ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perennialism)


นิรันตรนิยม (Perennialism) - ความหมาย - แนวคิด - ความสำคัญ - ความเป็นมา - ด้านการศึกษา

นิรันตรนิยม (Perennialism)


ความหมายนิรันตรนิยม

        นิรันตรนิยม หมายถึง สิ่งที่คงที่ ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมเชื่อว่าการศึกษาควรจะได้สอนสิ่งซึ่งเป็นนิรันดรไม่เปลี่ยนแปลง มีคุณค่าไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ได้แก่ คุณค่าของเหตุผลและคุณค่าของศาสนา อันเป็นหลักสำคัญของปรัชญานิรันตรนิยม

แนวคิดนิรันตรนิยม

       โดยทั่วไปปรัชญาลัทธินี้จะแบ่งแนวการศึกษาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นลักษณะของปรัชญาทั่วไปที่เน้นหนักในเรื่องของเหตุผล สติปัญญา ไม่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง แต่อีกลักษณะหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง เป็นแนวคิดของกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิคที่สัมพันธ์เรื่องศาสนาเข้ากับเหตุผล เป้าหมายของการศึกษากลุ่มนี้เน้นที่จะให้เด็กสัมผัสกับศาสนา มีเป้าหมายในชีวิตเพื่อพระเจ้า เป็นสุภาพบุรุษในแนวทางของศาสนา

ความเป็นมานิรันตรนิยม

      ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาพื้นฐานกลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล (Rational Realism) หรือบางที่เรียกกันว่าเป็นพวกโทมัสนิยมใหม่ (Neo – Thomism)
      ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม มีจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพาหะนำมนุษย์ไปสู่อดีตที่มีระเบียบ มีความมั่นคง มีจริยธรรม และความยุติธรรม ซึ่งเป็นปรัชญาที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่เพิ่งได้รับการรื้อฟื้นจัดระบบใหม่เมื่อประมาณ 40 -50 ปี นิรันตรนิยมมีจุดมุ่งหมายให้การศึกษาเป็นพาหะนำมนุษย์ไปสู่อดีตนั้น เพราะเชื่อมั่นว่าแก่นของความคิดและวัฒนธรรมของสมัยโบราณและสมัยกลางของยุโรป เป็นสิ่งที่ดีงามไม่เสื่อมคลายและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน

หลักการสำคัญ

  1. แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างต่างกันออกไป แต่ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมจะเหมือนกันในทุกแห่งหน ดังนั้น การจัดการศึกษาควรจะเป็นแบบเดียวกันหมดทุกคน
  2. ความมีเหตุผลเป็นคุณลักษณะอันสูงสุดของมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องใช้ความมีเหตุผลเป็นเครื่องควบคุมสัญชาตญาณตามมธรรมชาติ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายต่ำของตน เพื่อจะได้บรรลุจุดหมายของชีวิตที่ได้เลือกสรรแล้ว
  3. หน้าที่ของการศึกษาคือการแสวงหาความรู้ในเรื่องของความเป็นจริงอันเป็นนิรันดร
  4. การศึกษามิใช่เป็นการเลียนแบบอย่างชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต
  5. นักเรียนควรจะได้เรียนวิชาพื้นฐานบางวิชาเพื่อให้เข้าใจ และคุ้นเคยกับสิ่งที่คงทน ถาวรของโลก
  6. นักเรียนควรจะได้ศึกษางานนิพนธ์ที่สำคัญ ๆ ทางวรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานที่บรรดาปรัชญาและผู้ทรงความรู้ทั้งหลายในยุคที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เอาไว้

ด้านการศึกษา

  1. กระบวนการเรียนการสอน
         ลัทธินี้ถือว่าการศึกษาไม่ใช่การเลียนแบบอย่างของชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต การศึกษาจึงควรหาทางให้เด็กแต่ละคนปรับตัวให้เข้ากับความจริง วิธีการในการจัดการเรียนการสอนจึงเน้นหนักที่การกระตุ้นและหนุนให้ศํกยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนได้พัฒนาเติบโต มีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยใช้วิธีการถกเถียง อภิปราย การใช้เหตุผลและสัติปัญญาโต้แย้งกัน ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการนำอภิปราย ตั้งประเด็นสำหรับถกเถียง และตั้งปัญหาให้ผู้เรียนตอบหรืออภิปราย คอยยั่วยุ แย้ง หรือสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด และสติปัญญาของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะอย่างไรก็ตาม ตามแนวคิดนี้ครูยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนการสอน ถือว่าครูเป็นศูนย์กลาง การจัดห้องเรียนเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  2. กระบวนการการบริหาร
         บริหารโดยยึดหลักของเหตุผล กฏระเบียบมีอยู่แต่ควรจะใช้อย่างมีเหตุผล ไม่ใช้ตามตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียว ระเบียบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม ไม่มีเหตุผล ไม่ถูกต้อง ควรจะได้รับการแก้ไขให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น หลักสำคัญในการบริหารโรงเรียนคือการสร้างบรรยากาศอิสระขึ้นในสถาบันการศึกษา คือ การมีเสรีภาพทางวิชาการ บรรยากาศของการบริหาจะต้องเอื้อต่อการถกเถียง อภิปราย การตัดสินใจในทางการบริหารควรถือหลักของเหตุผลเป็นสำคัญ ผู้บริหารควรอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจให้กับผู้ร่วมงานได้เสมอ ในขณะเดียวกันผู้ร่วมงานก็ควรจะต้องมีโอกาสที่จะเสนอความคิดเห็นร่วมตัดสินใจในการดำเนินงานของสถาบันด้วย
  3. บทบาทต่อสังคม
         บทบาทต่อสังคมของสถาบันการศึกษาตามแนวลัทธินี้เป็นไปในทำนองเดียวกับลัทธิสารัตถนิยม คือ เน้นทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และค่านิยมของสังคมโดยอ้อม เน้นที่การพัฒนาสติปัญญาและเหตุผลของบุคคล(ผู้เรียน)เป็นหลัก มีบทบาทต่อสังคมในทางอ้อม คือ สร้างบรรยาการและสภาพแวดล้อมทางสังคมให้นิยมเรื่องของเหตุผลและสติปัญญาเป็นสำคัญ

สรุป

อ้างอิง
https://prezi.com/p/jjpwf3vfmxph/perennialism/
www.krupatom.com/ปรัชญาการศึกษา-และจรรยา/education_1654

หมายเลขบันทึก: 676762เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2020 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2020 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท