มหาวิทยาลัยอังกฤษด้อยค่า



นิตยสาร The Week ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒ ลงเรื่อง The great British university con (1)    บอกว่าในช่วงเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมา มาตรการแปลกประหลาดของรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า     ได้ทำให้คุณภาพของมหาวิทยาลัยอังกฤษลดลงไปเรื่อยๆ    

บทความใช้คำแรง ว่าเดี๋ยวนี้นักศึกษาสามารถซื้อเกรดได้    บทความเริ่มด้วยเรื่องราวทำนองนี้ที่มหาวิทยาลัย เชฟฟิลด์     ตามด้วยภาพใหญ่ของอุดมศึกษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยถูกการเมืองผลักดันให้เป็นผู้ประกอบการ    หาเงินเข้าประเทศ    จนเลยความพอดี เกิดสภาพปริญญาเกียรตินิยมเฟ้อ    เขาบอกว่าเวลานี้ใน ๑๓ มหาวิทยาลัย ร้อยละ ๗๙ ของบัณฑิตได้เกียรตินิยมที่เรียก 2:1 degree    เขาบอกว่าหากแนวโน้มของปริญญาเกียรตินิยมเฟ้อดำเนินต่อเนื่อง ในปี 2061 บัณฑิตทุกคนจะได้รับเกียรตินิยม     

เขาอ้าง Jarratt Report, 1985 (2)    ที่เสนอแนะ (สมัยรัฐบาลเลดี้แธตเชอร์) ว่าการบริหารมหาวิทยาลัยไม่ควรอยู่ในมือของนักวิชาการ    แต่ควรให้นักธุรกิจบริหารในตำแหน่งอธิการบดี    เพราะเขามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรธุรกิจ (corporate enterprise)     มีมหาวิทยาลัยที่เดินตามคำแนะนำนี้ และกำลังเผชิญวิกฤติตามในบทความนี้

การบริหารวิชาการในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากมติของ academic senate  ไปอยู่ในมือของฝ่ายบริหาร ที่จัดการแบบธุรกิจ    เกิดการเติบโตเชิงจำนวนของผู้เข้าเรียนอุดมศึกษาอย่างมากมาย     แต่ผลที่ตามมาคือคุณภาพของบัณฑิตตกต่ำ     วิธีจัดการเรียนการสอนเน้น “ป้อนความรู้” มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม      

เขาเอ่ยถึงมหาวิทยาลัย ควีนแมรี่ ผู้บริหารสั่งอาจารย์ว่า อย่างน้อยร้อยละ ๖๐ ของนักศึกษาต้องได้เกรดในระดับเกียรตินิยม ที่เขาเรียก 2:1 degree    

เมื่อปริญญาเฟ้อ   คุณสมบัติสำหรับการจ้างงานก็เฟ้อหนี และมีวิธีการกรองคุณสมบัติของคนที่จะรับเข้าทำงาน     เขาเอ่ยถึง Guardian university league table (3)ที่ระดับ employment prospect ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ตกลงไปอยู่ที่อันดับ ๒๗ ของประเทศ    ความศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยด้อยลงไปมาก จากพลวัตทางสังคมว่าด้วยการบริหารมหาวิทยาลัย และการเรียนมหาวิทยาลัย   โดยที่ค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นมากมาย 

เขาเอ่ยถึงหน่วยงาน QAA – Quality Assurance Agency ที่ตั้งขึ้นใหม่   และวิจารณ์ว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพของบัณฑิต  แต่ทำหน้าที่ดูแลว่ามหาวิทยาลัยดำเนินการตามกฎที่กำหนด    ฟังดูคล้าย สมศ. ไทยสมัยก่อน  

บทความนี้ยาว และมีรายละเอียดมาก    ผู้รับผิดชอบอุดมศึกษาไทยควรอ่านอย่างยิ่ง    เพื่อระมัดระวังไม่หลงบริหารอุดมศึกษาแบบอังกฤษ    เขียนอย่างนี้แล้ว ผมสงสัยว่าท่านผู้อ่านบางคนอาจร้องว่า “ช้าไปต๋อย”  

วิจารณ์ พานิช

๒๒ กันยายน ๒๕๖๒

ห้อง 344   โรงแรม Hilton London Bankside  

   

หมายเลขบันทึก: 670805เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2019 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2019 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท