ภาวะซึมเศร้ากับสื่อการรักษาทางกิจกรรมบำบัด


โรคซึมเศร้า?

เป็นโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนทุกคน โดยมีสาเหตุมาจาก การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง หรืออาจจะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีสาเหตุเลยก็ได้ การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นอ่อนแอ ล้มเหลว หรือ ไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแค่ต้องเข้าใจกับตัวโรคและหาทางป้องกัน แก้ไขที่เหมาะสม

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

1.ความเครียด มักเกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง ที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์ แต่ถ้ามากหรือน้อยก็ส่งผลให้เกิด อารมณ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น อารมณ์กังวล เครียด

2.สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า การเลี้ยงดูที่ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มองตนเองและสิ่งแวดล้อม ครอบครัว ในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา ขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว เมื่อเจอมรสุมในชีวิต มักจะทำให้เกิดอาการป่วยง่ายขึ้น เนื่องจากไม่รู้วิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

3.การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เลวร้าย การพบเจอกับการสูญเสียครั้งใหญ่ มักจะทำให้เกิดเป็นอารมณ์ความเศร้าเรื้อรัง ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพของตนเองและความรู้สึกของคนรอบข้างด้วย

อาการของโรคซึมเศร้า

• โรคซึมเศร้ามีอาการรู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ

• ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต

• น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป

• นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ

• คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะรู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

• ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง

• อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง

• กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ

• คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ผลกระทบของโรคซึมเศร้า

  การเกิดโรคซึมเศร้า จะส่งผลให้ผู้ป่วยมักจะรู้สึกเครียด เศร้า สิ้นหวัง ไร้ค่า โดยที่ความรู้สึกเหล่านี้เกิดจากทั้งความคิด ความรู้สึก จิตใจหรือฮอร์โมนต่างๆ ที่ผิดปกติไป ส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลงและแน่นอนว่า เมื่อสุขภาพจิตแย่ สุขภาพกายก็จะแย่ลงด้วย เนื่องจากขาดการดูแลใส่ใจตนเอง ไม่สนใจสุขภาพร่างกายตนเอง เมื่อสุขภาพทั้งกายและจิตแย่ลง ก็ส่งผลกระทบกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเช่น การเรียน ก็ไม่มีสมาธิจดจ่อกับเนื้อหา เรียนไม่รู้เรื่อง เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย จนรู้สึกไม่อยากไปเรียน และเกิดปัญหาอีกมากมายตามมาด้วย

วิธีป้องกัน ดังต่อไปนี้

1.การออกกำลังกาย การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ การออกกำลังกายที่ดีจะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว

2.อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง

3.เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆโดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่นไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละช่วง คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น

4.อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่นการหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้นๆ เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไรๆ แย่ลวงจริงๆ ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายๆ คนให้ช่วยคิด

5.การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหา

สื่อที่ใช้ในการรักษาทางกิจกรรมบำบัด           

- งานปั้นดินเหนียว : ผู้รับบริการปั้นรูปทรงต่างๆ โดยเพิ่มระดับจากง่ายไปยาก ได้แก่ ทรงกลม ทรงสามเหลี่ยม ทรงสี่เหลี่ยม

ผลของกิจกรรมนี้  เพื่อช่วยให้โอกาสผู้รับบริการในการแสดงออกทางอารมณ์ ความคิด ระบายแรงขับความโกรธ ได้ออกแบบความคิดสร้างสรรค์

- ทำอาหารกับครอบครัว : เมนูที่เลือกควรเริ่มจากที่มีขั้นตอนน้อยก่อน เช่น การทอดไข่ชะอม โดยผู้รับบริการจะมีส่วนร่วมในการทำอาหารกับบุคคลในครอบครัว

ผลของกิจกรรมนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง และมีความสัมพันธ์กับครอบครัวมากขึ้น

- การออกกำลังกาย (Exercise therapy) : ให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การวิ่งเยาะ การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน โดยกำหนดความหนักในระดับปานกลาง คือร้อยละ 60 – 80 ของอัตราการเต้นของชีพจรสูงสุด  ความถี่อย่างน้อย 3 วัน /สัปดาห์ ใช้เวลา 30 นาที ระยะเวลา 8 สัปดาห์

ผลของกิจกรรมนี้ เพื่อลดของอาการซึมเศร้า  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive Behavior Therapy : CBT) : การบำบัดที่ใช้การไตร่ตรอง การคิดพิจารณาเชิงเหตุผล มีเวลาจำกัด โดยมีลักษณะดังนี้

1.เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บำบัดที่จะค้นหาชนิดและผลกระทบของความคิด ความเชื่อ และการแปลความหมายที่มีต่ออาการแสดงที่ปรากฏ  สถานะของความรู้สึกและหรือเป้าหมาย

2.การพัฒนาทักษะที่จะค้นหา  ควมคุมกำกับ และจัดการกับความคิด ความเชื่อและการแปลความหมายที่เป็นปัญหา ซึ่งสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า

3.การเรียนรู้ที่จะใช้ทักษะการจัดการปัญหาที่เหมาะสมกับความคิด ความเชื่อและหรือปัญหา

ผลของสื่อการบำบัดนี้ ผู้รับบริการมีการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ดีขึ้นและส่งผลให้อาการของโรคซึมเศร้าลดลง

 

อ้างอิง

คณะกรรมการบริหารโครงการทศวรรษการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า กรมสุขภาพจิต ปี 2553.แนวปฏิบัติทางคลินิกเพื่อการบำบัดทางสังคมจิตใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสำหรับพยาบาลจิตเวชในสถานบริการระดับตติยภูมิ[อินเตอร์เน็ต].2554[เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2563].เข้าถึงได้จาก : http://www.thaidepression.com/www/58/cnpgtertiarycare.pdf

หมายเลขบันทึก: 676255เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2020 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2020 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท