วิธีป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ


การที่จะป้องกันไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ก็พอมีทาง คือต้องบริหารกาย บริหารจิต จะทำให้พิชิตโรคภัย

วิธีป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ
ดร. ถวิล อรัญเวศ

โรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน เพราะคนเราเกิดมาจะตกอยฆู่ภายใต้สามัญลักษณะ คือ เกิด แก่ เจ็บ และตายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา อยู่่
นอกเหนือจากการควบคุม ไม่สามารถบังคับได้

พุทธภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรคไข้เจ็บมาเบียดเบียนถือว่าเป็นลาอันประเสริฐ หรือเป็นลาภอย่างยิ่ง

แม้ว่าเราจะมีทรัพย์สินเงินทองสักปานใดก็ตาม แต่ถ้าหากเรายังเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ เจ็บป่วย ออด ๆ แอด ๆ เป็นประจำ ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็เสมือนไม่มี จะกินก็ไม่ได้ เพราะร่างกายไม่รับ เพราะฉะนั้น พุทธองค์จึงทรงสอนเราให้ไม่ประมาทเตรียมเนื้อเตรียมตัวอยู่เสมอ เวลาพระให้พร จะกล่าวเป็นคำสุดท้ายว่า

“อายุ วรรณะ สุขัง พลัง”
คือขอให้มีอายุยืนนาน
ให้มีผิวพรรณผ่องใส
มีความสุขกาย สุขใจ และ
มีพละกำลังในอันที่จะต่อสู้เพื่อความมีชีวิตอยู่ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุขัย


สาเหตุแห่งการเจ็บป่วย
ท่านกล่าวว่ามี 5 อย่าง คือ

1. กรรม
การผิดศีลห้า ข้อ 1 หมายถึง การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การทรมานสัตว์ การผจญสัตว์ เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นวิบากกรรม

2. จิต การเจ็บป่วยส่วนมากเกิดจากจิต หรือ ประสาท เป็นสาเหตุที่ละเอียดอ่อนจิตไม่ปกติสืบเนื่องจากเสพสิ่งเสพติดให้โทษ เช่น ยาบ้า เป็นต้น

3. อุตตะ
ความร้อน เย็น ดิน ฟ้า อากาศ อุณหภูมิ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย อากาศแปรปรวน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน ปรับร่างกายไม่ทัน

4. อาหาร

รับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อรา
เชื้อไวรัส อาหารหมักดองไว้จนเสีย อาหารมีบูดเน่า เป็นต้น

5. พักผ่อนไม่เพียงพอ
ทำงานหนักไป ไม่มีเวลาพักผ่อน ฯลฯ

การที่จะป้องกันไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ก็พอมีทาง คือต้องบริหารกาย บริหารจิต จะทำให้พิชิตโรคภัย

เทคนิคป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ

จากการที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้คนเราอายุยืนนานนั้นมีเรื่องที่พอสังเคราะห์และสรุปได้ดังนี้

1. การบริหารกาย
การบริหารกายด้วยหลัก 5 อ. คือ

อ.1 อาหาร

เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า อย่ากินตามอยากเกินไป เลือกรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่ รู้ประมาณในการบริโภค ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ควรละเว้นการดื่มสุรา ยาเสพติดให้โทษต่อร่างกาย เครื่องดองของเมา และช่วงเวลา 07.00 – 09.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหารจะทำงาน ถ้ากินอาหารเช้าในช่วงเวลานี้ทุกวัน กระเพาะอาหารจะแข็งแรง ถ้าปล่อยให้กระเพาะอาหารอ่อนแอ จะส่งผลให้เป็นคนหน้าแก่เร็วกว่าวัย

อ.2 อากาศ

อากาศเป็นสิ่งสำคัญ เราขาดอากาศไม่ได้ ควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวก ร่มรื่น หลีกเลี่ยงจากฝุ่นละออง ควันพิษต่าง ๆ เพราะอากาศ คือ ลมหายใจที่ร่างกายต้องสูดเอาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและคายเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และช่วงเวลา 03.00 - 05.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด จึงควรตื่นนอน ลุกขึ้นเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ และรับแสงแดดในยามเช้า ผู้ที่ตื่นนอนในช่วงนี้เป็นประจำปอดจะแข็งแรง ผิวพรรณดี เดินหรือวิ่งยามเช้า จะดี ไม่หักโหม ตามวัยเรา เช่นวิ่งพอประมาณ ไม่เร็วเกินไป อาจเดินถ้าสูงวัย เพราะถ้าวิ่งเร็วจะทำให้หัวใจเต้นแรงอาจจะหมดสติได้

อ.3 ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (สารสุข) ที่ให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า จิตใจสงบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค เป็นผลดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายควรออกกำลังกายกลางแจ้ง ได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงเช้า และอีกช่วงหนึ่งก็คือ ช่วงบ่าย 4 โมง จนถึง 2 โมงเย็น ซึ่งแสงอาทิตย์ช่วงนี้จะให้ประโยชน์มากที่สุด ได้รับวิตามิน D และ
วิตามิน A

อ.4 อุจจาระให้เป็นเวลา

เรารับประทานอาหารเช้าไปสู่ร่างกายจะต้องมีการปลดปล่อยออกมา กากอาหารที่ถูกถ่ายทิ้ง มีประมาณ 100 กรัมต่อวัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ และชนิดของอาหารด้วย อาหารที่มีเส้นใยมาก จะทำให้อุจจาระมาก
การขับถ่ายอุจจาระเป็นกลไกหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อการรับประทานอาหารเข้าไป ก็ย่อมขับถ่ายกากอาหารที่เหลือใช้หรือที่ร่างกายไม่ต้องการ เวลา 05.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ ควรขับถ่ายอุจจาระทำให้เป็นนิสัยทุกเช้า ถ้าไม่ถ่าย หรืออุจจาระเป็นก้อน ควรรับประทานผลไม้ที่จะทำให้ขับถ่ายได้สะดวก เช่น มะละกอ ผลไม้ส้ม มะขาม ส้มตำถ้ายังไม่ถ่ายให้ดื่มน้ำอุ่นผสมมะนาว โดยใช้น้ำ 1 แก้ว และน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำมะนาวพอประมาณ ดื่มจนกว่าจะถ่าย และให้บริหารร่างกายโดยยืนตรง หายใจเข้าแล้วก้มลง พร้อมทั้งหายใจออก เอามือท้าวเข่า แขม่วท้อง จนเหมือนว่าหน้าท้องไปติดสันหลัง

อ.5 อนามัย

รักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้า การดื่มน้ำสะอาด การกิน อาหารที่ถูกสุขลักษณะ การล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร กินอาหารและใช้ช้อนกลาง ทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด รวมถึงการจัดสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดปลอดภัย หลีกเลี่ยงจากมลพิษ การมีสุขาภิบาลที่ดี ส้วมสะอาด น้ำสะอาด อาหารสะอาด ไม่มีของตกค้างบริเวณที่อยู่อาศัยควรปลูกต้นไม้ให้เขียวขจี ร่มรื่น สวยงาม

2. การบริหารจิต

จิตถือว่าเป็นใหญ่เป็นประธาน มีความสำคัญมากสามารถส่งผลต่อร่างบกายได้โดยตรง จิตที่ฝึกดีแล้วจะนำประโยชน์สุขมาให้การบริหารจิตสามารถทำได้หลายวิธี ขอเสนอหลัก 3 อ. คือ

อ.1 อารมณ์

ฝึกฝนให้มีจิตใจและอารมณ์ที่ดี รวมทั้งรู้จักหาวิธีคลายเครียด ลดความวิตกกังวล ความทุกข์ใจ ตรอมใจ ความไม่เป็นไปตามที่คาดหวังรู้จักวางเสียบ้าง ซึ่งจะมีผลดีต่อสุขภาพจิต เพราะ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ฉะนั้นใครอารมณ์ร้าย อารมณ์เสีย ยิ้มไม่เป็น เกลียดโกรธบ่อย ๆ ภูมิต้านทานจะลดลง อายุสั้น ควรฝึกมองโลกในแง่ดี ให้กำลังใจตนเองและผู้อื่น ฝึกเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว ลดความรู้สึก “ตัวกู ของกู” เพราะทุกข์อยู่ที่ถือ สุขที่อยู่ที่ปล่อยวาง


อ.2 อบายมุข

ฝึกฝนให้จิตใจไม่ลุ่มหลงในอบายมุข เพราะอบายมุข เป็นช่องทางของความเสื่อม ทางแห่งความพินาศฉิบหาย เหตุแห่งความย่อยยับ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ความเป็นนักเลงหญิง ความเป็นนักเลงสุรา เป็นสิ่งที่ไม่ดี ฝืนใจได้กำไร ตามใจขาดทุน ต้องฝึกฝนจิตไม่ให้ตกไปสู่ที่ต่ำ

อ.3 อโลภะ อโทสะ อโมหะ

ไม่โลภมากเกินตัว มีความพอเพียง ไม่โมโหโกรธง่าย ไม่อาฆาต พยาบาท ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งที่จะทำให้ใจเรารู้สึกไม่สบาย หรืออ่อนแอ เช่น อ่อนไหวต่อสิ่ง
มายั่วยุ หลงใหลคลั่งไคล้แฟชั่น หรือวัตถุนิยม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ราคาแพง แต่เรามีงบประมาณไม่พอซื้อ ฯลฯ ทำให้เป็นหนี้สิน ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะเมื่อมีการทวงหนี้จากเจ้าหนี้บ่อยๆ

สรุป

เทคนิคการป้องกันตนเองให้ห่างจาก
โรคภัยไข้เจ็บ คือการบริหารกาย บริหารจิต จะป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ขอให้ฝึกฝนและปฏิบัติในด้านร่างกายและจิตใจเป็นวิถีชีวิต ด้านร่างกาย รู้จักรับประทานอาหารไม่เป็นโทษต่อร่างกาย หาเวลาออกกำลังกาย อยู่ในอากาศถ่ายเทได้สะดวก ฝึกอุจจาระให้เป็นเวลา โดยเฉพาะยามเช้ามีอนามัยที่ดีชีวิตเราท่านกล่าวว่า จะมี 4 คนหาม 3 คนแห่ 1 คนนั่งแคร่ และ 2 คนพาไป นั่นคือ สี่คนหาม หมายถึง ธาตุสี่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เป็นรูปกายของคนเรา สามคนแห่ คือ โลภ โกรธ หลง ที่นำหน้าเราไป หนึ่งคนนั่งแคร่ คือ จิต
สองคนพาไป คือ บุญ บาป หรือผลกรรมดี และผลกรรมชั่ว ที่จะติดตามให้ผลเป็นวิบากกรรมติดตามเราไป กรรมดี พาไปสู่สุคติ กรรมชั่ว พาไปสู่ทุคติ

-------------

แหล่งข้อมูล
http://office.bangkok.go.th/trai…/bmatraining/know_hl06.html

หมายเลขบันทึก: 668187เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2019 01:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2019 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท