๑,๑๒๙ โควิด๑๙..กับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก..


" ปีการศึกษา ๒๕๖๓ แผนการจัดการศึกษาจึงต้องเปลี่ยนไปในทุกรูปแบบ จะมุ่งเน้นนักเรียนเพียงเพื่อให้..เก่ง..ดีและ..มีความสุขอย่างเดียว..คงไม่ได้เสียแล้ว"

        ผมมีความเชื่อว่า..โอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษา มิอาจจะเกิดขึ้นได้ในระบบการศึกษาไทย ปัจจุบันจึงพบความเหลื่อมล้ำอย่างมากมาย...

    ผมไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง..เพราะสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่  ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์พื้นฐานและบริบทที่แตกต่าง ซึ่งผมยอมรับได้และไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด..

        คือปัจจัยภายนอก..ที่เราควบคุมไม่ได้ เมื่ออยู่กับความจริงและความ “พอเพียง” การทำงานในโรงเรียนขนาดเล็ก ปัญหาและอุปสรรคจึงค่อยๆลดลงเป็นลำดับ..

        แต่ปัญหาใหม่เริ่มก่อตัว และจะคลุมเครือไปตลอดปีการศึกษา ๒๕๖๓

        ปัญหาการแพร่ระบาดของ “โควิด๑๙” เป็นเชื้อไวรัสที่ให้โอกาสและความเท่าเทียมแก่วงการศึกษาทุกระดับ ในระดับขั้นพื้นฐานไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียนด้วยซ้ำ

        ตลอดการปิดภาคเรียน..ผมได้วางแผนรับมือก่อนเรียบเรียงและสรุป เพื่อนำเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาฯ จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมครูและบุคลากรทางการศึกษา

        ผมถือเป็น “นวัตกรรม” ด้านวิธีการที่จะบริหารจัดการโรงเรียน..ที่จะเป็นกรณีศึกษาของโรงเรียนเล็กๆ เพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤติไวรัสโคโรน่าไปให้ได้..

        ด้วยเวลาที่มากพอ จึงเริ่มต้นด้วยการเตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้ ให้มั่นคงและมากพอ เพราะกิจกรรมการเรียนการสอน..จะไม่เหมือนเดิม

        ที่สำคัญที่สุด..เงื่อนไขของ “เวลา” และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน หรือการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม..มีเส้นแบ่งกั้นกลาง มีระยะห่างที่ต้องคำนึงถึงด้วยเสมอ

        ผมส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียน(มือสอง)ชั้น ป.๑ – ป.๖ ให้ผู้ปกครอง นำไปใช้เป็นอุปกรณ์ทางการเรียนของลูกหลาน ก่อนที่จะมีการเยี่ยมบ้านเพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจโดยเร็วที่สุด

        เป็นการเยี่ยมบ้านก่อนเวลา และต้องทำให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน พร้อมประชาสัมพันธ์ตารางการออกอากาศการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV

        ในความแตกต่างของครอบครัว..ซึ่งอาจพบศักยภาพที่ไม่เท่ากัน แต่การเยี่ยมบ้านก็ต้องเพิ่มโอกาส เสนอแนะให้ผู้ปกครองได้เลือกสื่อหรือช่องทางการเรียนรู้ให้ลูกมากขึ้น

        ก่อนเปิดเทอม..จะต้องไม่มีการประชุมใหญ่ แบบที่นัดหมายผู้ปกครองมานั่งฟังนโยบายโดยพร้อมเพรียง..และต้องประชุมต่างวันและเวลา ต่างกรรมต่างวาระว่ากันไป

        ประชุมผู้ปกครองครั้งละ ๑๕ – ๒๐ คน โดยจะประชุมผู้ปกครองนักเรียนชั้นอนุบาลก่อน ตามด้วย ป.๑ – ๒ , ป.๓ – ๔ และ ป.๕ – ๖ นั่งห่างกันอย่างน้อย ๑ เมตร

        การจัดบรรยากาศชั้นเรียนของครูในช่วงปิดภาคเรียน คงต้องแนะนำครูให้จัดป้ายนิเทศอย่างเรียบง่าย ไม่ให้รกรุงรังแบบวิจิตรอลังการ มันจะทำให้เป็นที่กักเก็บฝุ่นละออง

        โต๊ะเก้าอี้นักเรียน ต้องไม่จัดวางในรูปแบบเดิมที่ให้นั่งเป็นคู่หรือนั่งชิดติดกัน แต่ต้องจัดให้เว้นระยะห่างทุกวัน เหมือนที่เคยจัดในช่วงของการสอบวัดผลนั่นเอง

        รวมถึงการบริหารจัดการใน “โรงอาหาร” ก็ต้องจัดตารางและควบคุมให้เข้มข้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือเป็นสถานที่ที่สำคัญและเปราะบางมากที่สุด

        อ่างล้างมือดูตามสภาพการณ์แล้ว ก๊อกน้ำมีไม่เพียงพอแน่นอน ผมเตรียมถังน้ำที่จุน้ำในปริมาณที่มากพอและมีหลายใบ ในทุกจุดของอาคาร ให้นักเรียนล้างมือได้บ่อยๆและสะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้ขันตักน้ำแทนการเปิดจากก๊อกน้ำ

        เช่นเดียวกัน..สบู่และเจลทำความสะอาดมือ ต้องมีประจำอยู่ที่ห้องน้ำห้องส้วม ในห้องเรียนและหน้าอาคาร ยังคิดว่า..คณะครูอาจจะต้องช่วยกันผลิตเจลล้างมือให้เพียงพอ

        จัดซื้อหน้ากากอนามัยให้พร้อมก่อนเปิดเทอม ต้องพร้อมแจกให้นักเรียนอย่างน้อยคนละ ๕ ชิ้น และนักเรียนต้องใส่หน้ากากอนามัยมาโรงเรียนทุกวัน

        ประการสุดท้าย..เสียงตามสายหรือหอกระจายข่าว ..คือเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ที่ผมต้องนำมาปัดฝุ่น เพื่อเน้นย้ำ ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือผู้ปกครอง..ในการระวังป้องกันภัยโควิด ๑๙..อย่างเต็มที่..

        ปีการศึกษา ๒๕๖๓ แผนการจัดการศึกษาจึงต้องเปลี่ยนไปในทุกรูปแบบ จะมุ่งเน้นนักเรียนเพียงเพื่อให้..เก่ง..ดีและ..มีความสุขอย่างเดียว..คงไม่ได้เสียแล้ว

        อาจจะไม่ใช่การศึกษาเพื่อทางเลือกหรือทางรอดเท่านั้น แต่เป็นการจัดการศึกษาที่ต้องพึ่งพากัน เพื่อลดความเห็นแก่ตัว ที่เรียกว่าการศึกษาเพื่อปวงชน..อย่างแท้จริง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๔  เมษายน  ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 676961เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2020 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท