อานาปานสติ ในโรงเรียนชั้นประถม


เรื่องนี้ ได้มาจากเว็บไซต์ทางการศึกษาชื่อว่า Edmodo.com เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 62 น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของ การนำอานาปานสติมาใช้ในชีวิตจริง

คุณจาอีม กรอดเบอร์ก (Jaime Grodberg) เคยเป็นครูสอนชั้น ป. 3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งอยู่หลายปี  เธอได้งานใหม่เป็นครูสอนชั้น ป. 6 โรงเรียนใหม่อยู่ในชุมชนที่รวมตัวกันเหนียวแน่น คนที่นี่ใช้ชีวิตวัย 5-13 ปีในโรงเรียนแห่งเดียวกันนี้มาหลายชั่วคนแล้ว ครูเกือบทุกคนก็อยู่มานานพอกัน ตัวเธอจึงเป็นเสมือนคนแปลกหน้าของที่นี่ ใน 2-3 สัปดาห์แรก เธอรู้สึกว่า นักเรียนมองว่าเธอเป็นคนนอก ทำท่าเหมือนอยากจะทดสอบเธออยู่ทุกวัน ว่าจะสามารถทำให้เธอสติแตกได้หรือเปล่า ใน 2-3 เดือนแรกเธอจึงคิดอยู่บ่อยครั้งว่า คิดผิดหรือเปล่า ที่ย้ายมาอยู่โรงเรียนนี้ ทำให้เธอรู้สึกว่าต้องเรียนรู้ใหม่ว่าจะจัดการกับตัวเองอย่างไรดี

เธอย้อนระลึกถึงวิชาการฝึกสมาธิและโยคะที่เธอเคยเรียนรู้มา ดังนั้น หลายครั้งเมื่อเธอรู้สึกว่านักเรียนกำลังทดสอบความอดทนของเธอ เธอก็จะหยุด หลับตาสักครู่ ตั้งสติที่ลมหายใจเข้าออก ทำให้เธอหลีกเลี่ยงการแสดงปฏิกิริยาที่ไม่ดีออกมาได้

ต่อมาอีกไม่นาน นักเรียนบางคนคงจะโกรธหรือไม่พอใจครูที่สอนในชั่วโมงก่อนหน้า มาแสดงอารมณ์ค้างในชั่วโมงของเธอ กว่าเธอจะลงมือสอนได้ ต้องเสียเวลาจัดการพักใหญ่ เป็นเช่นนี้อยู่ 2-3 วัน เธอจึงคิดจะนำวิชาฝึกสมาธิเข้ามาจัดการ

ครั้งแรกที่เธอเสนอเรื่องนี้ นักเรียนทำท่าไม่ค่อยเชื่อ เธอบอกว่าจะชวนให้ใช้เวลานั่งเงียบๆกันเพียงไม่กี่นาที โชคดีที่นักเรียนส่วนมากไม่รังเกียจที่จะลองดู ทุกคนหลับตา พร้อมกันหายใจเข้าลึกๆและออกลึกๆ ติดต่อกันสามครั้ง พลังงานภายในห้องเรียนก็เปลี่ยนไป แทบจะทันที จากความตึงเครียดกลายเป็นความสงบ หลังจากนั้น 2-3 นาทีเธอก็ให้นักเรียนหันมาสนใจกับสภาพปกติของห้องเรียน เธอพยายามสอบถามความรู้สึกของนักเรียน ไม่มีใครยอมตอบ แต่นักเรียนก็ยินดีฝึกเช่นนั้นทุกวัน อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมานักเรียนจึงเริ่มคุยกัน ถึงความรู้สึกในเรื่องนี้ และมีการฝึกกันตลอดทั้งปี นักเรียนและครูรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันมากขึ้น สนใจการเรียนการสอนมากขึ้น และผลการเรียนดีขึ้น และนักเรียนพูดตรงกันอย่างหนึ่งว่า เมื่อรู้สึกว่ามีปัญหา เราก็แค่หยุด หลับตาสักครู่ ตั้งสติที่ลมหายใจเข้าออก

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

25 ตุลาคม 2562

หมายเลขบันทึก: 671856เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2019 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท