สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๒๖. บทส่งท้าย


บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๒๖. บทส่งท้าย นี้ เป็นบันทึกสุดท้ายของบันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน    ตีความจาก Epilogue   และจากการใคร่ครวญสะท้อนคิดของผมเอง      

สาระหลักของบันทึกนี้คือ  เพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำหน้าที่ครูที่ สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ครูต้องสร้างระบบ “ตัวช่วย” ให้แก่ตนเอง    เพื่อให้สามารถดำรงความมีกำลังใจ มีสติอยู่กับความมุ่งมั่น “ครูเพื่อศิษย์”    ไม่พ่ายแพ้ต่อแรงเฉื่อย และแรงเฉ จากสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และสภาพในโรงเรียนที่ไปในทางตรงกันข้าม  

หนังสือบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา ครูที่ได้ชื่อว่ามีผลงานยอดเยี่ยม (สอนแล้วศิษย์ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้เท่ากับเรียน ๒ ปี  ในเวลาเรียนปีเดียว) ประสบความสำเร็จเพราะสอนนักเรียนขาดแคลนนี่เอง    และโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่นก็บรรลุได้จากกระบวนทัศน์ “ไม่แก้ตัว”   แต่มุ่งมั่นดำเนินการให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในการเรียน เพื่อออกไปประกอบอาชีพหรือไปเรียนต่อ    นักเรียนจะมีความานะพยายามและทำงานหนักเพราะรู้ว่าตนจะประสบความสำเร็จโดยมีครูและคนอื่นๆ คอยช่วยหนุนอย่างไม่ลดละ   

การสอนเป็นเรื่องง่าย  แต่การสอนให้ได้ผลดีเป็นเรื่องยาก  เป็นเรื่องที่เรียกร้องความพยายาม  ใจที่มุ่งมั่น  และเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเอง   ที่นำไปสู่ชีวิตที่มีความหมายยิ่ง    คือการทำหน้าที่ครูไม่ใช่แค่เป็นการทำงานตามปกติ   แต่เป็นเส้นทางสู่ชีวิตที่มีคุณค่าสูงยิ่ง    

คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นครู มากับโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ศิษย์ ในด้านเจตคติ  ศักยภาพในการเรียน  ความมานะพยายาม  และพฤติกรรมในห้องเรียน    ซึ่งเป็นความท้าทายต่อครู    แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่าทำให้สำเร็จได้  พร้อมกับแนะนำวิธีการที่หลากหลายภายใต้ ชุดความคิดทั้ง ๗   ที่เป็นวิธีการง่ายๆ แต่ได้ผลดียิ่ง    และไม่ใช่มีเพียงวิธีการในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น    ครูยังสามารถคิดวิธีการขึ้นเองให้เหมาะสมต่อบริบทของนักเรียนได้ด้วย   

แต่การอ่านหนังสือหรือบันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน นี้ ไม่สามารถช่วยให้บรรลุผลได้    จะให้เกิดผล ครูต้องลงมือทำและเรียนรู้ต่อเนื่อง     โดยที่ครูมีทางเลือก ว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้    ผมขอยืนยันว่า ครูที่เลือกทำ และทำอย่างเอาจริงเอาจังไม่ท้อถอย    ทำแล้วใคร่ครวญสะท้อนคิด เพื่อทำความเข้าใจและหาทางทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น    ทำแล้วปรึกษาหารือครูหรือผู้มีประสบการณ์และความสำเร็จมาก่อน    รวมทั้งชักชวนเพื่อนครูรุ่นราวใกล้เคียงกัน ตั้งเป็นกลุ่มปฏิบัติการและเรียนรู้    ผลลัพธ์ม่มีทางเป็นอื่น นอกจากประสบความสำเร็จในการเป็นครูที่ผลงานคุณภาพสูง     และได้มีความสุขใจจากการได้เห็นความสำเร็จของศิษย์คนแล้วคนเล่า    ที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจากนักเรียนจากครอบครัวยากจนขาดแคลน เป็นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน และในชีวิต   

ยิ่งกว่านั้น ตัวครูเองจะเกิดการเปลี่ยนแปลง (transformation) จากการฝึกเปลี่ยนชุดความคิดทั้ง ๗    กลายเป็น “มนุษย์พันธุ์บวก”  ที่มีชุดความคิดแห่งความหวัง แห่งการลงมือปฏิบัติ และแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อเนื่อง    ชีวิตของครูตัวเล็กๆ จะกลายเป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่    ที่บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายในการเป็นครูของตนเองได้    ครูที่เดินตามเส้นทางนี้ จะเป็นบุคคลที่ “ลิขิตชีวิตตนเอง” ได้    ไม่ใช่รอหรือยอมให้คนอื่นหรือระบบการศึกษามาลิขิตหรือบงการ    โดยมีเคล็ดลับคือ “ทุ่มเทเต็มที่”   ไม่มีข้อลังเลสงสัยในการทำงานหนัก และทำอย่างมีหลักวิชา (ตามในหนังสือเล่มนี้)    

หัวใจสำคัญคือ การเป็นครู ไม่ได้เป็น “กรรม” หรือผู้ถูกกระทำ    ครูต้องเลือกเป็น “ประธาน” (ผู้กระทำ) และเป็น “กริยา” (การลงมือทำ)    โดยที่การกระทำเริ่มจากการตั้งเป้าที่ท้าทาย  การวางแผนยุทธศาสตร์  ลงมือทำ  เก็บข้อมูลผลของการกระทำ นำมาสะท้อนคิด ใช้เป็น feedback  สำหรับปรับปรุงทั้งที่วิธีการและที่เป้าหมาย ที่เรียกว่า double-loop learning   เท่ากับชีวิตครูเป็นชีวิตที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา    และการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง(transformative learning)    ผ่านเป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือ สร้างการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตนเองให้แก่ศิษย์ทุกคน

เพื่อการนี้ เขาแนะนำชุดคำถาม ๕ ข้อให้ครูตอบ ดังต่อไปนี้

  • เมื่อคุณเป็นนักเรียน ครูคนไหนบ้างที่ทำให้คุณทำงานหนัก    ครูคนไหนบ้างที่สร้างแรงจูงใจให้คุณตั้งใจเรียน ทำงานหนัก และทำการบ้านครบ    ครูเหล่านี้มีคุณสมบัติที่ดีอะไรบ้าง    คุณจะทำในทำนองเดียวกันได้อย่างไร
  • เมื่อคุณได้รับรู้เรื่องราวของครูที่มีผลงานเด่น คุณรู้สึกอย่างไร    คุณรู้สึกทึ่งและมีแรงบันดาลใจ   หรือรู้สึกว่าถูกคุกคาม และไม่สนใจความสำเร็จนั้น
  • เมื่อคิดถึงวิชาชีพครู คุณรู้สึกว่าตนเองต้องลุกขึ้นทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ   คุณรู้สึกว่าครูต้องร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำหน้าที่ครูตั้งแต่บัดนี้ ใช่หรือไม่
  • เมื่อเห็นผลคะแนนสอบของศิษย์ คุณคิดว่าเป็นคะแนนสูงสุดที่นักเรียนจะทำได้ หรือไม่    คุณคิดหรือไม่ว่า ครูสามารถช่วยยกระดับศักยภาพในการเรียนรู้ของศิษย์ให้สูงขึ้นได้ เพื่อให้คะแนนสอบสูงขึ้ไปอีก    คุณพร้อมจะทำงานนี้ไหม
  • เมื่อคุณพบว่าศิษย์จำนวนหนึ่งมีท่าทีเฉื่อยชา ไม่สนใจเรียน    คุณจะพูดกับนักเรียนกลุ่มนี้ว่าอย่างไร    คุณเชื่อไหมว่า ความมานะพยายามเป็นสิ่งที่สอนได้ พัฒนาได้    และครูช่วยได้      

เขาแนะนำให้ตรวจสอบชุดความคิดสองชุดข้างล่าง และตอบตนเองว่า ชุดไหนเป็นของตน (ผมปรับปรุงให้เข้ากับบริบทไทย)

  • “ปัญหาทั้งหลายของนักเรียน ไม่ได้เกิดจากความผิดของครู    ครูเป็นเสมือนเบี้ย   ปัญหาอยู่ที่ตัวนักเรียนและพ่อแม่ไม่เอาใจใส่    ดังนั้นทุกคนจึงเครียดและนักเรียนก็ออกไปจากระบบโรงเรียน”
  • “ฉันมีโอกาสที่จะเลือก   ฉันเลือกที่จะจัดการสมองของฉัน    ฉันเตือนสติตนเองทุกวัน     ว่าฉันสามารถสร้างความสำเร็จในชีวิตให้แก่ศิษย์ได้ทุกคน”

เมื่อครูเรียนรู้และปรับตัว นักเรียนจะซึมซับพลังนี้ไปโดยไม่รู้ตัว     และข่าวดีคือ เมื่อครูพัฒนาวิธีทำงานตามในหนังสือเล่มนี้ไประยะหนึ่ง (ผมตีความว่า สองสามปี) ครูจะกลายเป็นครูที่มีผลงานสูง    มีผลการวิจัยบอกว่า ครูที่มีผลงานสูงทำงานน้อยชั่วโมงต่อสัปดาห์กว่าครูที่มีผลงานต่ำ    ซึ่งผมตีความว่า เป็นผลของการทำงานอย่างมีหลักวิชา และอย่างเป็นระบบ ไม่มั่ว  

เขาแนะนำให้สร้างระบบเตือนสติตนเองทุกวัน ให้ดำเนินการสู่เป้าหมายเพื่อผลสำเร็จในการเรียนรู้สู่อาชีพและสู่การเรียนต่อของศิษย์  โดยตอบคำถาม ๗ ข้อต่อไปนี้ทุกวัน    โดยติดคำถามเหล่านี้ไว้ที่โต๊ะครู    เป้าหมายคือ เพื่อให้ใจตนเองมีความมั่นคงมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย   ไม่วอกแวกแกว่งไกวไปตามปัจจัยลบสารพัดด้านที่โรงเรียนและในระบบการศึกษาที่ล้มเหลว     

  1. 1. ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง  ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ส่วนตัวกับศิษย์ทุกคน
  2. 2. ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง ที่จะพัฒนาตัวเอง และตัวศิษย์ ด้วยเป้าหมายที่ท้าทาย และด้วยความมุมานะด้วยอิทธิบาทสี่
  3. 3. วันนี้ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง ในการสร้างบรรยากาศมองโลกแง่ดีมีความหวัง และบรรยากาศกตัญญูรู้คุณ
  4. 4. ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยังในการสร้างห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม
  5. 5. ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยังในการช่วยให้นักเรียนสามารถจัดระบบการเรียน และทำงานเสร็จ
  6. 6. ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยังที่จะทำให้การเรียนการสอนมีความหมายต่อทั้งนักเรียน และต่อตัวฉันเอง
  7. 7. ฉันได้ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง ที่จะพุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จในการเรียนของศิษย์

คำแนะนำสุดท้ายในหนังสือคือ จงเปลี่ยนแปลงตัวเองบ่อยๆ  และเปลี่ยนอย่างมีเป้าหมายที่ทรงคุณค่า  

ผมตีความว่า สาระสำคัญที่สุดในบันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน    คือศิษย์จากครอบครัวยากจนและขาดแคลนมาโรงเรียนด้วยสมองที่ไม่เต็มร้อย   แต่ครูสามารถใช้วิธีการต่างๆ ที่ผมใช้คำว่า สอนเข้ม(ตามในรายละเอียดในบันทึกชุดนี้)    ให้สมองของศิษย์เหล่านี้แปรสภาพเป็นเต็มร้อยหรือเกือบเต็มร้อยได้    นำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียน

โดยปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ชุดความคิดที่ซ่อนหรือฝังอยู่ในสมองครู    ต้องเป็นชุดความคิดเชิงบวกหรือเอื้อหรือสู้    ไม่เป็นชุดความคิดเชิงลบหรือปิดกั้นหรือถอย    ชุดความติดเหล่านี้ (๗ ชุด) เป็นเสมือน “ถ้อยคำเงียบ” ที่ประดิษฐานอยู่ในสมองครู    แม้ครูไม่พูดออกมา มันก็สื่อสารไปยังศิษย์ได้ ผ่านอวัจนะภาษา    และสร้างเป็นชุดความคิดในนักเรียนโดยไม่รู้ตัว    คือครูก็ไม่รู้ตัว ศิษย์ก็ไม่รู้ตัว    ว่าตนเองได้สร้างขวากหนามปิดกั้นความสำเร็จในชีวิตของตนเอง    ทั้งความสำเร็จของนักเรียน และความสำเร็จของครู  

จากชุดความคิด   นำไปสู่ชุดการกระทำ หรือเทคนิคการสร้างพลังสมอง  สร้างสภาพพร้อมเรียน  ที่ผมคิดว่ามีระบุไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งมาก ทั้งในเชิงทฤษฎี และเชิงวิธีปฏิบัติ    ที่สำคัญคือ วิธีปฏิบัติเป็นวิธีง่ายๆ แต่ให้ผลดียิ่ง

จาก สอนเข้ม  สู่ เรียนเข้ม ทั้งศิษย์และครู    สู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิตของศิษย์และของครู

วิจารณ์ พานิช 

๑๙ พ.ค. ๖๒

      

หมายเลขบันทึก: 671008เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2019 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2019 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท