ชีวิตที่พอเพียง 3573. ใช้มาตรฐาน KM ISO 30401 เป็นลมส่ง : ๑๐. บทส่งท้าย



The International Organization for Standardization (ISO) เผยแพร่ ISO 30401 : 2018 – Knowledge management systems – Requirement (๑)  เมื่อปี ๒๕๖๑   เสนอมุมมอง และวิธีการเชิงระบบ ต่อการจัดการความรู้    และ เว็บไซต์ของ สวทช. เสนอภาพรวม หรือข้อสรุป เป็นภาษาไทย ที่ดีมาก ไว้ที่ https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/knowledge-management/12481-iso-30401

ในบันทึกชุด ใช้มาตรฐาน KM ISO 30401 เป็นลมส่ง นี้ ผมตีความ (และบางครั้งเพิ่มเติมความเห็นของผมเอง หรือเถียง ISO) นำมาเสนอเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย    ในการประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ เพื่อการเรียนรู้ที่ทรงพลังจากการทำงาน    เกิดมาตรฐานการทำงานที่ได้ประโยชน์สามต่อ คือ (๑) ผลงานคุณภาพสูง มีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา    (๒) การทำงานเป็นเครื่องมือพัฒนาคนที่ทรงพลังที่สุด  และ (๓) ประสบการณ์และความรู้ที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นตัวสร้างองค์กร ให้เป็นองค์กรเรียนรู้   

สาระหลักของ ISO 30401 เรียกว่า องค์ประกอบที่จำเป็น (requirement) ของการจัดการความรู้  มี ๑๐ องค์ประกอบ    ที่ช่วยให้มีการใช้เครื่องมือ KM อย่างเป็นระบบ และดำเนินการอย่างครบองค์ประกอบ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ระบบ KM เองเป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัว

องค์ประกอบของการจัดการความรู้ ตามที่ระบุใน ISO 30401 : 2018 ได้แก่

  • (๑) ขอบเขต
  • (๒) เอกสารอ้างอิงทั่วไป (ไม่มี)
  • (๓) คำศัพท์และนิยาม
  • (๔) บริบทขององค์กร
  • (๕) ภาวะผู้นำ
  • (๖) การวางแผน
  • (๗) การสนับสนุน
  • (๘) การดำเนินการ
  • (๙) การประเมินสมรรถนะ
  • (๑๐) การปรับปรุง

ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบสำคัญมี ๘ ประการ    เพราะองค์ประกอบที่สองไม่มี และองค์ประกอบที่สามเป็นเครื่องช่วยทำความเข้าใจภาษาที่ใช้เท่านั้น    จุดสำคัญคือต้องดำเนินการจัดการความรู้โดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง ๘ ไปพร้อมๆ กัน    การจัดการความรู้จึงเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนมาก  ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายแง่หลายมุม   

โปรดสังเกตว่า เอกสาร ISO 30401 : 2018 นี้ ไม่ยกเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นองค์ประกอบหลักของการจัดการความรู้    แต่จัดรวมอยู่ในองค์ประกอบที่ ๗ การสนับสนุน   เป็นการบอกโดยนัยว่า ระบบไอทีเป็นเพียงตัวช่วย  ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ    ผมตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า ISO 30401 : 2018 ให้ความสำคัญต่อไอทีน้อยไปหรือเปล่า    ในยุคปัจจุบัน ไอทีสามารถช่วยอำนวยความสะดวกได้ในทุกองค์ประกอบที่จำเป็น    โดยที่การใช้ไอทีอย่างชาญฉลาดน่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการจัดการความรู้ที่สำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน และอนาคต

โปรดสังเกตว่า ISO 30401 : 2018 เน้นที่การจัดการ    เน้นเชื่อมโยงการจัดการองค์กร กับการจัดการความรู้ ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน    เน้นการจัดเงื่อนไขต่างๆ ให้ความรู้ “ออกฤทธิ์” เพื่อเป้าหมายของธุรกรรมขององค์กร    และหากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กำหนด ก็ต้องมีการเข้าไปจัดการ    เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และหาทางทำให้ปัญหากลายเป็นโอกาสพัฒนา  

เมื่อเน้นที่การจัดการ เรื่องภาวะผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง    เอกสารนี้ระบุบทบาทของผู้นำระดับสูงต่อระบบจัดการความรู้ไว้อย่างชัดเจนมาก  

ผมฝันอยากให้วงการจัดการความรู้ของไทย  นำเอา ISO 30401 : 2018  และแนวทางอื่นๆ เช่น ที่ระบุไว้ใน หนังสือขอบฟ้าใหม่ในการจัดการความรู้ (๒)    จัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร (๓)และอื่นๆ    แล้วนำประสบการณ์ และข้อเรียนรู้จากประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีหลักการที่เป็นระบบช่วยชี้นำ  

ขณะนี้ สคส. และองค์กรภาคีได้ร่วมกันดำเนินการ เครือข่ายองค์กรสมรรถนะสูง (HPON – High Performance Organization Network) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือ KM ในบริบทขององค์กรขนาดใหญ่    ในลักษณะของกิจกรรมเหย้าเยือน (๔)    ผมหวังว่า การประยุกต์ใช้ ISO 30401 : 2018 เข้าไปในกิจกรรมนี้ จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ KM ขององค์กรสมาชิกเครือข่าย    อันจะนำไปสู่การยกระดับการเรียนรู้จากการทำงานในองค์กรไทย    นำพาประเทศไทยสู่ความวัฒนาถาวรในยุคที่องค์กรต้องการการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว           

วิจารณ์ พานิช

 ๑๐ กันยายน ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 673517เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2019 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2019 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท