ชีวิตที่พอเพียง 3583. ลอนดอน ๒๕๖๒-๒ : ๙. บรรยากาศของการประชุม PMAC 2021 Preparatory Meeting



บันทึกนี้เป็นการใคร่ครวญสะท้อนคิด มองการประชุมที่ลอนดอนในภาพรวม

นี่คือการประชุมเตรียมจัด PMAC 2021 ครั้งที่ ๑   แต่มีการคุยกันบ้างแล้วในการประชุมที่โตเกียวเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๒  (๑)    โดยที่หัวข้อการประชุม PMAC 2021 คือ Global Health in the SDG Era : From Words to Action (ชื่อเบื้องต้น)

ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๔๐ คน    เต็มห้องประชุมที่ Club House   หรือกล่าวใหม่ว่าล้นห้อง    และผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็กระตือรือร้นในการทำงาน    โดยที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบดีมาก    ตรงนี้เป็นความสามารถของ ศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา ในการหาอาสาสมัครจากหน่วยงาน co-host    ให้มี Lead Coordinator  และ Co-coordinator ในฐานะตัวแทนหน่วยงาน    รับผิดชอบงานแต่ละส่วน  ได้แก่ overarching theme รับผิดชอบโดยคุณ Wivina แห่ง UNICEF    และมีตัวแทนหน่วยงาน co-host รับผิดชอบเป็น Coordinator ของแต่ละ subtheme   โดยมี co-coordinator จาก co-host อื่นด้วย   

การประชุมครั้งนี้ เป้าหมายคือ ทำให้เป้าหมายของการประชุมในภาพใหญ่มีความชัดเจน    รวมทั้งเป้าหมายของแต่ละ Sub-theme มีความชัดเจนด้วย    โดยไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่เชื่อมโยงกัน   

ได้ตกลงกันตั้งแต่ประชุมที่โตเกียวเมื่อเดือนเมษายน ว่ามี ๔ subtheme คือ (1) Geopolitics  (2) Demography  (3) Environment  และ (4) Technology    แต่ละหัวข้อ เป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง    ที่ทำให้ระบบสุขภาพจะต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปตั้งรับ    หรือเข้าไปนำมาใช้ประโยชน์    เช่นกรณี disruptive technology  

แต่เมื่ออภิปรายกันเรื่องเทคโนโลยี ก็มีคนเสนอว่า    อย่าไปหลงอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือล้ำยุคมากเกินไป    ยังมีเทคโนโลยีพื้นๆ ที่เรียกว่า appropriate technology ที่ใช้ได้ผลดี  แต่ถูกมองข้าม น่าจะเอามาพูดถึงเป็นตัวอย่าง   

การประชุมนี้จัดสองวันครึ่ง    สองวันแรกจัดที่ Club House ตรงข้ามถนนกับ St. James’s Square Garden   จ่ายค่าสถานที่ อาหารว่าง และอาหารกลางวัน ๖,๒๐๐ ปอนด์ ต่อสองวัน    ส่วนวันที่สามครึ่งวันประชุมที่ Chatham House ซึ่งห้องแคบ    เพราะที่คลับเฮ้าส์ห้องใหญ่ไม่ว่าง    มีแต่ห้องเล็กเท่าของ Chatham House   เราจึงเลือกใช้ของ Chatham House ซึ่งราคาถูกกว่า   

หัวข้อของการประชุมระบุ SDG (ถึงปี 2030)    แต่ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ควรมองไกลกว่านั้น    คือมองไกลถึงปี 2050  หรือ 2100 ไปเลย 

หน่วยงานที่เข้ามาร่วมส่วนที่เป็นองค์การเฉพาะด้านขององค์การสหประชาชาติ  มีเป้าหมายทำงานตามภารกิจ    เรียกว่ามี agenda ของตนเอง    ต้องการใช้ PMAC เป็นเวทีสร้างผลงานของตน    ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย    แต่หากเอียงไปที่เป้าหมายเฉพาะของหน่วยงานมากไป     ก็จะมีคนเสนอความเห็นแย้งหรือขยาย    เป็นบรรยายกาศสร้างสรรค์มาก

หัวใจอยู่ที่ความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์และระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น    จึงต้องการเวทีที่มีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ “เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์” (for the benefit of mankind) ร่วมกัน     ซึ่งตรงกับอุดมการณ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก     ที่ยังสั่งสอนพวกเราโดยที่พระองค์เสด็จสวรรคาลัยแล้ว    และการมี PMAC เป็นการตอกย้ำอุดมการณ์นี้  

หน้าที่ของผมคือไปฟังแล้วใคร่ครวญสะท้อนคิด    หาวิธีทำงานให้เพิ่มคุณค่ายิ่งขึ้น    ซึ่งก็ทำได้ยาก เพราะผมไม่สันทัดสาระที่เกี่ยวข้องกับการประชุม    แต่เมื่อได้ฟังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน ก็ประเทืองปัญญายิ่งนัก 

จะให้ประเทืองปัญญาจริง    ต้องค้นต่อครับ    จึงจะเข้าใจลึก    เพราะเรื่องที่พูดกัน มีที่มาที่ไป    มีมิติที่ลึก    เราฟังจับประเด็นและคำได้บ้างไม่ได้บ้าง    ในมิติที่ลึกที่สุดในสายตาของผมก็คือ ระบบต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น มันไม่สมบูรณ์ มันมีตำหนิ หรือมีจุดอ่อน    มันทั้งส่งเสริมและขัดกันไปมา    เป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (complex adaptive systems)    และมันมีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัว                       
วิจารณ์ พานิช

 ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒

บน TG 917   กลับกรุงเทพ


หมายเลขบันทึก: 673664เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2019 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2019 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท