สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๒๕. เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าสู่อาชีพ



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๒๕. เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าสู่อาชีพ นี้ เป็นบันทึกสุดท้ายใน ๓ บันทึก ภายใต้ชุดความคิดเพื่อความสำเร็จของนักเรียน(graduation mindset)    ตีความจาก Chapter 20 : Prepare for College or Careers           

มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เรียนไม่เก่ง    แต่จะเรียนดีขึ้นทันตา หากครูจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติโดยใช้มือ  ทำกิจกรรมทางกาย  หรือออกไปเรียนนอกห้อง     นักเรียนเหล่านี้จะเรียนได้ดีหากมีกิจกรรมฝึกวิชาชีพ  เรียนนอกห้อง  เรียนโดยทำโครงงาน  ทัศนศึกษา  เรียนโดยฝึกปฏิบัติ  และเรียนรับใช้ชุมชน (service learning)   

ให้นักเรียนระดับประถมทำกิจกรรมเหล่านี้ใกล้ๆ โรงเรียน    แค่ได้ออกไปทัศนศึกษาใกล้ เด็กก็ตื่นเต้นแล้ว    แต่จะให้ได้เรียนรู้มากกว่าต้องให้นักเรียนทำโครงงานเล็กๆ จากกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย    และแม้ทำโครงงานเล็กๆ นอกห้องเรียน แต่อยู่ในบริเวณโรงเรียน ก็ช่วยสร้างความตื่นตัวในการเรียนได้มาก

ครูพึงตระหนักว่า นักเรียนเบื่อเมื่ออยู่ในห้องเรียน หรือต้องนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน    และมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เบื่อง่ายกว่าคนอื่นๆ    ครูพึงเอาใจศิษย์มาใส่ใจตัวเอง     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใจที่นึกถึงอนาคตของตัวเอง    เขาแนะนำรายการคำถามต่อไปนี้

      คำถามเกี่ยวกับความพร้อมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

            นักเรียนมีทักษะชีวิตไปเผชิญชีวิตในมหาวิทยาลัยหรือไม่    นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้วิชาต่างๆ หรือไม่    นักเรียนมีที่ปรึกษาที่ตนใกล้ชิดเอาไว้ปรึกษายามจำเป็นหรือไม่    หากนักเรียนไม่ได้รับทุนการศึกษา จะทำอย่างไร    ในบริบทของสหรัฐอเมริกา เขาบอกให้นักเรียนรู้ว่า มีมหาวิทยาลัยที่เรียน online ฟรี ชื่อ The University of the People (https://www.uopeople.edu/)     แต่หากต้องการสอบเพื่อรับปริญญามีค่าใช้จ่ายราวๆ ๔,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ   

      คำถามเกี่ยวกับความพร้อมเข้าสู่อาชีพ

           นักเรียนที่เรียนจบออกไปมี resume สำหรับเป็นหลักฐานรับรองสมรรถนะในการทำงานหรือไม่    นักเรียนทุกคนมีทักษะเข้ารับการสัมภาษณ์เข้างาน โดยผ่านการฝึกและได้รับ feedback หรือไม่    นักเรียนแต่ละคนมีงานที่ตอบรับแล้ว หรืออยู่ในรายชื่อรอเรียกเข้าทำงาน หรือไม่    นักเรียนแต่ละคนมีที่ปรึกษายามต้อการหรือไม่  

หนังสือแนะนำเว็บไซต์ช่วยแนะนำการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ที่ครูควรเข้าไปทำความเข้าใจพร้อมกับนักเรียน    เพื่อช่วยทำความเข้าใจ    ในสหรัฐอเมริกามีวิทยาลัยชุมชน (community college) ที่สอนวิชาชีพ    ครูควรแนะนำ     ซึ่งจะตรงกับคำแนะนำของครูชั้นมัธยมต้นของไทย ที่แนะนำให้นักเรียนพิจารณาเข้าเรียนวิทยาลัยอาชีวะ หลังเรียนจบ ม. ๓   ซึ่งจะเป็นเส้นทางสู่การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในภายหลังได้    

ในสองตอนต่อจากนี้ เป็นตัวอย่างที่โรงเรียนคุณภาพสูง ดำเนินการช่วยนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยหรือเข้าสู่อาชีพอย่างได้ผลดี 

กลยุทธเตรียมนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย และสู่อาชีพ

ต่อไปนี้เป็นวิธีการที่โรงเรียนคุณภาพสูงในสหรัฐอเมริกาใช้  ทั้งโรงเรียนระดับประถม และระดับมัธยม

  • ให้มีโอกาสได้ไปเห็น หรือมีประสบการณ์    เช่น ให้นักเรียนชั้น ป. ๕ จับคู่ ร่วมกันไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอาชีวศึกษาใกล้ๆ และศึกษาข้อมูล เช่น ค่าเล่าเรียน  ทุนช่วยเหลือการศึกษา  สาขาที่สอน  ตำแหน่งที่ตั้ง   อายุของนักศึกษา เป็นต้น    นำมาทำโปสเตอร์ สำหรับนำเสนอต่อนักเรียนชั้น ป. ๒   ซึ่งผมคิดว่า ในกรณีของบริบทไทยสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ เช่นให้คู่นักเรียนแยกย้ายกันไปศึกษาสถาบันที่อยู่ไม่ไกลโรงเรียนนัก ทีมละ ๑ สถาบัน   หากจะซ้ำสถาบันก็ให้ซ้ำได้สถาบันละไม่เกิน ๓ ทีม   นำมาจัดทำโปสเตอร์เสนอต่อเพื่อนๆ ในชั้น    หรือในโรงเรียน   

หนังสือเอ่ยถึงการให้นักเรียนชั้น ป. ๔ จับคู่กับเพื่อน ศึกษาอาชีพที่ต้องการวุฒิ ม. ๓  เช่น ช่างหล่อ  ช่างไฟ   ช่างก่อสร้าง   เจ้าหน้าที่บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น   

  • เชื่อมโยงพฤติกรรมเข้ากับผลต่อตนเอง     ช่วยให้นักเรียนทำกิจกรรมและเชื่อมผลลัพธ์ของงานสู่เป้าหมายในชีวิต  “เวลาที่เธอใช้ทำการบ้านจะมีความหมายต่ออนาคตของเธอ   มันจะช่วยให้เธอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้”
  • เชื่อมโยงสาระวิชาเข้ากับอนาคตการงาน    เช่นในนักเรียนชั้นมัธยม เมื่อเรียนวิชาใด ครูเอ่ยถึงหน้าที่การงานที่ใช้ความรู้และทักษะของวิชานั้นๆ    หาทางให้คนในอาชีพนั้นๆ มาแชร์ประสบการณ์กับนักเรียน
  • ใช้ถ้อยคำที่ให้ความหวัง    เช่น ไม่ใช้คำว่า “ถ้าเธอเรียนจบ”    แต่ใช้คำว่า “เมื่อเธอเรียนจบ”    ไม่ใช้คำว่า “ถ้าเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย”  แต่ใช้คำว่า “เมื่อเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย”
  • จัดการเรียนเสริม    แก่นักเรียนชั้นมัธยม ดังตัวอย่าง
  • - จัดติวเต้อร์จากมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ๆ มาสอนทุกวันหลังชั้นเรียน เป็นเวลา ๔๕ นาที (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)   เพื่อช่วยให้นักเรียนทำการบ้านถูกหมด 
  • - มีครูที่ปรึกษาที่ทำงานเข้มแข็งให้แก่นักเรียนใหม่ทุกคน
  • - กรณีที่พ่อแม่เด็กเป็นคนต่างชาติที่อพยพเข้าเมือง  โรงเรียนจัดบริการแปลภาษาให้
  • - หาทุนเป็นค่าเดินทางแก่เด็กยากจน
  • - ส่งเสริมให้นักเรียนเข้าเรียนชั้นเข้มข้น (honor class) ทางอินเทอร์เน็ต (www.avid.org)    เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจ
  • - นักเรียนตั้งแต่ชั้น ม. ๑ เป็นต้นไปทุกคนต้องเข้าร่วมนิทรรศการของโรงเรียน และร่วมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
  • - จัดการประชุมปฏิบัติการเรื่อง “เมื่อลูกเข้ามหาวิทยาลัย” ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง    เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริมลูกให้ประสบความสำเร็จในการเรียน

เขายกตัวอย่างโรงเรียนที่นักเรียนทุกคนเป็นเด็กยากจน แต่ร้อยละ ๙๐ ของนักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย (หรือวิทยาลัยชุมชน)     กิจกรรมตัวอย่างข้างต้าเป็นกิจกรรมในบริบทของอเมริกา     โรงเรียนไทยต้องปรับให้เข้ากับบริบทของเรา

กลยุทธหนุนสู่อาชีพและอาชีวศึกษา

โรงเรียนต้องไม่มุ่งให้นักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย (หรือวิทยาลัยอาชีวะ) เพียงอย่างเดียว    ต้องดำเนินการเตรียมนักเรียนเข้าสู่อาชีพไปพร้อมๆ กันด้วย    ตัวอย่างของอาชีพที่ควรให้นักเรียนได้ฝึกได้แก่

  • การลงโค้ดคอมพิวเตอร์ และพัฒนาซอฟท์แวร์
  • ช่างอุตสาหกรรม (ช่างเชื่อม, ช่างก่อสร้าง, ช่างประปา)
  • ช่างบริการวิทยุ โทรทัศน์    ช่างเทคโนโลยีการสื่อสาร   ช่างระบบข้อมูล
  • นักวิทยาศาสตร์การอาหาร  เชฟ
  • นักการตลาด   นักธุรกิจ
  • นักการเกษตร
  • เทคนิคและธุรกิจการเลี้ยงสัตว์
  • กิจการด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ
  • กิจการรักษาความปลอดภัย  และบังคับใช้กฎหมาย

ตัวอย่างข้างบนเป็นบริบทอเมริกา    โรงเรียนไทยพึงปรับตามบริบทไทย และท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่

เขาแนะนำให้โรงเรียนจัดให้มีโปรแกรมการสอนทักษะอาชีพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ    ไม่ใช่แค่เป็นกิจกรรมให้นักเรียนเลือกเรียนนอกเวลาเรียน หรือเป็นวิชาเลือก    กิจกรรมนี้จำเป็นมากสำหรับโรงเรียนในเขตยากจน    กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กวัยรุ่นลงอย่างมากมาย    และทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน  

เขาแนะนำโมเดลการดำเนินการของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐ Massachusetts ที่ดำเนินการได้ผลดีมีชื่อเสียงมาก    โดยร้อยละ ๙๖ ของนักเรียนสอบผ่านการสอบชั้น ม. ปลาย ที่เข้มงวดของรัฐ    โดยโมเดลดังกล่าวมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ

  1. 1. ติดต่อกระทรวงศึกษาธิการของรัฐ เพื่อปรึกษาว่ามีลู่ทางผสมผสานการศึกษาเพื่ออาชีพ และการศึกษาเชิงเทคนิคเข้ากับกิจกรรมในโรงเรียนอย่างไรบ้าง
  2. 2. เริ่มช้าๆ เพิ่มปีละ ๑ โปรแกรม
  3. 3. จัดมินิโปรแกรมที่ใช้เวลาน้อยกว่า  ดังตัวอย่าง
  4. - นักเรียนค้นคว้าและดำเนินการฝึกซ้อม กรณีเกิดเพลิงไหม้  จับตัวประกัน  นำท่วม  หรือมีการรังแกกัน
  5. - นักเรียนพัฒนาความสัมพันธ์กับธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อการฝึกงาน
  6. - นักเรียนพัฒนาการดูงานภายในโรงเรียนเพื่อเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่  เรียนรู้เรื่องต้นไม้  และการออกแบบสถาปัตยกรรม
  7. - นักเรียนจัดทัวร์สถานประกอบการในท้องถิ่น ในช่วงที่มีการเรียนน้อย เช่นวันหยุด  หรือในสัปดาห์ที่ไม่มีการสอบ
  8. - นักเรียนจัดกิจกรรมร่วมกับองค์การลูกเสือ เนตรนารี หรือกิจกรรมเดินป่าในท้องถิ่น

เขาแนะนำว่า อย่าพยายามผลักดันนักเรียนทุกคนไปสู่เส้นทางเข้ามหาวิทยาลัย   สำหรับนักเรียนที่ไม่พร้อม หรือไม่อยากเข้ามหาวิทยาลัย เขาแนะนำแหล่งความรู้สำหรับเด็กเหล่านั้นคือ

  • หนังสือ Better than College : How to Build a Successful Life Without a Four-Year Degree by Blake Boles
  • หนังสือ 40 Alternatives to College by James Altucher
  • TED และ TEDx Talk แนะนำอาชีพ  ค้นในกลุ่ม education   

หน้าที่ของครูคือ ให้ศิษย์ได้เห็นลู่ทางอาชีพที่หลากหลาย สำหรับเลือกตามที่ตนชอบและเหมาะต่อตนเอง    โดยครูไทยพึงปรับคำแนะนำเหล่านี้ให้เหมาะต่อบริบทไทย และบริบทท้องถิ่นของศิษย์    

จะสมาทานชุดความคิด   “ฉันได้พยายามคิดบวกแล้ว   แต่เด็กเหล่านี้มาจากสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด   ฉันไม่คิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต”   หรือ   “ฉันเอาใจใส่เรื่องสำคัญ  ที่จะช่วยให้ศิษย์เข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือพร้อมทำงาน”

วิจารณ์ พานิช 

๑๔ พ.ค. ๖๒

ห้องรับรอง EVA Air  สนามบินสุวรรณภูมิ

    



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท