ชีวิตที่พอเพียง 3624. เยี่ยมศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (๒) ขึ้นดอย


ที่จริงเป็นการ “ลงดอย” มากกว่า เพราะเราเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจตระเวนชายแดน โดยต้องนั่งรถไปที่อำเภอแม่ริม 

เราไปเยี่ยมครู รางวัลเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์๒ ท่านคือ ครูฐิติกานต์ บุญหนุน ศูนย์ฯ บ้านห้วยปูหลวง  ครูรางวัลเจ้าฟ้ารุ่น ๖   และ ครูจันทร์แรม ดวงเพชร โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย รุ่น ๗

ไปขึ้น ฮ. ที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๓๓   ซึ่งอยู่ห่างโรงแรมที่พักย่านนิมมานฯ ๒๕ ก.ม. ไปทางทิศเหนือ    ไป ฮ. ลำเดียวนั่งไป ๑๑ คน คือทีมขับ ฮ. ๓ คน    ทีมโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ๓ คน    และทีมธนาคารไทยพาณิชย์ ๕ คน   

เรารอให้ ฮ. ลำอื่นที่ไปแม่ฮ่องสอน (ไปเตรียมรับเสด็จองค์ภา) ขึ้นก่อน แล้วจึงออกเวลาราวๆ ๙ น.    บินลงไปทางทิศใต้ ผ่านภูเขาสูง เห็นยอดดอยอินทนนท์อยู่ไกลลิบ    ข้างล่างเห็นถนนขึ้นดอยอินทนนท์    และถนนเส้นอื่นๆ    มีน้อยช่วงที่เป็นป่าดงดิบจริงๆ    นอกนั้นมีร่องรอยการเกษตร    มีนาขั้นบันไดกระจายอยู่ทั่วไป    ผมนึกในใจว่า หากต้องขึ้น ฮ. อีกจะเตรียมที่อุดหูไป    เพราะเสียง ฮ. ดังมาก   ตัวเครื่อง ฮ. มีส่วนเปิดให้ลมภายนอกเข้ามาได้    พบว่าอากาศกำลังสบาย ไม่หนาวอย่างที่พวกเราบางคนห่วง    และไม่มีหมอกควัน เขาบอกว่ายังไม่ถึงฤดูเผาป่า    

ความเร็วของ ฮ. ๒๑๐ กม./ชม.   ใช้เวลาชั่วโมงเดียวก็ถึง แต่ตอนลงหาที่ไม่พบ บินเลยไป    ต้องวนกลับใหม่  และคุณสี่โทรศัพท์มาหาคุณเปา    ใช้โทรศัพท์บอกทางให้ ฮ. ลง    สนาม ฮ. อยู่ห่างศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขาบ้านห้วยปูหลวง ๑ กม.    เส้นทางขึ้นลงเขา     ต้องให้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ และใต้ท้องรถสูง              

ผมจ้องไปดูว่า การติดต่อสื่อสารทางคลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ตสะดวกแค่ไหน    เพื่อหารือกันว่า จะสนับสนุนครูของศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขาด้วย  e-PLC ได้แค่ไหน อย่างไร    ใช้ group teleconference สะดวกหรือไม่  

ศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขาบ้านห้วยปูหลวง    

ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๔  ตำบลยางเปียง  อำเภออมก๋อย    อยู่ภายใต้การดำเนินการของ กศน.   วันนี้มีอดีตรองเลขาธิการ กศน.   อดีต กศน. จังหวัดเชียงใหม่   และผู้ใหญ่ที่เกษียณแล้วของ กศน. อีกท่านหนึ่ง ไปเยี่ยมด้วย    โดยไปทางรถยนต์จากเชียงใหม่    เขาจัดการต้อนรับใหญ่โต    มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในพื้นที่    ซึ่งสินค้าตัวสำคัญที่สุดคือมะเขือเทศ  กับกระหล่ำปลี    เขาเก็บตอนกลางคืนแล้วนำส่งตลาดไททันที    จัดแสดงภูมิปัญญาต่างๆ    ทั้งสมุนไพร  ขนม  และภูมิปัญญาทอผ้ากะเหรี่ยง     มีการจัดเต๊นท์บรรยายสรุป    พื้นที่โรงเรียนอยู่ที่ไหล่เขา     ไม่ใช่พื้นราบอย่างที่เราคุ้นเคย        

ชาวบ้านเป็นกะเหรี่ยงทั้งหมด    เรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยง ไม่เรียกปะกากะญอ    ส่วนใหญ่นับถือคริสต์    ในหมู่บ้านมีประชากร ๓๕๖ คน   ๙๖ ครัวเรือน    โปรดสังเกตว่าชาวเขาสมัยนี้มีลูกน้อยคนแล้ว     ที่แปลกใจมากคือเด็กๆ สุขภาพดีมาก สะอาดสะอ้าน หน้าตายิ้มแย้ม    ถามว่าคนหนุ่มสาวออกจากพื้นที่ไปประกอบอาชีพในเมืองไหม    คำตอบคือไม่    แสดงว่าชีวิตที่นี่นอกจากความห่างไกลแล้ว     ชีวิตความเป็นอยู่ดีพอสมควร    น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และดินดี    ที่หมู่บ้านนี้ อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง    ไม่มีคลื่นโทรศัพท์มือถือ     แต่ที่สนาม ฮ. ห่างออกไป ๑ กม. มีคลื่น   

 เดินชมกิจการที่นำมาจัดแสดง พร้อมชิมขนมกะเหรี่ยง โก๊ะเฉะโช     และชาสมุนไพร ๒ ชนิด สำหรับแก้ปวดเมื่อย และเพื่อให้ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า    แล้วก็ถึงเวลาฟังการบรรยายสรุป    เริ่มจากคุณรักการ นามประเสริฐยิ่ง ผู้ใหญ่บ้านกล่าวต้อนรับสั้นๆ    แล้วครูฐิติกานต์ บรรยายสรุปเรื่องของหมู่บ้านและศูนย์การเรียนฯ    ที่แปลกคือ เป็นศูนย์ กศน. ที่มีเด็กนักเรียนมาก    ราวๆ ๖๐ คน  รวมทั้งเด็กเล็กและวัยเรียน (๓ - ๑๖ ปี)    สังเกตดูผู้สูงอายุจะถนัดงานทอผ้ามากกว่าเรียนอ่านเขียนภาษาไทย     และที่เด่นมากคือการจัดให้มียุวกรรมการหมู่บ้าน    เขาแนะนำคุณอาทิตย์ อายุ ๒๓ ปี    เรียนที่นี่จนจบ ม. ๖    ทำกิจการปลูกกาแฟ มีรายได้ดี    มีบ้าน มีรถยนต์  มีครอบครัว     ที่โรงเรียนนี้ทำธุรกิจร้านกาแฟ และทำกาแฟที่คั่วและบดแล้วขาย     ถือเป็นกาแฟคุณภาพสูง     มี packaging สวยงาม   

ศูนย์ฯ มีสวนครัว สำหรับทำอาหารให้นักเรียนกิน แต่ไม่มีการเลี้ยงสัตว์    ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีข้อจำกัดด้านคนดูแล    เพราะครูทำงานรวด ๒๒ วัน แล้วหยุดพัก ๘ วัน เพื่อกลับบ้าน (ในช่วงนั้น ยุวกรรมการหมู่บ้านช่วยดูแลโรงเรียน)     แต่ก็มีกิจกรรมพิเศษมาเบียดบังวันพักอยู่เรื่อย    ครู กศน. ในพื้นที่แบบนี้ เป็นมากกว่าครูมาก    โดยเฉพาะการเป็นพัฒนากร ให้คำแนะนำต่างๆ แก่ชาวบ้าน   

 เราได้พบและฟังเรื่องราวของครูเจ้าฟ้าฯ ที่เป็นครู กศน. และมาร่วมชุมนุมอีก ๔ คน  รวมเป็น ๕ คน คือ

  • ครูพิสมัย เหมะธุลิน  จากศูนย์  รางวัลครูเจ้าฟ้าฯ รุ่น ๒   ตอนได้รับรางวัลอยู่ที่ศูนย์บ้านแม่หลองใต้
  • ครูชัยยศ สุขต้อ  รุ่น ๓  สังกัด สพฐ.   และเป็นครูยิ่งคุณด้วย   เวลานี้อยู่ที่โรงเรียนบ้านยางเปา    ท่านผู้นี้เป็นศิลปิน   พูดได้ ๙ ภาษา    แหลงใต้กับผมสนุก พูดภาษาใต้ชัดมาก  
  • ครูสุรภี กสิวุฒิ  รุ่น ๓   เวลานี้อยู่ที่ศูนย์แม่ละเมียด    ท่านผู้นี้เคยถูกชาวบ้านเชิญให้ย้ายออกจากหมู่บ้าน เพราะสงสัยว่าเป็นสายให้ตำรวจเรื่องยาเสพติด   
  • ครูวัชรินทร์ แก้วมาลา  รุ่น ๕  เวลานี้อยู่ที่ศูนย์บ้านราชา

คุณวัชรมงคล อธิบายจุดเริ่มต้นปี ๒๕๕๑ เมื่อสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสฯ สวรรคต    คุณลุงบุญธันว์ จึงริเริ่มรางวัลเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้น เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์     โดยมีเกณฑ์ ๓ ข้อคือ  (๑) ทำงานในพื้นที่ห่างไกล ด้วยความเสียสละ  (๒) เป็นมากกว่าครู คือเป็นนักพัฒนาชุมชน  และในบางท้องที่ก็ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของเด็กและคนในชุมชนด้วย   (๓) ผลงานโดดเด่นเป็นต้นแบบได้     

  จะเห็นว่า ในหมู่บ้านชาวเขา ยังมีการปลูกฝิ่นอยู่บ้าง    เพราะยังมีผู้สูงอายุที่ติดฝิ่น    และมีคนเล่าว่า มีนายทุนเข้าไปว่าจ้างให้ปลูก    จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ครูดอยจะต้องวางตัวอยู่เหนือประเด็นดังกล่าว   

เสร็จจากการบรรยายสรุป เด็กๆ จัดการแสดงกลางลาน และกลางแดดจ้า     แล้วถึงเวลาอาหารเที่ยง    ที่คุณลุงบุญธันว์เอาอาหารที่เราเตรียมมา ไปให้เด็กกิน    และเรากินอาหารพื้นเมืองของชาวกะเหรียง     ซึ่งสำหรับผมอร่อยมาก    แล้วถ่ายรูปหมู่    และเดินทางต่อ

คุณสี่เล่าว่าทางบริษัทซีพีมาติดต่อให้ความช่วยเหลือ ผมเสนอว่าให้ขอให้ติดตั้งคลื่นโทรศัพท์แก่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาให้ครบทุกศูนย์        

โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย

เขาให้เราเลือกว่าจะไป ฮ. หรือนั่งรถโฟรวีลไป    เราเลือกนั่งรถ เพื่อทำความรู้จักเส้นทางที่ครูและชาวดอยใช้    ซึ่งก็เป็นทางดินสลับกับทางคอนกรีต    ฝุ่นฟุ้งไปตลอดทาง     ที่นี่ไม่มีการจัดต้อนรับแบบที่ห้วยปูหลวง    เราตรงไปที่ห้องบรรยายสรุป    ที่ครูจันทร์แรม ดวงเพชร เป็นผู้บรรยายสรุปคนเดียว    มีผู้ช่วยคือน้องบัว ที่อดีตเป็นเด็กนักเรียนที่เรียกว่าเด็กพิเศษ    เวลานี้เป็นผู้ช่วยครูจันทร์แรม ดูแลเด็กพิเศษ ได้รับเงินเดือน ๙,๐๐๐ บาท    ส่วนครูคนอื่นๆ ก็สอนนักเรียนตามปกติ    ได้ข่าวว่าผู้อำนวยการโรงเรียนเพิ่งย้ายมา ๒ สัปดาห์    และเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่ได้มาโรงเรียน    และไม่เห็นรองผู้อำนวยการมาแสดงตัวต้อนรับ    

การบรรยายสรุป มีลักษณะเป็นการนำเสนอว่า ครูรางวัลเจ้าฟ้าฯ มีผลงานดีเด่นอย่างไร    ที่โรงเรียนนี้มีเด็กพิเศษ ๒๒ คน    ในจำนวนนักเรียนทั้งหมด ๑๗๐ คน (ครู ๑๐ คน)    ได้รับงบประมาณปีละ ๑๕,๐๐๐ บาท    มีคนกระซิบบอกผมว่า หมู่บ้านนี้ (ซึ่งก็เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง) มีเด็กพิการมากกว่าที่อื่น    เขาสงสัยว่าอาจเกิดจากการแต่งงานระหว่างญาติ  ซึ่งตามปกติคนกะเหรี่ยงมีประเพณีห้าม    แต่ที่นี่มีการแต่งงานระหว่างญาติ    หรืออีกสาเหตุหนึ่งคือจากสารเคมีเกษตร (แต่ที่อื่นก็ใช้ แต่ไม่มีด็กพิการมากอย่างนี้)

ครูจันทร์แรมบอกว่า ตนดูและเด็กพิเศษมากว่า ๖๐ คนแล้ว    ที่พบมากคือปัญหาการเคลื่อนไหว    ตนฝึกเด็กให้ทำการเกษตรอินทรีย์  ให้รู้จักอยู่อย่างพอเพียง    เสื้อผ้าได้รับจากการบริจาค    เรื่องเด็กพิการนี้ตนทำอยู่คนเดียวกับผู้ช่วย    ไม่มีครูคนอื่นสนใจ    ได้รับความช่วยเหลือจาก มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม   

ครูจันทร์แรมตอนเป็นเด็กที่เติบโตที่เยาวราช ในครอบครัวคนจีนที่ยากจน    อาม้าสอนการทำกับข้าวและการทำงานต่างๆ จึงมีวิชาติดตัวมาก    และเมื่อไปเป็นครูดอยก็เรียนรู้เร็ว    และเป็นคนรักเด็ก    ตอนเรียนครู เรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ   ปี ๒๕๕๔ พาเด็กไปประกวดที่กรุงเทพ ผลงานม้าฟางข้าว ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ ๑    ได้รับรางวัลครูสอนดีระดับประเทศ   รางวัลครูดีเด่นวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ     ปี ๒๕๕๘ ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์    ปี ๒๕๖๒ โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ส่งเข้าประกวดเพื่อรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี    ได้ที่ ๔ ของประเทศ    ได้รับรางวัลครูยิ่งคุณ ได้รับเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท ให้ถ่ายทอดความรู้แก่ครูคนอื่นๆ    แต่ตนเห็นว่าเวลา ๕ - ๖ เดือน จะทำไม่สำเร็จ    จึงขอไม่รับเงิน และขอให้ส่งวิทยากรไปถอดบทเรียนแทน    เพื่อถ่ายทอดเรื่องชีวิตเด็กพิการด้วย   

ปีนี้ได้รับรางวัล ตารา Awardจากมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน    ในฐานะสตรีผู้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ มีหัวใจโพธิสัตว์   

ด้านเด็ก   ปี ๒๕๕๔ ชนะเลิศผลงานม้าฟางข้าว ที่คนขึ้นไปนั่งได้    ปี ๒๕๕๖ ผลงานทอผ้าชุดโต๊ะเอนกประสงค์ ได้รับรางวัลที่ ๔ ของภาค   เป็นผลงานของเด็กตาบอด ๑ ข้าง    เวลานี้เด็กเรียนอยู่ชั้น ม. ๔    ด้านอาหาร ส่งเด็กเข้าประกวดทำอาหารกะเหรี่ยง ตะก๊วยซู กินกับอาหารญี่ปุ่น ได้รับรางวัลระดับภาค     ประกวดอาหารเมี่ยงชากินเป็นสลัด ได้รับรางวัลระดับชาติ   

คุณเปาพยายามถามวิธีการที่ครูใช้ ในการสอนหรือพัฒนาเด็กพิเศษ    ได้รับคำตอบว่า เริ่มจากการแผ่เมตตา ทำให้ใจครูอ่อนโยน    ให้ทำกิจกรรมวิชาชีพนอกห้องเรียน เช่นทอผ้า   สลับกับกลับมาเข้าห้องเรียน    และพาเด็กไปเรียนรู้นอกสถานที่    มีการปูพื้นให้กล้ามเนื้อแข็งแรง    ค่อยๆ พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป    ฟังแล้วเป็นวิธีการที่เน้นจิตใจและความเอาใจใส่ของครู  มากกว่าความรู้และทักษะทางวิชาการในการดูแลเด็กพิการแต่ละแบบ       

ครูจันทร์แรมสอนชั้น ป. ๔ (นักเรียนทั้งหมด ๑๕ คน)  ปีนี้มีนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ ๓ คน    ที่เมื่อเพื่อนๆ เรียน    เด็กพิเศษคนหนึ่งเดินไปเดินมา    เดินออกไปนอกห้องไปที่ระเบียง ครูต้องคอยบอกให้ระวัง ไม่ตกจากระเบียง     ฟังการอธิบายโต้ตอบแล้ว เห็นชัดในความใจเย็น เอ็นดูเด็กพิเศษ และเข้าใจเขา    เอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือไปถึงครอบครัว    คอยหาความช่วยเหลือมาให้    รวมทั้งมีความเข้าใจข้อจำกัดของพ่อแม่    ฟังท่านเล่าแล้วผมเข้าใจสังคมชาวดอยมากขึ้น     

ครูจันทร์แรมให้พ่อแม่เด็กพิการพาเด็กมารอคุยกับพวกเรา     ผมได้คุยกับแม่อายุ ๓๒ มีลูก ๔ คน    คนที่สองปัญญาอ่อน ว่าเติบโตปกติจน ๖ ขวบไข้สูงและชัก ไปโรงพยาบาล หมอว่าเป็นไข้สมองอักเสบ อยู่โรงพยาบาล ๒ เดือน    และกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน    รายนี้รู้สาเหตุชัด   เมื่อถามถึงลูกคนแรก ก็ทราบว่าอายุ ๑๔ เรียนอยู่ชั้น ม. ๔ ที่โรงเรียนในอำเภออมก๋อย    มีค่าใช้จ่ายปีละ ๑ หมื่นบาท    เมื่อถามว่าลำบากทางการเงินไหม ตอบว่าลำบากเพราะปีนี้มะเขือเทศราคาไม่ดี    ถามว่าอยากให้ลูกเรียนอะไร  ตอบว่าอยากให้เรียนพยาบาล    ผมจึงบอกคุณสี่ให้จดชื่อนามสกุลไว้    หาทางให้ทุนเรียนด้านสาธารณสุข ในโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า    หน้าตาของคุณแม่รายนี้แช่มชื่นขึ้นชัดเจน                

เราเดินผ่านห้องเรียน พบว่านักเรียนสุขภาพดี    แต่ไม่สะอาดสะอ้านเท่าที่บ้านห้วยปูหลวง    ส่วนครูเป็นครูสาวๆ ทั้งสิ้น    เดาว่าบรรจุที่นี่อยู่ไม่นานคงจะขอย้าย    โรงเรียนมีอินเทอร์เน็ต ห้องเรียนมีทีวีจอแบนขนาดราวๆ ๓๒ - ๔๐ นิ้ว     ไม่เห็นครูกำลังสอน    เห็นแต่เด็กนั่งดูหนังการ์ตูน   

บ่ายสามโมงครึ่ง คุณสี่มาเตือนให้ไปขึ้นรถยนต์เพื่อไปขึ้น ฮ.   เพื่อจะได้ถึงกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๓๓ ที่เชียงใหม่ สี่โมงครึ่ง    และไปถึงสนามบินเชียงใหม่เวลาราวๆ ๑๗ น.   ทันขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพเวลา ๑๘.๔๕ น.  

วิจารณ์ พานิช

1 เต๊นท์ต้อนรับของศูนย์ฯบ้านห้วยปูหลวง

2 คุณมาโนช แนะนำครูฐิติกานต์

3 นักเรียนกินอาหารเที่ยง พ่อหลวงคุยกับเด็ก

4 อาหารวันนี้อร่อย คุณลุงบุญธันว์นำไปฝาก

5 สวนครัวที่ศูนย์ฯ บ้าน้วยปูหลวง

6 การแสดงของนักเรียน

7 อาหารเที่ยงที่แสนอร่อย และดีต่อสุขภาพ

8 ถ่ายรูปหมู่ ก่อนลาจากศูนย์ฯบ้านห้วยปูหลวง

9 ถนนไปโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย

10 ส่วนหนึ่งของโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย

11 นักเรียนกำลังนอนหลับสบาย

12 นักเรียนนั่งดูหนังการ์ตูน

13 ครูจันทร์แรมนำเสนอผลงาน

14 คุยกับพ่อแม่และเด็กพิการ

15 ทิวทัศน์ใกล้โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย

16 ระหว่างเดินทางกลับ

หมายเลขบันทึก: 675139เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2020 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท