ชีวิตที่พอเพียง 3655a. รวมพลังสู้สถานการณ์ โควิด ๑๙ อย่างรู้เท่าทัน


โควิด ๑๙ ช่วยเตือนสติว่า เราเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมชตากรรมเดียวกัน ตระหนักในสภาพชตากรรมที่ซับซ้อนหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านการระบาดของ โควิด ๑๙ เท่านั้น

ชีวิตที่พอเพียง 3655a. รวมพลังสู้สถานการณ์ โควิด ๑๙ อย่างรู้เท่าทัน

๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ทำไมประเทศไทยจึงชะลอการระบาดของโควิด๑๙ ได้ดี

๑๙ มีนาคม ๒๕๖๓ รวมพลังสู้โควิด ๑๙ ระบาดขยายใกล้ระดับ ๓  

บันทึกชุด โควิด ๑๙ของผม มีเป้าหมายให้ข้อมูลแก่สังคม เพื่อให้เห็นสภาพในปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคตของการระบาดใหญ่นี้ในสังคมไทย   เพื่อรวมพลังกันรับมือ  ในลักษณะที่อดทนร่วมกันได้ในระยะยาว   เพราะข้อมูลจากทุกแหล่งบอกตรงกันว่ามาตรการที่เราใช้อยู่นี้เป็นการชะลอการระบาด    ลดการตาย   แต่จะมีผลให้การระบาดอยู่ยาว   รอจนมีวัคซีนและยาการระบาดก็จะสงบลงได้  

สิ่งที่ผมต้องการบอกสังคมคือคนที่ทำงานรับมือการระบาดของโควิด ๑๙ ทำงานหนักมาก เหนื่อยมาก และเครียดเพราะเสี่ยงภัย    พวกเราควรให้กำลังใจและขอบคุณท่านเหล่านั้น  

เย็นวันที่ ๑๙หลังลงบันทึก รวมพลังสู้โควิด๑๙ ระบาด ขยายใกล้ระดับ ๓    ได้ราวๆ๑ ชั่วโมง ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ผมและผู้คนเคารพนับถือสูงสุดท่านหนึ่งก็ส่งเอกสาร  คาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 

 ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข  มาให้    ผมลองค้นในอินเทอร์เน็ตพบว่ามีการอ้างถึงเอกสารนี้ แต่ค้นเอกสารทั้งฉบับไม่ได้    จึงขอนำมาแนบไว้ ที่  20200322123955.pdf เผื่อมีคนต้องการอ่าน

จะเห็นว่า    วงการสุขภาพเขาเตรียมทำการบ้านคาดการณ์สถานการในอนาคตไว้ตั้งแต่ต้น   สำหรับนำมาเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการตัดสินใจดำเนินมาตรการอย่างพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป    การเลือกมาตรการที่พอดีนี่แหละครับ ที่ “ผู้เชี่ยวชาญ”มองต่างกันได้เสมอ

ผมค้นพบเอกสารของ นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก ในเว็บไซต์ The Momentum ที่อธิบายภาพใหญ่ของการระบาดของโควิด๑๙ ได้ดี จึงขอแนะนำไว้ ที่ (๑)   

บ่ายวันที่ ๒๐ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ก็ส่งเอกสาร TheDoctor Who Helped Defeat Smallpox Explains What's Coming  มาให้   อ่านแล้วประเทืองปัญญาสุดๆ    เป็นรายการสัมภาษณ์นายแพทย์ LarryBrilliant ที่ผมรู้จักดี   สรุปได้ว่ามีการคาดเดาไว้นานแล้วว่าการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มาแน่   แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร    เขาทำนายว่าจะมีคนตายถึง๑๖๐ ล้านคน   และเกิดความยากลำบากในชีวิตและเสียหายทางเศรษฐกิจ ๑ - ๓ ล้านล้านดอลล่าร์    ผมได้แต่หวังว่า ในเวลา ๑๔ ปีความก้าวหน้าทางระบาดวิทยาและการเตรียมความพร้อมในการเผชิญการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของโลกก้าวหน้าขึ้นมาก   และเราได้ฝึกซ้อมมาแล้วหลายครั้ง ทั้งจาก SARS (พ.ศ. ๒๕๔๕), MERS (พ.ศ. ๒๕๕๕), และ H1N1 (พ.ศ. ๒๕๕๒)

บทความนี้นำผมไปสู่ Ted Talk เรื่อง My wish : Help me stop pandemics  เมื่อ ๑๔ ปีมาแล้ว (๒) ที่น่าชมมาก    โดยคาถาสำคัญคือEarly detection, Early response    รวมทั้งภาพยนตร์ Contagion ที่เสียดาย ผมหาชมไม่ได้    แต่เมื่อค้นใน Netflix ก็พบPandemic series ซึ่งมี ๖ ตอน   เรื่องราวอาการป่วยคล้ายโควิด ๑๙ มาก 

มี “ผู้เชี่ยวชาญ” หลายท่านออกมาเรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อคิดเห็นของตนเองผ่านสื่อ    ผมมีความเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้    สิ่งหนึ่งที่ต้องช่วยกันป้องกันคือความสับสนแตกตื่นของผู้คนในสังคม   คนที่เป็นผู้ใหญ่หากมีความเห็นต่างควรหาทางคุยกับทีมงานที่รับผิดชอบ    ผมสงสัยว่าอาจมีกรณีรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เข้าร่วมวง  จึงต้องอาศัยสื่อ    โควิด ๑๙จะช่วยให้เราได้เรียนรู้หลากหลายด้านนะครับ

เช้าวันที่ ๒๑ ผมได้รับข่าว Yuval NoahHarari : the world after coronavirus ลงในนิตยสาร FinanancialTimes    บอกว่าเรากำลังเผชิญวิกฤติใหญ่ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน    หลังวิกฤตินี้สงบ โลกจะไม่เหมือนเดิมในทุกระบบ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเฉพาะระบบสุขภาพ  

ที่จริงการเปลี่ยนแปลงแบบ “เปลี่ยนขาด”(transform) ที่เราเผชิญในช่วง ๒๐ ปีหลังมีมากมาย    ทั้งเรื่องการใช้ไอทีในชีวิตประจำวัน    และเรื่องการป้องกันวินาศภัยทั้งตอนจะขึ้นเครื่องบิน    และการมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามสถานที่ต่างๆ    หลังโควิด ๑๙  การใช้ sensors เพื่อตรวจคัดกรองอันตรายจากเชื้อโรคอุบัติใหม่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งหมายความว่าความเป็นส่วนตัวของพลเมืองจะลดลงไป

Yuval Harari บอกว่าเทคโนโลยีไม่พอ    มนุษย์ต้องสร้างระบบ “ความเชื่อใจ”(trust) ซึ่งกันและกัน    และวิญญาณของความเป็น “พลเมือง” (citizenship)    เพื่อความอยู่รอดร่วมกัน

ประเด็นที่ ๒โลกต้องร่วมมือกัน   ต้องมีแผนรับมือวิกฤติระดับโลก    ซึ่งผมมีความเห็นว่าเวลานี้เราก็มีอยู่แล้ว    และ WHO ได้ทำหน้าที่ดีอย่างน่าชื่นชมในการรับมือ โควิด ๑๙ อย่างเป็นระบบ    แต่ก็มีประเด็นที่ต้องปรับปรุงอีกมากได้แก่  (๑) การแชร์ข้อมูล (สารสนเทศ)  และเทคนิคในทางปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆที่ช่วยลดอัตราตาย ที่ค้นพบในช่วงวิกฤติ (๒) ร่วมมือกันพัฒนาและผลิตของใช้ทางการแพทย์ที่จำเป็น  และการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ   (๓) ความร่วมมือกันรับมือวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดตามมา  

เขาบอกว่า ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008   วิกฤติ อีโบลา ระบาดปี 2014สหรัฐอเมริกาแสดงบทผู้นำโลก   แต่ผู้นำสหรัฐท่านปัจจุบันได้ทำลายสภาพนั้นไปแล้ว   และจะเกิดผลถาวรในด้านการหมดสภาพการเป็นผู้นำโลกด้วยหรือไม่    ผมขอเพิ่มเติมว่าเมื่อทราบข่าวจีนส่งทีมไปช่วยประเทศอื่นๆ ผจญโควิด ๑๙ แล้ว    ผมบอกตัวเองว่า จีนจะได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมาก    ในขณะที่สหรัฐเสียเพื่อนไปเรื่อยๆจากพฤติกรรมของผู้นำประเทศแบบนี้   ไม่ทราบว่าการระบาดของโควิด ๑๙ จะมีผลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐหรือไม่        

บ่ายวันเสาร์ที่ ๒๑กรมควบคุมโรคบอกว่า ถึง ๑๒ น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๘๙ คน    และเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒  เพิ่มเป็น ๑๘๘ คน    เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหนึ่งวัน ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ    บอกเราว่าแม้จะทำงานหาทางยุติการแพร่เชื้ออย่างจริงจังแล้ว    การแพร่เชื้อก็ยังขยายออกไป    แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในยุโรป ประเทศไทยเราทำงานยับยั้งการแพร่เชื้อได้ผลกว่ามาก   เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนของเราร่วมมือกันกับทางการดีกว่า    แต่เราก็ได้รับรู้ว่ามีกลุ่มคนเลวที่แสวงหาวิธีการก่อกวนกลไกช่วยเหลือประชาชน    และกลไกแสวงประโยชน์ส่วนตนในทางมิชอบ   

นอกจากสู้กับเชื้อโรคแล้ว  คนที่ทำหน้าที่ปกป้องชีวิตผู้คนยังต้องต่อสู้กับคนเลวด้วย  

ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ออกมาให้ความเห็นด้วยมุมมองของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ (๓)

เว็บไซต์ของ นสพ. The New YorkTimes ลงบทความ The Best-CaseOutcome for Coronavirus, and the Worst  น่าอ่านมาก   ผู้เขียนคือคอลัมนิสต์ NicholasKristof  บอกว่า ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร   เขาไปถามความเห็นจากนักระบาดวิทยา    ซึ่งก็ไม่กล้าฟันธง    จึงให้ภาพสถานการณ์หรือฉากทัศน์ (scenario) สองขั้ว    คือขั้วดีสุดๆ (bestcase scenario)  กับขั้วแย่สุดๆ (worst case scenario)    สำหรับสหรัฐอเมริกา    

ฉากทัศน์คือเครื่องมือสำหรับจัดการอนาคตให้ไปในทางที่เราต้องการ   ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับรู้อนาคตในแบบที่อนาคตมันเกิดเอง    แต่เป็นเครื่องมือหันเหอนาคตให้ไปในทางที่เราต้องการ    ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวฉากทัศน์แต่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่ฉากทัศน์นั้น

ฉากทัศน์สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาขั้วแย่สุดๆที่ Nicholas Kristofสร้างขึ้นหลังไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก   คือคนกว่า ๒ ล้านคนตายจากโควิด๑๙   และโรงพยาบาลทำงานหนักในการรับมือโควิด ๑๙ จนผู้ป่วยอื่นๆไม่ได้รับการดูแลดีเท่าที่ควร และตายโดยไม่สมควรตายอีกจำนวนมาก   เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะคนไม่กล้าออกนอกบ้าน    ร้านรวงต้องปิด   คนตกงานจำนวน ๑๐ ล้านคน    วัคซีนก็ยังพัฒนาไม่ได้    คนที่เป็นโควิด ๑๙ มีภูมิคุ้นกันไม่นาน   คนที่เป็นและหายแล้วจึงติดโรคใหม่และแพร่เชื้อได้อีก    ในที่สุดไวรัส SARS CoV-2(ชื่อของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙) ก็กลายเป็นเชื้อโรคตามฤดูกาลเหมือนไวรัสไข้หวัด  

ฉากทัศน์ด้านดีสุดๆ    สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติราวๆ เดือนกันยายน๒๕๖๓    เป็นผลจากการที่รัฐบาลดำเนินมาตรการขจัดการแพร่เชื้อ    และจากอากาศร้อนทำให้เชื้อไวรัสตายเร็ว    เมื่อการระบาดคลื่นใหม่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ  ไวรัสได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทำให้ลดความรุนแรงลง    คนที่ติดเชื้อแล้วมีภูมิคุ้มกันและไม่ติดเชื้ออีก     และยาที่ผลิตได้ใช้ได้ผลดี    คนอเมริกันตายเป็นจำนวนพันส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ  กับคนที่ปอดไม่ดีอยู่แล้ว    เมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔วัคซีนป้องกันโควิด ๑๙ ก็ออกสู่ตลาดทั่วโลก  ยุติการระบาดของโควิด ๑๙   

โปรดสังเกตนะครับ  ว่าในฉากทัศน์ด้านดีสุดๆ เราต้องร่วมกันสู้๑ ปีนะครับ    และอาวุธหลักมี ๔ อย่าง คือ(๑) วงการสุขภาพหาผู้ติดเชื้อให้พบ และป้องกันไม่ให้เขาแพร่เชื้อ   (๒)คนทั่วไปรักษาระยะห่างทางสังคม – social distancingโดยรัฐบังคับมาตรการ และโดยผู้คนทำโดยสมัครใจ  (๓)ยา  (๔) วัคซีน    

มาตรการที่ทางการไทยใช้อย่างเอาจริงเอาจังในขณะนี้คือข้อ๑ และ ๒    ส่วนเรื่องยาก็มีข่าวเรื่องยา Avigan ของญี่ปุ่น ที่ทางการจีนว่าใช้ได้ดี   และคงจะผลิตออกสู่ตลาดอย่างแพร่หลายในไม่ช้า    และได้ข่าวว่าทางการจีนส่งมาช่วยไทย ๑๐๐,๐๐๐เม็ด     ซึ่งจะใช้ได้ในผู้ป่วย ๒,๕๐๐ คน                         

บทความในเว็บไซต์ของ บีบีซี เรื่อง Coronavirus: What could the West learn from Asia? น่าอ่านมาก    บอก ๖มาตรการรับมือโควิด ๑๙ ด้านควบคุมการระบาดของโรค ได้แก่  (๑) เอาจริงจัง  และดำเนินมาตรการเร็ว  (๒) มีการทดสอบเพียงพอ และไม่แพง  (๓) ค้นหาผู้ติดเชื้อ และแยกตัว  (๔)ใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมตั้งแต่ต้น (๕) สื่อสารต่อสาธารณชน  (๖) เจตคติที่ดีของพลเมือง

ผมขอเพิ่มเติมว่า ต้องดำเนินมาตรการอย่างเป็นระบบ    มองการณ์ไกล    ร่วมมือและเห็นอกเห็นใจกัน   รับผิดชอบต่อสังคม   ไม่ตื่นตระหนก    และขอยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยถูกทางแล้ว 

และต้องไม่ลืมว่า ต้องยึดกุมสถานการณ์นอกภาคสาธารณสุขด้วย     ได้แก่ มาตรการ ๖ ด้านของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่เล่ามาแล้วทั้งหมด   

โควิด ๑๙ ช่วยเตือนสติว่า เราเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมชตากรรมเดียวกัน    ตระหนักในสภาพชตากรรมที่ซับซ้อนหลายด้าน  ไม่ใช่เฉพาะด้านการระบาดของ โควิด ๑๙ เท่านั้น

วิจารณ์ พานิช  

๒๒ มี.ค. ๖๓

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 676237เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2020 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2020 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท