ประชาธิปไตย


สืบเนื่องจากเมื่อวาน ได้ฟังบรรยายแบบไม่ต้องเข้าชั้นเรียนทาง youtube จากงานบรรยายของ อ.สมภาร พรมทา ซึ่งกล่าวถึงนักปรัชญาชาวเมืองเอเธน ในสมัยกรีก ไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็สอดคล้องกับแนวคิดของพุทธทาสภิกขุ ปัญหาที่พบคือ ถ้าเสียงข้างมากคือตัวตัดสินความชนะ และถ้าเสียงข้างมากเป็นอันธพาล จะเกิดอะไรขึ้น และสอดคล้องกับที่ผมเคยคิดอยู่บ่อยและถามในชั้นเรียนที่นักศึกษาถูกทำให้เชื่อว่าประชาธิปไตยคือระบบคิดที่ดีที่สุดว่า "เราเอาเสียงข้างน้อยไปไว้ที่ไหน ให้เสียงข้างน้อยต้องทนกับเสียงข้างมากหรือ" นอกจากนั้นยังเคยถามนักศึกษาที่มีแนวคิดการทำพื้นที่บางแห่งให้เป็นพื้นที่ในระบบกฎหมายอิสลาม คำถามคือ "เราจะมีแนวคิดอะไรรองรับคนที่ไม่รับอิสลาม" นักศึกษาย้อนถามว่า "แล้วมีแนวคิดอะไรรองรับคนรับอิสลาม" เช้านี้มีความคิดเกิดขึ้นว่า " ถ้าเราไม่ใช้แนวคิดประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นแนวคิดในการปกครอง เราจะใช้แนวคิดอะไร" ความคิดเชื่อมโยงไปถึงช่วงที่แต่ละคนผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้รัฐ บางคนมีเงินเดือน แต่ละเดือนก็อาจจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่ต้องจ่าย ก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย หลายคนพยายามที่จะไม่จ่ายเพิ่ม จากที่ถูกตัดไปแต่ละเดือน ด้วยหาทางลดหย่อนภาษี ลดหย่อนมากไปหน่อย จึงถูกเรียกให้มีการตรวจสอบหลักฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ บางคนที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ พยายามที่จะเลี่ยงไม่จ่ายภาษี ตลอดถึงหาวิธีการอย่างไรอย่างหนึ่งที่จะไม่จ่ายภาษี การจ่ายภาษีรองรับด้วยกฎหมายรัฐ บังคับทุกคนให้ต้องจ่าย ข้ออ้างอันหนึ่งของการเสียภาษีคือ "นำไปพัฒนาประเทศ" ดังนั้น เราจึงมีถนนแบบสบายใช้ เรามีโรงเรียนสำหรับเด็กๆ เรามีหน่วยงานราชการให้ในการให้บริการประชาชน (บริการแล้วต้องจ่ายเพิ่มอีก อย่างเช่น ค่าเทอมการศึกษา) เป็นต้น ใคร่ครวญว่า มีไหมที่ของส่วนรวมไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีของประเทศ พบว่ามี เช่น ถนนราดยางบางพื้นที่ เกิดขึ้นจากชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินทำถนน โรงเรียนบางแห่งเกิดจากชาวบ้านร่วมกันบริจาคและร่วมกันสร้าง เป็นต้น ดังนั้น รัฐไม่จำเป็นต้องมีได้หรือไม่ โดยชาวบ้านชาวเมืองจัดการกันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนจากชาวบ้านส่งสู่สภากลาง การเสียภาษีจะมีได้โดยความสมัครใจ ไม่ใช่ตามกฎหมาย นั่นหมายถึง การรู้จักเสียสละ ถ้าใครมีรายได้มาก ชีวิตอยู่สุขสบาย ก็สละแบ่งปันลงเพื่อสังคมมากหน่อยโดยไม่เดือดร้อนตนและอนาคตของครอบครัว แต่ทั้งนี้ควรมาจากความรู้สึกอยากแบ่งปัน คนที่มีรายได้น้อยจะลงขันด้วยก็ได้ จะไม่ลงก็ได้ โดยไม่เดือดร้อนตนและอนาคตของครอบครัว ความคิดใหม่ที่เกิดในวันนี้คือ "ถ้าไม่มีรัฐจะอยู่ได้หรือไม่" "หากจะมี รัฐอาจอยู่ในฐานะเพียงการตัดสิน และให้แนวคิดว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร ในฐานะการให้คำปรึกษา โดยไม่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนใดๆ" การบริหารการเงินและบริหารพื้นที่ขึ้นอยู่กับชาวบ้าน นอกจากนั้น การจะทำอะไรควรเป็น "เอกฉันท์" แบบนี้ไหมคือการเอาใจใส่ประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือขึ้นอยู่กับอำนาจใด

ทั้งหมดเป็นความคิดที่เกิดในเช้านี้

คำสำคัญ (Tags): #ประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 675844เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2020 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2020 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท