สังคมไทยเกิดอะไรขึ้น? กับเรื่อง “โหวตสวนมติพรรค” และหลักการ Free mandate


 

ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

 

      ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวการเมืองใน โซเชียล มีเดีย กล่าวขานถึงประเด็นสำคัญมากๆ ประการหนึ่งนั่นคือ “การโหวตสวนมติพรรค” ของ สส.

          ทำให้สงสัยว่าสังคมไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น? ความจริงกับการรับรู้มันกลับหัวไปหมด เราหลงทางหรือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังจะไปไหน

          แกนนำพรรคต่างๆ ออกมาให้ข่าวถึงมาตรการที่จะจัดการหรือลงโทษ สส. ที่โหวตสวนมติพรรค ซึ่งประชาชนที่อ่านข่าวต่างก็แสดงความคิดเห็นในทางลบกับ สส. ที่โหวตสวนมติพรรค และเห็นด้วยกับการขับไล่ สส. ออกจากพรรคตามที่แกนนำให้ข่าวไว้ แต่เมื่อพิจารณาแก่นสาระของข่าวแล้ว ผู้เขียนพบว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงค้นคว้าและนำมาวิเคราะห์ดังนี้ครับ


 

“มติพรรค” ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย

          'มติพรรค' ไม่มีบทนิยามอยู่ในกฎหมายใด ทั้งในรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ หรือกฎหมายใดของ กกต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีสภาพบังคับต่อ ส.ส. ว่าต้องปฏิบัติตาม อาจจะเป็นไปได้ที่มีพรรคการเมืองใดบัญญัติไว้ในข้อบังคับของพรรคตนเอง แต่นั่นคือการกระทำผิดรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ


 

หลัก Free Mandate ในมาตรา 114 รัฐธรรมนูญฯ 60

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 114 บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

      

         หลัก Free Mandate มีที่มาจากเยอรมนี ในสมัย ฮิตเลอร์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ และพรรคนาซีได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งความเป็นเผด็จการของฮิตเลอร์นั้นคือ เผด็จการรัฐสภา ด้วยการสั่งให้สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติตามมติพรรคนาซีจนนำมาซึ่งหายนะของชาติ และไม่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถควบคุมสมาชิกรัฐสภาให้อยู่ใต้อาณัติของตนได้

       จึงได้วางหลักอิสระของสมาชิกของรัฐสภาในการลงมติหรือโหวตได้อย่างเสรีเรียกว่า “หลัก Free Mandate” อันสะท้อนกลับไปถึงเสรีภาพของประชาชนในการไม่ถูกครอบงำในการตัดสินใจ และเพื่อป้องกันผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาครอบงำสมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคการเมืองได้ อีกทั้งยังช่วยรักษาความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคการเมืองไว้ด้วย


 

วิเคราะห์ประเด็น “ทรยศ” ประชาชนหรือไม่ และพรรคการเมืองสามารถขับพ้นพรรคได้หรือไม่?

          หาก สส. โหวตสวนมติพรรคในเรื่องนโยบายที่หาเสียงไว้ ย่อมเสมือนการทรยศประชาชนที่เลือกมาตามนโยบายหรืออุดมการณ์ที่หาเสียงไว้ แต่หากโหวตในประเด็นอื่นหรือประเด็นใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้อง สส. ย่อมต้องได้รับหลักอิสระและเสรีภาพในการตัดสินใจโหวต จึงไม่ถือเป็นการทรยศประชาชน แต่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

          หาก สส. โหวตสวนมติพรรค พรรคการเมืองสามารถขับพ้นการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เนื่องจากว่า รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 101 ได้วางหลักไว้ว่าสมาชิกพรรคจะสิ้นสุดลงเมื่อ ลาออก ขาดคุณสมบัติ เช่น อายุไม่ถึงเกณฑ์ หรือขาดการชำระค่าสมาชิกเกิน 2 ปี และใน (9) ได้บัญญัติไว้ว่า

          “พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และ สส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้า สส. ผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว

        หมายความว่าพรรคการเมืองสามารถขับ สส. ออกจากพรรคได้ และ สส. ที่ถูกขับออกจากสมาชิกพรรคสามารถไปหาพรรคใหม่ไปสังกัดได้ภายใน 30 วัน

     ดังนั้นการถูกขับออกจากพรรคไม่ได้ทำให้ผู้ที่โหวตสวนมติพรรคพ้นความเป็น สส. ไป แต่กลับเป็นผลเสียของพรรค เพราะเสียจำนวน สส. ไป และไปเพิ่ม สส. ให้พรรคอื่น

    แต่การลงมติขับออกจากพรรคด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า “โหวต สวนมติพรรค” ย่อมเป็นประเด็นที่ไม่ชอบธรรมเนื่องจากขัดหลักประชาธิปไตย และฝ่าฝืนมาตรา 114 แห่งรัฐธรรมนูญฯ


 

บทสรุป

          การที่แกนนำพรรคการเมืองออกมาให้ข่าวว่า “จะจัดการ” “ขับออกจากพรรค” “ลงโทษ” สส. ที่โหวตสวนมติพรรค ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนา และการกระทำที่เป็นความผิดขัดต่อ มาตรา 114 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และหากพรรคใดมีข้อบังคับพรรคอันขัดกับหลัก Free mandate ย่อมไม่มีผลบังคับโดยปริยาย

        Mandate แปลว่า อาณัติ ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง ข้อบังคับ คำสั่ง หรือ การมอบหมายให้ปกครอง เป็นต้น

        ต่อให้พรรคการเมืองใดมีข้อบังคับว่า ห้ามโหวตสวนมติพรรค ข้อบังคับนั้นย่อมไม่มีผลบังคับใช้เพราะขัดรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด และขัดกับหลักประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

 

          ผู้เขียนจึงสงสัยว่า ประชาชนอาจจะเป็นไปได้ที่ถูกโน้มน้าวให้คล้อยตามหลงเชื่อได้ง่าย แต่ สส. หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส. ที่เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย น่าจะรู้หลักวิชาการประชาธิปไตยบ้างหรือเคยอ่านรัฐธรรมนูญบ้าง อาจจะเป็นไปได้ว่าอาจารย์สอนกฎหมายที่จบต่างประเทศไม่ได้เรียนกฎหมายไทย แต่กลับมาออกอาการขัดขวางเสรีภาพของ สส. ที่แสดงความคิดเห็นออกเสียงที่แตกต่าง โดยใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

          ....คนไทยกำลังเข้าใจอะไรกันอยู่? เมื่อ สส. ไม่ทำตามหลักเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้าม สส. ที่ใช้เสรีภาพกลับถูกประนาม เราไม่รุ้สึก เอะใจอะไรกันบ้างเลยหรือ? ใครกันเผด็จการ ใครกันประชาธิปไตย

 

        การที่บุคคลพยายามขัดขวางหลัก Free mandate เสรีภาพในการตัดสินใจลงมติของสมาชิกรัฐสภาหรือ สส. จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

         แต่เดี๋ยวก่อนเรื่องใหญ่เลยนะถ้า กกต. ไปตีความอย่างผมที่ความรู้น้อยว่า เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะใน พรป. พรรคการเมืองฯ 2560 มาตรา 92 (2) บัญญัติไว้ว่า
         "กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

             หาก กกต. พิจารณาหลักฐานแล้วเห็นควรเชื่อได้ว่า พรรคใดกระทำการดังกล่าว ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น


         การออกมาให้ข่าวกันหน้าตาเฉยว่าจะจัดการคนที่โหวตสวนมติพรรคนั้นสะท้อนปรากฎการณ์อะไรบ้างในสังคมไทย ประชาชนอ่านข่าวแล้วรู้สึกอะไรบ้าง คล้อยตาม? โดยไมรู้สึกเอะใจสักนิดว่า นั่นคือการขัดขวางเสรีภาพผู้แทนที่มาจากประชาชนนะ กฎหมายน่าจะห้ามไว้ แล้วเราหยิบมือถือมาค้นกันหรือไม่ ส่วนผู้แทนราษฎรหรือผู้มีอิทธิพลในพรรคการเมืองที่ออกมาให้ข่าวเช่นนั้นแล้วจะถือว่าเป็นที่ผู้เลื่อมใสในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้อย่างไร

หมายเลขบันทึก: 673625เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2019 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2021 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท