๑,๐๗๔ น้ำจิ้มของชีวิต..


เรื่อง “น้ำจิ้มของชีวิต”ของคนเรานั้น คือสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เราสามารถเติมเต็มให้เกิดความแตกต่างได้เสมอ..โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ในทุกๆเรื่อง..

        ผมไปประชุมที่เขตฯ โดยปกติก็ไม่ได้ไปเขตบ่อยนัก เนื่องจากไม่ได้เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานอะไรกับเขา โดยมากก็จะไปประชุมตามปกติ เฉลี่ยเดือนละ ๑ ครั้ง

    วันนี้..ไปประชุมกรณีพิเศษ เกี่ยวกับการจัดสรรอัตราครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดินโดยเขตจัดสรรให้โรงเรียนจำนวน ๑ อัตรา ในขั้นแรกให้ทำสัญญาจ้างเพียง ๓ เดือนก่อนคือเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม ๒๕๖๓

        ปีงบประมาณนี้ ..จะจ้างถึงกันยายนหรือไม่? เขตยังตอบไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเขตได้กรุณาโรงเรียนให้ครูผู้ทรงคุณค่าสอนถึงเดือนมีนาคม..ก็ถือว่าดีมากแล้ว..

        ความรู้สึกในที่ประชุมฯ..นอกจากผมจะดีใจที่ได้ครูกลับคืนมา เพราะปกติครูท่านนี้ก็สอนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เงินเดือนจาก สพฐ. ผมต้องนำเงินโรงเรียนจ่ายย้อนหลังให้ถึง ๒ เดือน ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ก็คือทัศนะมุมมองที่ผมมีต่อท่าน ผอ.เขตฯ

        ท่านเป็นเจ้านายที่แปลกมาก..ในเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และมองดูว่าน่าจะตึงเครียด เป็นงานเป็นการ..แต่ท่านจะพูดให้ผ่อนคลาย ด้วยอารมณ์ขัน แต่สอดแทรกสาระและมีหลักเกณฑ์แบบที่ตรงประเด็น ตลอดจนมีบทสรุปให้เป็นที่เข้าใจได้..

        อันนี้หรือเปล่า? ที่เขาเรียกว่าท่าทีที่มีเสน่ห์ คือมีอารมณ์ขัน แบ่งปันความสุขได้ทุกเมื่อ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บุคลิกท่าทางที่สบายๆ แต่ส่วนลึกก็แฝงไว้ด้วยความจริงจังตั้งใจ..ใครๆก็อยากรับฟัง อยากเข้าใกล้ และอยากเสวนาด้วย..

        ผมคิดว่า..เสน่ห์ของคนเรา มิใช่อยู่ที่อารมณ์ขันอย่างเดียว รอยยิ้มก็น่าจะใช่ รวมไปถึงจังหวะจะโคนในการพูด สายตาแห่งความอ่อนโยน เป็นภาพโดยรวมของคำว่าเสน่ห์ที่จำเป็นอย่างยิ่ง..เป็น “น้ำจิ้มของชีวิต” ที่ฝึกได้ และควรหมั่นแต่งเติมไว้ในหัวใจอยู่เสมอๆ

        หลายคนไม่เคยใส่ใจด้วยซ้ำ มองไม่เห็นคุณค่าของน้ำจิ้ม..ทั้งที่รู้ว่าชีวิตแข็งกระด้าง ทำงานไม่ราบรื่น ขื่นขมกับผู้ร่วมงาน พาลจะเป็นลมทุกครั้งที่เห็นงานไม่ลงตัว..

        หากจะปรับ..ก็ต้องปรับที่ตัวเราเอง..ทำให้ดีขึ้นในแบบที่ไม่เหมือนเดิม เริ่มจากอารมณ์ ที่สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ ในที่ทำงานก็จะต้องไม่ใช้ความเกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน และควบคุมอารมณ์ได้ในช่วงเวลาที่คับขัน

        ความคิดสร้างสรรค์ ก็ถือเป็น “น้ำจิ้มของชีวิต” ลองคิดใหม่ทำใหม่ ให้เกิดบรรยากาศที่กระตุ้นและท้าทาย เกิดแรงขับเคลื่อนเชิงบวก ก็ถือว่าได้เริ่มต้นแนวคิดที่สร้างสรรค์แล้ว

        ท้ายที่สุด..การทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ และมีอารมณ์ขัน หมั่นสร้างมิตรด้วยรอยยิ้ม ล้วนเป็นบุคลิกหรือท่าที..ที่เป็น “เสน่ห์” นั่นเอง

        อย่าลืมว่าอาหารอร่อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวอาหารเท่านั้น อย่างเช่นอาหารทะเล แม้จะใหม่สดขนาดไหน ความอร่อยก็ยังต้องพึ่งพาน้ำจิ้ม..

        ดังนั้น..งานก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะถูกต้อง ครบถ้วน เรียบร้อยไม่มีที่ติ แต่ก็เหมือนจะขาดๆเกินๆ ไม่ได้ดั่งใจ ก็เพราะงานนั้น..ขาดน้ำจิ้ม..

        ที่เกิดจากหัวหน้างาน..ที่ต้องปรับปรุง และฝึกทักษะทางอารมณ์ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ตั้งใจปฏิบัติงาน และมีเสน่ห์ในท่าทีและบุคลิกของตนเอง

        เรื่อง “น้ำจิ้มของชีวิต”ของคนเรานั้น คือสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เราสามารถเติมเต็มให้เกิดความแตกต่างได้เสมอ..โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ในทุกๆเรื่อง..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๐  มกราคม  ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 674336เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2020 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2020 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท