สาคูเปียกอัญชันมะพร้าวอ่อนกับน้ำสมุนไพร



ดอกอัญชัน ดอกไม้สีม่วงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย นอกเหนือจากการนำสีจากดอกอัญชันมาใช้แต่งสีในการทำอาหารและขนมต่างๆ ให้ได้สีน้ำเงินหรือสีม่วง อัญชันเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ใบเป็นใบประกอบ ดอกอัญชันเป็นดอกเดี่ยว มีสีน้ำเงินเข้ม น้ำเงินอมม่วง และสีขาว ดอกชั้นในแบ่งเป็น 5 กลีบ กลีบนอกมีสีเขียว มีผลเป็นฝักลักษณะแบนคล้ายฝักถั่ว ดอกอัญชันบางสายพันธุ์เป็นพันธุ์กลีบซ้อนก็มี

สรรพคุณของดอกอัญชันที่รู้จักกันดีคือแก้ผมร่วงได้ ดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานินซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็กๆ ของร่างกาย เช่นหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมได้ดียิ่งขึ้น ช่วยแก้อาการผมร่วงได้

สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันสามารถ ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพดวงตา เช่น อาการตาฝ้าฟาง ตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน โรคต้อหิน และโรคต้อกระจก เนื่องจากสารตัวนี้มีอยู่ในพืชที่มีสีม่วง สีแดง และสีน้ำเงิน มีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของหลอดเลือดขนาดเล็กในดวงตา เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น นอกจากนี้สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันก็จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหาร ช่วยแก้อาการอาหารเป็นพิษหรืออาการท้องเดินได้ นอกจากนี้สารแอนโทไซยานินยังส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังเซลล์ต่างๆได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เซลล์ผิวที่ฟกช้ำหรือบวมบรรเทาลงได้และช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ด้วย และถ้าถูกพิษแมลงสัตว์กัดต่อยจนมีอาการบวมแดง ใช้ดอกอัญชันตำให้ละเอียดแล้วเอามาพอกบริเวณที่ถูกกัดต่อยจะช่วยบรรเทาพิษได้

สารแอนโทไซยานินในดอกอัญชันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย จึงช่วยลดอัตราการเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมองได้ด้วย โดยสารตัวนี้จะป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันที่เป็นสาเหตุของไขมันอุดตันเส้นเลือดนั่นเอง นอกจากนี้สีจากสารแอนโทไซยานินยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ป้องกันแสงยูวี และต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งได้ด้วย

นอกจากสารชีวเคมีที่ได้จากพืชสีม่วง น้ำเงิน และแดงอย่างแอนโทไซยานินแล้ว ในดอกอัญชันยังมีสารแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodic) ที่มีฤทธิ์ลดอาการหดเกร็งในช่องท้อง สามารถแก้ปวดท้องได้ด้วย

สารสกัดลำต้น ใบ ดอก และรากของอัญชันมีฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และความจำ รวมทั้งมีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดอาการวิตกกังวล มีฤทธิ์ช่วยในการนอนหลับ

นักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่าในดอกอัญชันมีสารเทอร์นาทินส์ (Ternatins)ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการรวมตัวของเกร็ดเลือดและมีผลคลายกล้ามเนื้อเรียบในร่างกาย จึงช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้

ข้อควรระวังการรับประทานดอกอัญชัน หากกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากดอกอัญชันมีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด จึงอาจทำให้ยามีฤทธิ์รุนแรงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดอันตรายได้ ไม่ควรดื่มน้ำอัญชันที่มีความเข้มข้นมากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนัก ควรชงเป็นเครื่องดื่มในปริมาณพอสมควร ผู้ที่มีอาการแพ้ละอองหรือเกสรดอกไม้ควรระมัดระวังในการใช้ดอกอัญชันหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอัญชัน และผู้ป่วยโรคโลหิตจางไม่ควรรับประทานดอกอัญชัน รวมทั้งอาหารแบะเครื่องดื่มที่มีดอกอัญชันเป็นส่วนประกอบ เพราะในดอกอัญชันมีสารที่มีฤทธิ์ในการสลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคโลหิตจางได้

ในวันนี้เราจะนำสีสวยๆจากดอกอัญชันมาขนมง่ายๆ รับประทานกัน สาคูเปียกอัญชันมะพร้าวอ่อนค่ะ เริ่มเตรียมวัตถุดิบที่ใช้ได้แก่ สาคูเม็ดเล็ก 1ถ้วย น้ำกะทิ 1ถ้วย มะพร้าวอ่อน 1ถ้วย น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย ใบเตย 2-3 ใบ และดอกอัญชันสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ1/2 ถ้วย

เริ่มทำสาคูเปียกอัญชันมะพร้าวอ่อนโดยนำเม็ดสาคูไปล้างน้ำ ใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำ ต้มดอกอัญชันกับน้ำเปล่า 1/2 ถ้วย เมื่อน้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วงกรองดอกอัญชันทิ้ง นำน้ำกะทิตั้งไฟอ่อนใส่ใบเตยลงไปเพื่อให้มีกลิ่นหอม คอยคนบ่อยๆ เติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย พอกะทิเดือดยกลงพักไว้ น้ำเปล่า 3 ถ้วยตั้งไฟให้เดือด ใส่ใบเตยที่เหลือ ใส่เม็ดสาคูลงไปกวนในหม้อ สังเกตว่าสาคูเริ่มสุกเม็ดใสขึ้น จุดขาวกลางเม็ดยังมีอยู่ก็ไม่เป็นไร ใส่น้ำตาล มะพร้าวอ่อน สีจากดอกอัญชัน กวนให้เข้ากัน จนส่วนผสมมีลักษณะเหนียวข้นก็ใช้ได้ หากชอบหวานมากเพิ่มน้ำตาลตามชอบ

ตักสาคูเปียกใส่ถ้วย ราดด้วยกะทิ รับประทานขนมหอมหวานแล้วจิบน้ำสมุนไพรอุ่นๆ ซึ่งเป็นน้ำตะไคร้ ใส่เก๋ากี้เพิ่มสีสันให้น้ำมีสีเข้มขึ้น ฝานมะนาวหรือส้มจี๊ดลงไปสักเล็กน้อยจะทำให้ได้กลิ่นหอมของผิวส้ม ดื่มแล้วจะรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย แต่น้ำสมุนไพรนี้ปลอดน้ำตาลค่ะ ถ้าติดรสหวานต้องเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งตามชอบนะคะ

ขอบคุณ ภาพดอกอัญชันจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 676768เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2020 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2020 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท