บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน ๑๑. AAR ของทีมไทย



บันทึกชุด บันทึกจากการประชุม Creativity and Critical Thinking ที่ลอนดอน นี้    เป็นการสะท้อนคิดของผม จากการไปร่วมประชุม Creativity and Critical Thinking Skills in School : Moving the Agenda Forward. An international conference organised by the OECD Centre for Educational Research and Innovation (CERI)   24-25 September 2019 - London, UK.   Nesta HQ - 58 Victoria Embankment, EC4Y 0DS (๑) โดยไปกับทีม กสศ.   มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. เป็นหัวหน้าทีม  

เย็นวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ การประชุมจบลงอย่างชื่นมื่น    ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องกันว่าการประชุมประสบความสำเร็จอย่างงดงาม     OECD ได้ทำประโยชน์ในการเป็นองค์กรนำ ดำเนินการพัฒนา CCT (Creativity & Critical Thinking) เข้าสู่การศึกษาทั้งระดับพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา    

ที่จริงโครงการของ OECD ชื่อ Fostering and Assessing Creativity and Critical Thinking Skills in Education     ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2015   ด้วยความเชื่อว่าทักษะทั้งสองเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนในอนาคต    ผมเข้าใจว่า โครงการนี้นำไปสู่การค้นพบว่าวิธีการเรียนรู้ให้เกิด CCT คือการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกว่า การเรียนรู้ครบด้าน (holistic learning) หรือในที่ประชุมมีคนเรียกว่า multi-dimensional learning นั่นเอง   

ตอนค่ำวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๒ ทีมไทย ๖ คน นัดกันไป AAR กันที่ร้านอาหาร wagamama ที่อยู่ใกล้โรงแรมที่พักนั่นเอง    กินอาหารญี่ปุ่น (แบบ fusion) ไป AAR (After Action Review) ไป   

ผมทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (facilitator) ของกระบวนการ    โดยบอกว่าการทำ AAR เป็นกระบวนการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อย่างอิสระ    เพื่อให้การไปร่วมประชุมสองวันนี้เกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น    ทำโดยตอบคำถาม ๕ - ๖ ข้อ ต่อไปนี้    ย้ำว่าเป็นการตอบจากใจตนเอง ไม่ตอบในฐานะตัวแทนหน่วยงาน

  1. 1. ที่มาร่วมประชุมคราวนี้ตนเองมีเป้าหมายอะไรบ้าง
  2. 2. เป้าหมายดังกล่าว มีข้อใดบ้างบรรลุเกินความคาดหมาย  เพราะเหตุใด
  3. 3. เป้าหมายดังกล่าว ข้อใดบ้างไม่ค่อยบรรลุ หรือไม่บรรลุเลย เพราะเหตุใด
  4. 4. หากตนจะต้องจัดการประชุมทำนองนี้ จะจัดแตกต่างจากงานสองวันนี้อย่างไรบ้าง
  5. 5. จะเอาความรู้ที่ได้จากการมาประชุมสองวันนี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง
  6. 6. จะไม่ตอบข้อใดก็ได้  และจะเพิ่มเติมคำถามขึ้นเอง เพื่อให้คำตอบ ก็ได้  

ผมแนะนำให้ผู้อาวุโสน้อยพูดก่อน  โดยจะนับอาวุโสโดยใช้อายุ  หรือตามอายุงาน หรือตาม ตำแหน่งหน้าที่ ก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน    เป้าหมายให้ผู้อาวุโสน้อยพูดก่อน เพื่อให้มีการพูดอย่างอิสระ    ไม่ถูกปิดกั้นโดยคำพูดของผู้อาวุโส ที่พูดไปก่อนแล้ว  


รศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ 

มีเป้าหมาย  (๑) ไปเรียนรู้วิธีประมวลผลข้อมูลจากผลงานวิจัยของ โออีซีดี   ที่เข้าใจว่าซับซ้อน  และเมื่อถามเขาก็ไม่ค่อยตอบ     (๒) ไปเรียนรู้วิธีการและวิธีคิด    

  เมื่อได้ไปเห็น ก็พบว่าวิธีการประมวลผลไม่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างที่คิด    ที่ได้มากคือวิธีจัดการเรียนการสอนหลากหลายแบบที่มีการนำมาแชร์กัน    ได้เรียนรู้วิธีการประเมิน  วิธีการวางหลักสูตร    ที่นำกลับไปคุยที่มหาวิทยาลัยได้

ที่ได้มากอย่างยิ่งคือเรื่อง learning environment    และวิธีการฝึกครูที่หลากหลาย

สิ่งที่คิดจะทำต่อ ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขสิ่งที่ตนทำผิด    ทั้งๆ ที่เมื่อเอาวิธีการของเขาไปดัดแปลงใช้แล้ว แต่มาฟังจากการประชุมทำให้คิดได้ว่า โรงเรียนมีธรรมชาติและระดับแตกต่างกัน    เมื่อเอาเครื่องมือไปลง ต้องไม่ทำเหมือนกันทุกโรงเรียน    และที่ผ่านมาเวลาดูคุณภาพโรงเรียน ดูเฉพาะที่คะแนนสอบ เช่น โอเน็ต    คิดว่าต้องหาเครื่องมือวัดระดับคุณภาพหรือความพร้อมของโรงเรียนที่ดีกว่าที่ผ่านมา    โดยได้จดประเด็นจากการประชุมเอาไปคิดเกณฑ์ต่อ    โดยยึดหลัก ๔ ข้อคือ ความมุ่งมั่นในการประเมิน   ความรู้ความสามารถในการประเมิน   และวัฒนธรรมในการประเมินผลของโรงเรียน    ท่านบอกว่ามี ๔ ข้อ แต่เอ่ยถึงเพียง ๓ ข้อ

ดร. ธันยวิช ประทับใจวิธีการประเมินโดยไม่ต้องมีแบบสอบถาม     แต่ประเมินที่ชิ้นงานของเด็ก ก็บอกได้ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรบ้าง    และได้เรียนรู้วิธีเก็บหลักฐานเพื่อการประเมิน    รวมทั้งประทับใจการให้นักเรียนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาหลักสูตร ร่วมคิดออกแบบกิจกรรม    จะเอาไปลองใช้

มีข้อสังเกตว่า กิจกรรมที่ให้เด็กทำ เด็กรู้สึกว่ามีความหมาย (meaningful, purposeful) มีคุณค่าสำหรับเด็ก    ทำให้เด็กรู้สึกสนุก และรู้สึกว่าจะกระทบต่อชีวิตของตน    หลักสูตรของไทยเน้นเนื้อหา  ด้อยด้านกระบวนการเรียนรู้ (process)    จะกลับไปเน้นการพัฒนา active learner   พัฒนา learning environment    มีพื้นที่ให้เด็กแสดงความคิดเห็น    สังเกตว่าในการดำเนินการที่มานำเสนอ เด็กรู้ว่าเมื่อไรจะคิดแบบไหน    มี learning about thinking  

เรื่องการให้เกียรติเด็ก ทำง่ายที่สุด    แต่ได้รับความเอาใจใส่น้อย   

จะกลับไปดูว่าโรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษามีความต้องการพัฒนาตนเองมากน้อยแค่ไหน    ซึ่งเป็นเรื่ององค์กรเรียนรู้    ต้องส่งเสริมให้ครูอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง    ไม่ใช่ให้ระบบบังคับ   


ดร. อุดม วงษ์สิงห์

คาดหวังว่าจะได้แนวทางและความรู้วิธีการสำหรับนำไปใช้ในโครงการใหม่ที่กำลังเริ่ม (โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น   และโครงการพัฒนาครูและโรงเรียน)    สิ่งที่ได้เกินคาดคือนอกจากได้รู้จัก โออีซีดีแล้ว ยังได้รู้จักหน่วยงาน CCE (Creativity, Culture and Education)    ได้เรียนรู้กระบวนการก่อนเริ่มงาน   

ประทับใจสาระของการประชุมในวันที่ ๒๓ กันยายน    รวมทั้งประทับใจรูปแบบการนำเสนอ ที่ใช้เวลาน้อย ได้สาระมาก    ประทับใจห้องย่อยเรื่อง creativity culture    วิทยากรบอกว่า การเปลี่ยนครูไม่ง่าย  ต้องใช้ความพยายามมาก    และต้องแบ่งครูเป็นสองกลุ่ม

หวนกลับมาคิดโปรแกรมที่ Paul Collard จะไปฝึกครูให้ที่ประเทศไทย คิดว่าโปรแกรมแน่นเกินไป    อาจต้องขยายวัน


ดร. ณัฐา เพชรธนู  สำนักนวัตกรรม สพฐ.  

อาจารย์ เอ มีเป้าหมายมาเรียนรู้ ๒ อย่าง  (๑) เรียนรู้เรื่อง innovation  (๒) หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ตนเองเป็นคณะกรรมการของ สพฐ.  

ได้เนื้อหามากกว่าที่คิด    ได้เรียนรู้เรื่อง CCT จากการสังเคราะห์จากทั่วโลก    เอาไปใช้ในงานปฏิรูปหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะ   ที่เรียนรู้ได้จากการอ่านเอกสาร   นอกนั้นได้น้อย   

หากจะเข้าร่วมประชุมแบบนี้อีกจะศึกษามาก่อนให้มากขึ้น    เช่นศึกษาพื้นฐานของผู้นำเสนอแต่ละคน   

ความรู้ที่ได้เพื่อนำไปใช้ในการทำงานมีมากมาย    เช่นการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา CCT ในระดับมหาวิทยาลัย    สามารถนำไปใช้ได้  โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตครู    จะหาทางผลักดัน    ที่เสียดายคือ มาร่วมงานกับ กสศ. ช้าไป   


คุณจรูญศรี แจบไธสง  สำนักนวัตกรรม สพฐ.

ประทับใจวิธีจัดการเรียนการสอนให้เกิด CCT    ที่ครูต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน    มองว่าต้องเอาใจใส่กระบวนการพัฒนาครู

จะกลับไปสอบถามโรงเรียนที่อยู่ในโครงการพัฒนา CCT   ว่าเขาต้องการพัฒนาต่ออย่างไร   


ดร. ไกรยส ภัทราวาท

เป้าหมายมีมากอย่าง    รอการประชุมนี้มานาน    และดีใจที่ทีม สพฐ. มาร่วมได้    เพราะจะกลับไปทำประโยชน์ให้แก่เด็กไทยได้มาก    ตั้งความหวังว่า เมื่อกลับไปจะเกิดทีมพัฒนา ที่อาจเรียกว่า CCT Partnership    ที่ไม่แบ่งแยกเป็นต่างหน่วยงาน ต่างกระทรวง  ต่างหน้าที่    ให้เป็นทีมเดียวกัน    หวังให้ทีมไทยมาเห็นการทำงานที่มองเห็นภาพรวม ไม่ทำแบบแยกเป็นส่วนๆ

เป้าหมายที่สอง  ต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย    จึงหาทางให้ท่านรัฐมนตรีมา    และเห็นคุณค่าของกิจกรรมนี้    ก่อนกลับท่านรัฐมนตรีบอกว่าสนับสนุนเต็มที่

เป้าหมายที่สาม ให้นักวิจัยทำงานเชื่อมโยงกัน

เป้าหมายที่สี่ อยากรู้ว่าโลกจะเดินไปทางไหนต่อ   ได้โจทย์ในการทำงานเชิงยุทธศาสตร์    เราจะได้เอากลับไปคิดเตรียมตัว                            

สิ่งที่ได้เกินคาด  ภาพลักษณ์ของไทยดีในสายตาประเทศอื่นๆ    ต่อไปเราอาจได้ร่วมงานดีๆ อีก     การที่ท่านรัฐมนตรีมากล่าวแถลงนโยบายก็ถือว่าเกินคาด 

ที่ได้เกินคาดอย่างยิ่งคือ ได้ร่วมวงคุยระหว่างท่านรัฐมนตรีณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับ Andreas Schleicher, Director for Education and Skills, OECD   เนื่องจากคุณ Andreas รู้เรื่องการศึกษาของประเทศทั่วโลก  รวมทั้งประเทศไทย    จึงสามารถให้คำแนะนำแก่ท่านรัฐมนตรีได้ตรงจุด    ว่าประเทศไทยดูแลผลประโยชน์ของครูดีมากอยู่แล้ว    และชั่วโมงสอนก็ไม่มากกว่าประเทศอื่น    แต่ผลลัพธ์การเรียนรู้ไม่ดี เพราะไม่ได้สร้าง intellectual community ในกลุ่มครู    มีผลให้คนสมองดีไม่เข้ามาเป็นครู    ประเทศที่ทำได้ดีคือเวียดนาม มีผลให้คนเก่งสนใจเป็นครู    สิ่งที่รัฐมนตรีควรทำคือ หาครูดีจำนวนหนึ่ง (ร้อยคนถึงพันคน)  นำมายกย่อง ให้เกียรติ และส่งเสริมให้ทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง    โดยต้องส่งเสริมให้เต็มที่ อย่าเสียดายเงินในการให้เกียรติ และให้โอกาสครูเหล่านี้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง     

คุณ Andreas ยกตัวอย่างวิธีการของประเทศซาอุดิอารเบีย   ที่ขอให้ โออีซีดี จัดหาครูดีเด่นพิเศษจากทั่วโลก ๑๕๐ คน มาที่ประเทศซาอุดิอารเบีย    เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูดีของซาอุดิอารเบีย สามสี่พันคน    จัดเวทีแลกเปลี่ยนทุกสัปดาห์    โดยซาอุดิอารเบียออกเงินทั้งหมด    ผลคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในวงการครู     

อีกตัวอย่างหนึ่งที่คุณ Andreas เล่าให้ท่านรัฐมนตรีฟังคือวงการศึกษาอังกฤษยอมรับว่าผลการศึกษาคณิตศาสตร์ของประเทศยังไม่ดีพอ    จึงขอความร่วมมือจากมณฑลเซี่ยงไฮ้ของจีน    ขอครูดีของจีนไปสอนที่อังกฤษ    มีการถ่ายทำวิดีทัศน์ไว้    ดูความแตกต่างระหว่างวิธีสอนของครูอังกฤษกับครูจีน    ที่ครูอังกฤษเน้นสอนห้องเรียนที่มีนักเรียนน้อย    แต่ครูจีนไม่เกี่ยงขนาดห้องเรียน    เขามีวิธีปลุกเร้าความฮึกเหิมเอาชนะโจทย์     และเมื่อทดสอบนักเรียนเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนที่ครูจีนสอน กับที่ครูอังกฤษสอน    นักเรียนที่ครูจีนสอนได้คะแนนสูงกว่า    คุณ Andreas บอกว่า คุณภาพของการสอนมีความสำคัญ    ผมลองค้นได้วิดีทัศน์นี้ (๒)ที่สะท้อนภาพห้องเรียนคณิตศาสตร์ของจีน ที่นักเรียนนั่งทำโจทย์โดยปรึกษากับเพื่อนที่นั่งเป็นคู่ๆ   ในบรรยากาศห้องเรียนที่นักเรียนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา                        

ที่น้อยไป คือเตรียมตัวมาน้อยไป    ไม่ได้ศึกษาเนื้อหามาก่อน  ไม่ได้ทำ BAR ตั้งแต่ที่เมืองไทย    ไม่ได้ตกลงกันแบ่งหน้าที่ว่าใครจะไปจับประเด็นห้องไหน เรื่องใด    หากมีการเข้าร่วมประชุมทำนองนี้อีกจะปรับปรุงเรื่องการเตรียมตัว    โดยเฉพาะด้านการไปทำความรู้จักสนิทสนมกับประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกโครงการเพื่อร่วมมือกันในอนาคต   

ที่ได้น้อยอีกอย่างหนึ่งคือ networking   ทีมไทยไม่ได้พยายามแยกย้ายกันไปทำความรู้จักผู้มาร่วมประชุม    โดยเฉพาะตอนพักเบรก    ตนเองได้ทำความรู้จักและเชิญ ศ. บาร์บาร่า  และ ศ. ซามิร่า (อิสเรล) ไปเป็นวิทยากรที่เมืองไทย  


ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

ผมนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ steering โครงการ CCT ร่วมกับ OECD มา ๓ ปี    และคิดอยู่เสมอว่า วิธีการที่ใช้ไม่น่าจะให้ผลเพียงเรื่อง CCT เท่านั้น    น่าจะให้ผลดีต่อการเรียนรู้ในภาพรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนา higher order learning    มาประชุมครั้งนี้ได้รับหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้    อธิบายได้ว่า เพราะวิธีการจัดการเรียนรู้เป็น active learning   หรือ learning by doing    ตามด้วย reflection   และยืนยันความเชื่อว่าวิธีการและแนวทางที่ โออีซีดี ใช้ทดลอง    ควรใช้ในห้องเรียนทั่วไป ไม่ใช่ใช้ในห้องเรียนที่ต้องการให้เกิด CCT เท่านั้น    เพราะจริงๆ แล้ว เราต้องการให้เด็กทุกคนได้พัฒนาศักยภาพ CCT ของตน    และจริงๆ แล้ว ต้องการพัฒนา CCT ของครูและผู้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทุกคน    หรือกล่าวให้กว้างยิ่งขึ้น ของคนไทยทุกคน

อยากมาฟังแผนงานต่อไปของ โออีซีดี ซึ่งวันนี้ก็ได้คำตอบชัด     ว่าเขาจะเน้นทำในระดับอุดมศึกษา (ดูรูปที่ ๑ และ ๒)    ทำให้รู้สึกเสียดายว่าไม่มีกลไกให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในวงนี้    และผมไปประชุมพร้อมกับคำถามมากมาย    และได้รับคำตอบต่อคำถามที่ค้างคาใจมานาน    เช่นตอนก่อนอาหารเที่ยงวันที่ ๒๕   ที่เป็นช่วงแยกการประชุมออกเป็น ๓ ห้อง    ผมไปร่วมประชุมในห้องที่คนน้อยที่สุด (ดูตอนที่ ๘) เรื่อง Partnership between formal and informal education   เพราะเห็นว่ามีเรื่องจากประเทศฟินแลนด์มาเสนอด้วย    ผมเคยอ่านจากหนังสือ Finnish Lesson 2.0  เขียนโดย Pasi Sahlberg (๓)   ที่บอกว่า การเรียนของเด็กทุกคน สองในสาม เกิดนอกห้องเรียน    เมื่อได้ฟังคุณ Ilna Berden จากกระทรวงศึกษาธิการฟินแลนด์เล่า    ว่าในการทำโครงการนำเอาศิลปะเข้าไปในห้องเรียน    เคยมีกรณีเจ้าหน้าที่โดนโรงเรียนไล่ออกมา ทำให้ผมตกใจมาก ว่าในฟินแลนด์ก็มีอย่างนี้ด้วย    คือมีภาพด้านลบด้วย    และเมื่อเอ่ยเรื่องความร่วมมือระหว่างภาคทางการกับภาคไม่เป็นทางการด้านการศึกษา     ผมหวังจะไปฟังเรื่องราวการจัดการพื้นที่เรียนรู้ 2/3 ของฟินแลนด์  แต่ผิดหวัง เขาไม่เอ่ยถึงเลย   

ผมบอกว่า ผมคิดต่างในเรื่อง “เปลี่ยนครูยาก”    ผมมองว่า “ครูดีๆ มีอยู่” เราต้องรู้จักใช้หรือส่งเสริมครูดีให้เป็น change agent   เหมือนอย่างที่คุณ Andreas แนะนำท่านรัฐมนตรีณัฏฐพล  

อีกโจทย์หนึ่งของผมคือ เราจะนำความรู้และวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในโครงการของ กสศ. อย่างไร    ทั้งในโครงการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและโรงเรียน    และในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น    และได้เสนอแนะต่อ ดร. อุดม เป็นการส่วนตัวไปแล้ว   

ผมมีความเห็นว่า กระบวนการตามแนวทางของ โออีซีดี นั้น    CCT ไม่ได้เกิดเฉพาะในนักเรียน    แต่เกิดในครูด้วย    จึงเป็นโจทย์วิจัยว่าจะวัดอย่างไรในครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง    ครูที่เกิด CCT สูง น่าจะได้รับการยกย่องให้ทำหน้าที่ master teacher   คือทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง   

ผมพยายามสังเกตผู้เข้าร่วมประชุมที่มีความสามารถสูงที่เราน่าจะติดต่อไว้สำหรับเชิญไปร่วมงานในประเทศไทย    และได้เสนอแนะต่อ ดร. ไกรยส และ ดร. อุดมแล้ว    

ผมตีความว่า โออีซีดี เป็นสมาคมของกลุ่มประเทศร่ำรวย    ที่ต้องการรักษาสถานะ และยกระดับพัฒนาการของประเทศตนขึ้นไปอีก    โดยปัจจัยสำคัญที่เขาจับคือ คุณภาพคน    และมุ่งศึกษาหาวิธีการแบบไม่รวบรัดสรุป    มีการตั้งคำถามลงรายละเอียด พยายามทำความเข้าใจแก่นหรือหลักการ   ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิธีการ    เป็นแนวทางพัฒนาระบบโดยใช้กลไกด้านวิชาการที่ประเทศไทยน่าจะได้ศึกษา  และนำไปปรับใช้   

จากรายการช่วงท้ายสุดของการประชุม ที่ปรึกษา Next Steps   เห็นชัดเจนว่าเรื่องทำนองนี้ไม่มีจุดจบ    ต้องทำและพัฒนาต่อเนื่อง    ผมมีความเห็นว่า การนำเอาความรู้ที่ได้จากการประชุม และจากโครงการ โออีซีดี   ประเทศรวยกับประเทศไม่รวยน่าจะเอาไปใช้ไม่เหมือนกัน    แต่ละประเทศต้องรู้จักปรับให้เหมาะสมต่อบริบทของตน     วิธีการที่คุณ Andreas  แนะนำท่านรัฐมนตรีณัฏฐพล ถือว่าสุดยอด      

ผมมีความเห็นว่าสิ่งที่บั่นทอนระบบการศึกษาไทยคือ “วัฒนธรรม”  ทั้งวัฒนธรรมองค์กร  และวัฒนธรรมวิชาชีพ     และตอนไปฟังในห้องย่อย Partnership between formal and informal education ผมผิดหวัง    เพราะคาดว่าจะมีการพูดประเด็นที่กว้างขวางกว่านั้นมาก  

เมื่อคิดทบทวนย้อนกลับมาพิจารณาสภาพในประเทศไทย    ใน ๑๑ ประเทศที่เข้าร่วมโครงการของ โออีซีดี    มีประเทศไทยประเทศเดียวที่ไม่มีคนหรือองค์กรด้านศิลปะเข้าร่วมด้วย    เป็นช่องทางให้เรากลับไปหาทางดำเนินการเชื่อมโยงวงการศิลปะ (และอื่นๆ) เข้าหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน    ผมชี้ให้เห็นว่า ในวงการสุขภาพ กลไกที่ไม่เป็นทางการมีบทบาทสูงมากในการร่วมสร้างระบบพัฒนาสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล    โดยที่ในหลายกรณีคนในภาคที่เป็นทางการนั้นเอง มีบทบาทส่วนที่ไม่เป็นทางการด้วย    โดยเฉพาะในบทบาทสร้างความรู้ หรือทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ    ตัวอย่างคือโครงการ DHS – District Health Systems   ที่ในที่สุดพัฒนาเป็นโครงการ พชอ. ที่รัฐบาลออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ พ.ศ. ๒๕๖๑ (๔)     

เราเสวนาครอบคลุมไปถึงการประเมินโรงเรียนของระบบการศึกษาไทย     ที่เน้นการประเมินขาเข้า    ไม่เน้นประเมินขาออก คือคุณภาพของผลการเรียนรู้ของเด็ก      

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ 


หมายเลขบันทึก: 673087เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2019 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท