๑,๐๓๓ การสอนภาษาไทย..ไว้ใจผม


คุณครูต้องรับรู้และเข้าใจ..ว่าถ้าผู้เรียนอ่อนภาษาไทย จะก้าวต่อไม่ได้เลยในทุกวิชา แต่ถ้ารู้ภาษาได้เหมาะสมกับวัย จะเรียนรู้สิ่งใดก็ไม่มีปัญหา..

        ผมพูดกับครูแบบนี้จริงๆ เพราะผมรักและเชี่ยวชาญอย่างมาก อันเนื่องมาจากผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่สอนหนังสือทุกวัน ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ บางสัปดาห์ต้องเพิ่มรอบการสอน ในเช้าวันเสาร์ด้วย

    สอนทุกวันทำให้เกิดทักษะและรู้ปัญหาอย่างแท้จริง เพียรพัฒนาตนเองและผู้เรียนไปพร้อมๆกัน ผมจะทำให้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ได้..

        คุณครูต้องรับรู้และเข้าใจ..ว่าถ้าผู้เรียนอ่อนภาษาไทย จะก้าวต่อไม่ได้เลยในทุกวิชา แต่ถ้ารู้ภาษาได้เหมาะสมกับวัย จะเรียนรู้สิ่งใดก็ไม่มีปัญหา..

        แน่นอนที่สุด เราไม่ควรจัดการเรียนรู้เพื่อไปรับรางวัลหรือเพื่อการจัดอันดับที่ดีขึ้น แต่ภาษาไทย..จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนทักษะชีวิตที่มีพลัง รู้จักที่จะสื่อสารและดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข..

        ผมจึงเน้นย้ำการสอนอ่านและเขียน..โดยถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้..ถ้าเด็กอ่านได้ ไปจนถึงอ่านคล่อง..จะสอนการเขียนได้ไม่ยาก

        การอ่านจึงมาก่อนเสมอ ทำให้การอ่านเห็นผลเป็นรูปธรรมในภาคเรียนที่ ๑ จากนั้นภาคเรียนที่ ๒ ต้องจริงจังที่จะฝึกทักษะการเขียน..มิใช่เพราะเตรียมตัวเข้าสู่สนามทดสอบระดับชาติ แต่เป็นเพราะการสอนเขียน ฝึกยากและต้องใช้เวลา..

        อาจไม่สำเร็จได้ในปีเดียว..ครูก็ต้องรอ และพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

        ป.๑ – ป.๓ ตัวชี้วัดจะพุ่งเป้าไปที่เขียนเรื่องจากภาพ แต่ชั้นป.๔ – ๖..เริ่มมีหัวข้อ ต้องเรียบเรียงให้ตรงประเด็น และเน้นเนื้อหาสาระมากขึ้น..

        วันนี้..ผมสอนป.๔ เริ่มต้นทบทวนความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์(เรื่องจริง) กับการเขียนเรื่องจากจินตนาการ (เพ้อฝัน)

        การฝึกทักษะการเขียนมีหลากหลายรูปแบบ ครูจะใช้แบบใดก็ต้องดูพื้นฐานผู้เรียน ว่ามีความถนัดและความสนใจมากน้อยแค่ไหน อย่าลืมว่าผู้เรียนมีความแตกต่าง ในเวลาที่เท่ากัน..จะเรียนรู้ช้าหรือเร็วได้ไม่เท่ากัน..

        ผมใช้กระดานเป็นตัวช่วยในการสอนเขียนเรื่องจากจินตนาการ..ผมเริ่มต้นเรื่อง โดยที่ไม่มีชื่อเรื่อง..เนื้อเรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปให้นักเรียนเป็นคนเล่า ผมให้พูดทีละคนจากนั้นให้เพื่อนๆช่วยกันตัดสินใจว่าจะเลือกประโยคใดของเพื่อน เพื่อต่อเรื่องของครูให้ดำเนินต่อไป..

        เด็กๆจะช่วยกันพูดช่วยกันต่อความอย่างสนุกสนาน เพราะมันไม่ใช่เรื่องจริง จะพูดหรือเขียนอย่างไรก็ได้..ใช้เวลาไม่นานเรื่องก็ดำเนินไปจนจบ..

        ข้อดีของการสอนแบบนี้คือ เด็กได้มีโอกาสพูดอภิปราย เด็กเรียนช้าได้แสดงออก และเด็กได้คิดเอง เท่ากับว่าครูได้สร้างความเชื่อมั่นให้เขา ท้ายที่สุดก็ช่วยกันตั้งชื่อเรื่องให้ตรงกับความคิดรวบยอดของเนื้อหา..

        ที่ผมกล่าวมาเป็นการสอนเขียนที่ง่ายและสนุกที่สุด และถ้าจะให้เด็กสนุกและมีความสุขมากกว่านี้ ผมก็เลยแจกกระดาษให้นักเรียนไปเขียนเรื่องเอง และบอกให้นักเรียนวาดรูปประกอบเรื่องมาด้วย..

        การวาดรูประบายสี คือสีสันและแรงจูงใจที่จะช่วยให้นักเรียนเขียนเรื่องได้ดี

        ผมบอกครูอยู่เสมอว่า..เราจะสอนวิชาใดก็ตาม เราต้องสอนภาษาไทยควบคู่กัน แบบที่เรียกว่าบูรณาการ ครูไม่ต้องถึงกับเชี่ยวชาญและไม่ต้องหาเหตุผลข้ออ้างอื่นใดมาปฏิเสธการสอน

        เพราะเราเป็นครู..ในแผ่นดินไทย..สื่อสารด้วยภาษาไทย ที่เป็นภาษาอันเป็นมรดกและเอกลักษณ์ประจำชาติ

        ผมเชื่อว่า..ถ้าเราไม่ผลักภาระการสอนภาษาไทยไปให้แต่ครูเอกภาษาไทย และนักศึกษาวิชาชีพครูทุกสาขา พัฒนาตนเองเรื่องภาษาไทยอย่างจริงจัง เด็กไทยน่าจะก้าวไกล เติบโตไปอย่างรู้ประสา(ภาษา) สื่อสารได้สมวัยไม่สร้างความหนักใจให้สังคม..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 673315เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2019 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2019 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท