ชีวิตที่พอเพียง 3542. เตือนตนให้เป็นคนแก่ที่เจียมตัว


ในช่วงอายุใกล้ ๗๗ และไม่มีงานประจำของตนเอง    ผมใคร่ครวญจากเหตุการณ์ที่ตนเผชิญว่า ผมเป็นคนที่ทั้งแคบลงและกว้างขึ้น    แคบลงในเรื่องการรู้จักคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ    แต่อาจกว้างขึ้นบ้างในการมองภาพ macro  หรือภาพเชื่อมโยง

กล่าวใหม่ว่า ด้อยลงในด้านความลึก    ดีขึ้นบ้างในด้านความเชื่อมโยง  

ที่ด้อยลงไปเรื่อยๆ คือคุณภาพของสมอง    มันเสื่อมลงตามความแก่ที่เพิ่มขึ้น  

ผมจึงแนะนำตัวเองให้วางตำแหน่งแห่งที่ (positioning) บทบาทของตนเองเมื่อไปร่วมการประชุมต่างๆ    (เดี๋ยวนี้ผมมี  “อาชีพ” ประชุม    เป็นอาชีพที่ไม่ใช่อาชีพ)     ว่าผมควรหาทางพูดเป็นคนสุดท้ายหรือท้ายๆ    จะเป็นประโยชน์ต่อที่ประชุมมากที่สุด   

ไม่ว่าทำอะไร ผมเตือนตนเองเสมอว่า ให้ยึดประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน    หาทางทำให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด  ประโยชน์ส่วนตนมาทีหลัง  

ในที่ประชุมต่างๆ ผมหมั่นฝึกตนเองให้สังเกตว่าผู้พูดพูดด้วยมูลเหตุจูงใจอะไร    เพื่อประโยชน์ของที่ประชุมหรือองค์กรเจ้าของเรื่องเป็นหลัก  หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก  เช่นพูดเพื่อแสดงภูมิรู้ของตน    และนำมาสั่งสอนตนเองให้ระมัดระวังอย่าโดนกิเลสภายในตนชักจูงให้มีพฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ตนเป็นหลัก   

ถึงตอนนี้ ผมบอกตนเองว่า กรรมการ หรือผู้ที่เขาเชิญมาประชุมในที่ประชุมที่ผมไปร่วมมักเป็นคนอายุน้อยกว่าผมทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด   คนเหล่านั้นมีความรู้จากประสบการณ์ตรงในเรื่องที่ประชุมดีกว่าผม    จึงควรเปิดโอกาสให้เขาพูดก่อน    ผมจะได้เพ่งฟัง เก็บข้อมูล เอามาปะติดปะต่อเป็นภาพเชื่อมโยง หรือภาพ macro และนำเสนอเป็นคนท้ายๆ หรือคนสุดท้าย    ก็จะเป็นประโยชน์ต่อที่ประชุมมากกว่า  

คนแก่กำลังและปัญญาเสื่อมถอยลง     ต้องหมั่นตริตรองหาทางดำรงชีวิตที่มีประโยชน์  ไม่ก่อโทษ หรือเป็นภาระต่อคนอื่นหรือสังคมมากเกินไป 

วิจารณ์ พานิช

๒ ก.ย. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 670760เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2019 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2019 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาติเรียนรู้กับอาจารย์ค่ะ เพราะพอเราเกษียณมาแล้ว เราต้องฟังให้เห็นว่า สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิด คืออะไร เราเพียงฟังและชี้แนะตามประสบการณ์ที่เคยทำแล้วสำเร็จหรือเป็นบทเรียนที่เราเคยพบค่ะอาจารย์ ขอบคุณที่อาจารย์ได้ใคร่ครวญแล้ว reflection พัฒนาการของชีวิตแต่ละวัยให้ลูกหลานได้เรียนรู้ เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่จริงๆนะคะ

อาจารย์คะ อาจารย์เป็นแบบอย่างให้ผู้เกษียณปีนี้อย่างดิฉันได้อบอุ่นใจที่ มีกำลังใจ ด้วยข้อคิดที่อาจารย์ให้มาโดยตลอด และการใช้ชีวิตที่พอดี พอเพียง ทำให้วัยเกษียณของดิฉันแม้จะต้องอยู่แบบไม่มีงานประจำ อยู่ได้อย่างไม่เงียบเหงา แม้เงินบำนาญที่น้อยกว่าเงินเดือนประจำ ทำให้เราวางแผนการเกษียณมาเป็นปี ทำให้ตอนนี้ชีวิตอยู่บ้านได้คนเดียวที่ไม่โดดเดี่ยว ทำในสิ่งที่ชอบ คือ ด้าน ict นำมาใช้อย่างเต็มที่กับ เฟส ไลน์ ยูทูป ทวิตเตอร์ เสมือนได้อ่านหนังสือได้ค้นคว้าทุกวัน และกับการยังช่วยงานประจำของโรงเรียนได้อยู่บ้างในงานที่เราถนัด คือ การบริหารงาน ที่ดีที่สุด คือ การใช้ชีวิตที่พอเพียงบวกกับสิ่งที่เราให้ ให้ ให้ เมื่อครั้งเรายังพัฒนาการศึกษาอยู่ไว้มากมายทีเดียว ให้มากพอ ให้จนถึงระดับอิ่มตัว….เกษียณแล้วจึงมีชีวิตที่เป็นสุข สบายๆ อยู่แบบพอเพียงและอยู่ได้จริง ๆ …แทบไม่มีใครเชื่อ แต่เราอยู่ได้ ทำได้จริง…..ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่อาจารย์ทำให้เข้าใจความพอเพียงมาใช้กับชีวิตได้อย่างเข้าใจและมีความสุขมาก ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท