020 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2020 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท