สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๒๐. สร้างสภาพกายและจิตที่พร้อมเรียน


สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน  ๒๐. สร้างสภาพกายและจิตที่พร้อมเรียน

บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : SevenHigh-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensenผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรงและมีปัญหาการเรียน   และเคยเป็นครูมาก่อน   เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๒๐. สร้างสภาพกายและจิตที่พร้อมเรียนนี้ เป็นบันทึกที่ ๒ ใน ๔ บันทึก ภายใต้ชุดความคิดสร้างความเอาใจใส่ของนักเรียน(engagementmindset)    ตีความจาก Chapter16 : Engage for Maintenance and Stress           

 

สาระหลักของบันทึกนี้คือ  ครูต้องมีวิธีเปลี่ยนสภาพจิตใจและร่างกายของนักเรียนให้อยู่ในสภาพพร้อมเรียน    เพื่อผลการเรียนรู้ในระดับสูง    เป็นทั้งประโยชน์ต่อนักเรียนและเป็นผลงานของครู   

การเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ทำให้สรีรวิทยา หรือการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกต่อการเรียนรู้   ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วขึ้น สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น    มีการหลั่งฮอร์โมน นอร์อีพิเนฟรีนออกมามีผลให้ความจำระยะยาวดีขึ้น และช่วยการพุ่งความสนใจไปที่จุดใดจุดหนึ่ง    มีการหลั่งฮอร์โมน โดปามีน ออกมามีผลเพิ่มความจำใช้งาน  เพิ่มความมานะพยายามและเพิ่มความยืดหยุ่นของสมองในการสร้างการเปลี่ยนแปลง    

การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์ในระดับสูง(higherorder engagement) ต้องใช้เวลา   และต้องมีการจัดการอยู่ตลอดเวลา   ความลับคือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายช่วยเพิ่มการเชื่อมสัมพันธ์    และเพิ่มการเรียนรู้   สาระในบันทึกนี้จะช่วยไขความกระจ่างวิธีแก้ความเครียดในระดับที่ทำลายความเอาใจใส่การเรียนของนักเรียน

หากครูไม่จัดการสภาพจิตใจของนักเรียน    ตัวนักเรียนจะจัดการให้แก่ตนเองเพื่อให้สภาพจิตใจของตนอยู่ในสภาพเบาสบาย หรือมีความสุขเช่นโทรศัพท์คุยกับเพื่อน  ไปดูหนัง  ไปปาร์ตี้ ดื่มเหล้า  มีแฟน  กินเลี้ยง เล่นกีฬา  มีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ    เนื่องจากเด็กยังไม่มีทักษะควบคุมตัวเอง   และกิจกรรมเหล่านี้หลายอย่างเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้

ครูต้องมีทักษะในการจัดการให้ศิษย์มีความสุขอยู่กับการเรียนหรือเรียนอย่างมีความสุข   หรือทำให้สมองหลั่งสารเคมีแห่งความสุข ความพึงพอใจ และความพร้อมเรียน    ในช่วงเวลา ก่อน ระหว่าง และหลังเรียน     

    

เชื่อมสัมพันธ์ (engage) เพื่อดำรงสภาพพร้อมเรียน

นักเรียนจะเรียนได้ดี ก็เมื่อนักเรียนตื่นตัวตั้งใจ และพร้อมเรียนรู้   ครูจึงต้องมีทักษะในการจัดการให้เกิดสภาพเช่นนั้น    โดยเริ่มจากการกระตุ้นให้เกิดสภาพบรรยากาศคึกคัก(arousal)   

เขาแนะนำ เครื่องมือจัดการสภาพจิตใจ(state-management tools) อย่างง่ายๆ    ที่ช่วยให้นักเรียนเอาจริงเอาจัง  จดจ่อต่อการเรียนและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูเป็นอย่างดี    เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่ยืดหยุ่น  ดำรงความอยากรู้อยากเห็น  มีสมาธิอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  มีการไหลเวียนเลือดที่ดี  และมีสารเคมีที่เหมาะสมในสมอง ได้แก่ serotonin (เพื่อความใส่ใจ พฤติกรรมที่ยืดหยุ่น และความรู้สึกเบาสบาย),   noradrenaline(เพื่อการพุ่งความสนใจและความจำ),  dopamine (เพื่ออารมณ์ ความพยายาม และความยืดหยุ่นของสมอง),  และ cortisol(เพื่อความจำและพลังงาน)    

นักเรียนขาดแคลนมักมีประสบการณ์ชีวิตที่บ้านที่ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังและความเครียดรุนแรงปัจจุบันทันด่วน    ที่มีผลร้ายต่อสมอง ที่ทำให้นักเรียนรู้สึกหมดหวัง  ซึมเศร้า และต้องการกระบวนการฟื้นฟู ที่เรียกว่า allostasis ()   เครื่องมือจัดการสภาพจิตใจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือเครื่องมือสร้างallostasis นั่นเอง    

·      พูดตามครู   ให้นักเรียนกล่าวตามที่ครูพูด “วันนี้เราจะเรียนสองเรื่อง  เราจะเรียนกี่เรื่อง”   นักเรียนตอบ “สอง”

·      หันไปพูดกับเพื่อน  เมื่อมีนักเรียนทำงานสำเร็จ ให้เพื่อนนักเรียนที่นั่งติดกันหันไปพูดว่า  “เป็นผลของความพยายามที่เยี่ยมยอด”

·      ตบมือ-บูม-ตบมือ    บอกนักเรียนให้คอยฟังเสียงตบมือของครู    ถ้าครูตบมือ ๑ ครั้งให้นักเรียบตบมือตามหนึ่งครั้ง   หากครูตบมือสองครั้ง ให้นักเรียนร้องออกมาพร้อมกันว่า “บูม”เป็นการส่งสัญญาณว่านักเรียนได้มีผลงานที่น่าชื่นชม

·      กิจกรรมทางกาย    นักเรียนชอบเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว    “ขอให้นักเรียนทุกคนยืนขึ้น  ขยับเก้าอี้ไปข้างๆ   เดินไปทางขวา ๓ ก้าวเพื่อหาเพื่อนใหม่”  

·      เรียกร้องความสนใจ    ใช้เมื่อสังเกตว่านักเรียนเริ่มเบื่อหรือไม่สนใจ    “หากนักเรียนพร้อมจะลองทำอะไรใหม่ให้ตบมือ ๒ ครั้ง และร้องว่า ‘ทำเลย’”   หรือ “หากนักเรียนอยากทำการทดลองให้กระทืบเท้าสองครั้ง แล้วยืนขึ้น”

·      กลยุทธสร้างความเป็นเจ้าของ    นักเรียนชอบที่ได้แสดงความเป็นเจ้าของผลงาน    “หากนักเรียนได้รับเอกสารที่แจกแล้วให้ชูขึ้นสูงๆและร้องว่า ผม/หนู ได้รับแล้ว และลงชื่อบนกระดาษ    ดีมาก   ต่อไปให้ดูกระดาษของเพื่อนข้างๆถ้าเขายังไม่ได้ลงชื่อ ช่วยปลุกเขาด้วย”

·      เรียกและตอบ    เป็นวิธีช่วยให้นักเรียนเรียกสมาธิคืนมา    ครูกล่าวว่า “ชั้นเรียนพร้อม”   นักเรียนตอบพร้อมกัน “พวกเราเอาวา”   หรือครูพูดว่า “เรียกสมาธิ”  นักเรียนตอบพร้อมกันว่า “กลับมาแล้วครับ/ค่ะ”  

จะเห็นว่าเครื่องมือจัดการสภาพจิตใจเป็นกิจกรรมง่ายๆ สั้นๆ    ที่ครูต้องปรับให้เข้ากับอายุหรือพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมหรือบริบทของสังคมรอบตัวเด็ก    เขาแนะนำให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ทุกๆ ๑๐ -๑๕ นาที   เพื่อดึงความสนใจของนักเรียนไว้ที่บทเรียน   

 

เชื่อมสัมพันธ์เพื่อจัดการความเครียด

ความเครียดมี ๒ แบบ คือความเครียดที่เป็นคุณกับความเครียดที่เป็นโทษ   ความเครียดที่เป็นคุณช่วยเพิ่มการเรียนรู้ เป็นความเครียดชั่วคราว เกิดขึ้น ๒ นาทีถึง ๒ ชั่วโมง    เช่นรถติด รอคิว    และเป็นความเครียดระดับปานกลาง    ที่เรียกว่าเป็น optimal learning zone ของความเครียด  

ความเครียดที่เป็นโทษ เป็นความเครียดเรื้อรังก่อบาดแผลหรือการเปลี่ยนแปลงถาวร ในลักษณะของการเปลี่ยนในระดับยีนที่เรียกว่าปรากฏการณ์ epigenetic   คือสภาพแวดล้อมมีผลต่อการทำงานของยีน   ก่อผลให้ปิดสวิตช์การทำงานของยีนอย่างถาวร หรือทำให้วงจรการเปิดปิดสวิตช์ยีนทำงานน้อยลง     หรือเป็นความเครียดที่รุนแรงก่อบาดแผลประทับไว้ในใจ    และไม่ก่อการเรียนรู้หรือก่อการเรียนรู้น้อย   

นักเรียนที่มีความเครียดเรื้อรังจะแสดงออกในลักษณะอ่อนเปลี้ย  มึนซึม กังวล  อารมณ์เสียง่ายหรืออารมณ์เสียอยู่ตลอดเวลา   และเป็นคนไม่สู้สิ่งยาก  

ที่จริงคนเราทุกคนย่อมต้องเผชิญความเครียดมากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา   และคนเรามักจะเรียนรู้ที่จะไม่ถือเป็นอารมณ์   ปล่อยให้มันผ่านไป ไม่กลายเป็นความเครียดรุนแรงหรือความเครียดเรื้อรัง    ความเครียดที่เป็นคุณคือความเครียดระดับปานกลาง  และดำรงอยู่ไม่นานนัก   

มนุษย์เราจัดการความเครียดด้วย “เครื่องกรอง” ๒ชิ้น คือ (๑) ความสำคัญ (relevance)  และ (๒) ความรู้สึกว่า “เอาอยู่” หรือควบคุมได้(sense of control)  ข่าวดีคือคนเราพัฒนาความสามารถในการควบคุม “เครื่องกรอง” ทั้งสองได้    เมื่อเราเผชิญปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  หากใจเราบอกว่า เป็นเรื่องไร้สาระ (irrelevant) สำหรับตน ความเครียดก็ไม่เกิด    แต่หากใจเราบอกว่า เรื่องนี้สำคัญสำหรับตนมาก    แต่ไม่มีปัญหา สามารถจัดการได้ความเครียดก็ไม่เกิดเช่นกัน   ความเครียดจะเกิดเมื่อปัญหาที่เผชิญเป็นเรื่องสำคัญและเรารู้สึกว่าไม่สามารถจัดการ หรือควบคุมได้       

หน้าที่ของครูคือช่วยฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการจัดการความเครียดให้อยู่ในระดับ optimallearning zone   ไม่ใช่หลีกเลี่ยงความเครียด   ย้ำว่าครูต้องช่วยฝึกทักษะนี้ให้แก่นักเรียนโดยต้องฝึกให้ให้ความสำคัญต่อปัญหา (relevance) ในระดับสูง   และฝึกทักษะในการพัฒนาความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์นั้นได้   โปรดดูรายละเอียดของ relevance ในอีกแง่มุมหนึ่ง ในบันทึกตอนที่ ๑๒

เมื่อนักเรียนเรียนไม่ค่อยรู้เรื่องครูอาจเลือกแก้ปัญหาได้ ๒ แนวทาง  คือ (๑)ชี้ให้เห็นความสำคัญ (relevance) ของเรื่องนั้น  หรือ (๒)ช่วยลดหรือเพิ่มความเครียดของนักเรียน    โดยเลือกช่วยลดความเครียดหากเห็นว่านักเรียนเครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป    และช่วยเพิ่มความเครียดหากพลังในการเรียนน้อยไป  

ต่อไปนี้เป็นเครื่องมือลดความเครียดที่ใช้ได้ตั้งแต่เด็กอนุบาล ไปจนถึงมัธยม ๖ (เกรด ๑๒)   เป็นเครื่องมือกำกับหรือลดความเครียดโดยใช้กาย    เริ่มโดยครูเป็นผู้ดำเนินการตามด้วยการสะท้อนคิดว่าทำไมกระบวนการนั้นช่วยลดความเครียด  และตัวกระบวนการเป็นอย่างไร    เมื่อนักเรียนใช้เครื่องมือคล่องแล้วมอบให้นักเรียนผลัดกันเป็นผู้ดำเนินการ   เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ประจำวัน แก่นักเรียน และต่อตัวครูเองด้วย 

·      ยืดเหยียด พัก  ให้นักเรียนยืนขึ้น  และเคลื่อนไหวร่างกายเป็นชุด ให้เหยียดแขนขาเขย่งเท้า   ก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้าแล้วก้าวอีกข้างตามไป    ก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลังแล้วก้าวอีกข้างตามไป   เอามือสองข้างประกบกันและกดเข้าหากัน แล้วปล่อย  ฯลฯ    มีผลการวิจัยบอกว่ากิจกรรมเคลื่อนไหวทำนองนี้ช่วยลดความเครียด

·      เคลื่อนไหวดั่งสายน้ำ   ยืนขางอเล็กน้อย  เคลื่อนไหวแขนช้าๆ ในแบบชี่กง    มีผลการวิจัยบอกว่า ช่วยลดความเครียดเพิ่มสมาธิและความสร้างสรรค์  

·      อานาปานสติ   ให้นักเรียนยืนขึ้น  หายใจเข้าช้าๆ จนสุด นับหนึ่งสองแล้วหายใจออก    ทำซ้ำสองสามนาที    มีผลการวิจัยบอกว่าช่วยลดความเครียดทั้งในนักเรียนประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย (ในสหรัฐอเมริกา)   

วิธีเพิ่มความเครียดที่เป็นคุณใช้หลักการว่าความเครียดที่เป็นคุณนี้จะเพิ่มเมื่อมีความรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้พร้อมๆ กันกับรู้สึกตื่นเต้น   ตัวอย่างเช่น

·      เคลื่อนไหวร่างกาย    เช่น เดิน สวนสนาม  เต้น  หรือทำตามตัวอย่าง

·      ดนตรี    โดยฟังหรือเล่นเองก็ได้  

·      ร่วมมือ   หรือแข่งขัน ก็ได้

·      เส้นตาย   เพื่อสร้างความรู้สึกรีบด่วน (urgency

·      ทำตามผู้นำ  ซึ่งอาจเป็นครู นักเรียนหรือเสียงจากเครื่องบันทึกเสียง

มีผลการวิจัยมากมายยืนยันว่ากิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยเพิ่มความตั้งใจเรียน  พฤติกรรม ผลการเรียน  และ ExecutiveFunctions

เขาแนะนำกิจกรรมง่ายๆ ๖ แบบต่อไปนี้ที่มีผลการวิจัยพิสูจน์แล้วว่า ช่วยการเรียนรู้ และพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียน   

        คำสั่งของสมชาย

              เป็นเกมฝึกการบังคับตัวเอง    เริ่มด้วยการบอกให้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวง่ายๆเช่น “ยืนขึ้น เขย่งเท้าทั้งสองข้าง นับหนึ่งสองสามแล้วเอาลง””    หลังจากนั้นบอกว่า “ต่อไปนี้สมชายให้สองคำสั่งให้ทำเฉพาะคำสั่งที่สองเท่านั้น”    หรือ  “ต่อไปนี้สมชายบอกสามคำสั่งให้ทำเฉพาะคำสั่งอันกลางเท่านั้น”  

         ขยับตามเพลง

              เลือกเพลงมา ๕ - ๗ เพลง ที่มีความแตกต่างกันมากในด้านจังหวะความเร็ว สไตล์    เปิดเพลงสลับกันเพลงละ ๑๕- ๒๐ วินาที    ให้นักเรียนเต้นตามจังหวะเพลง   เมื่อถึงเพลงสุดท้ายบอกให้นักเรียนเต้นกลับโต๊ะของตน  ครูต้องเลือกเพลงให้เหมาะต่อช่วงอายุของนักเรียน

        แตะหัวถึงเท้า

             ให้นักเรียนยืนขึ้น ครูบอกให้เหยียดแขน ยื่นมือไปแตะศีรษะ  หัวแม่เท้า  เข่า ไหล่  แล้วไล่กลับ    ถ้าเป็นนักเรียนประถม ใช้สูตรง่ายๆ เช่นแตะศีรษะกับหัวแม่เท้า    ถ้าเป็นเด็กมัธยมใช้สูตรที่ยากขึ้น (ศีรษะ  หัวแม่เท้า  เข่า และไหล่)    มีผลงานวิจัยบอกว่าช่วยเพิ่มความเอาใจใส่  ความจำใช้งาน  และการควบคุมตนเอง    นำไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้นด้านภาษาและคณิตศาสตร์      

        เสียงกลอง

            ให้นักเรียนเคลื่อนไหวร่างกายตามข้อตกลง   โดยใช้เสียงกลองเป็นสัญญาณ   เช่นให้เต้นจังหวะช้าเร็วตามจังหวะเสียงกลอง และหยุดนิ่งเมื่อไม่มีเสียงกลอง    หรือตกลงตรงกันข้าม ให้เต้นจังหวะเร็วเมื่อกลองช้า   และเต้นจังหวะช้าเมื่อกลองเร็ว

       วาทยกร

            ให้นักเรียนทุกคนเป็นนักดนตรี (จริงหรือสมมติ)ครูหรือนักเรียนหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นวาทยกร   โดยใช้ดินสอหรือไม้ตีกลองเป็นไม้ส่งสัญญาณ (baton)    ช่วงแรกนักดนตรีเล่นเพลงตามจังหวะของวาทยกร    แล้วสลับเป็นเมื่อวาทยกรให้สัญญาณจังหวะเร็วนักดนตรีเล่นช้า   เมื่อวาทยกรให้จังหวะช้า นักดนตรีเล่นเร็ว

        แตะแล้วไป

            ครูเปิดเพลง ๖๐ วินาที  ให้นักเรียนลุกขึ้น เดินไปทำกิจกรรมตามที่ตกลงกัน  เช่นไปแตะเก้าอี้ ๑๐ ตัว    แตะฝาผนังห้องทั้งสี่ด้าน    แตะสิ่งของที่ทำด้วยไม้ ฯลฯ    เมื่อเพลงจบนักเรียนกลับไปนั่งที่เดิม    กิจกรรมง่ายๆ เช่นนี้ มีผลการวิจัยพิสูจน์ว่าช่วยเพิ่มระดับ โดปามีน (ช่วยความจำใช้งาน ความยืดหยุ่นของสมอง และความพยายาม) และเพิ่ม นอร์อะดรีนาลีน (ช่วยการพุ่งความสนใจ และความจำระยะยาว)  มีผลเพิ่มการเรียนรู้และความสนใจต่อการเรียน      

วิจารณ์ พานิช

๑๐ พ.ค. ๖๒

ศาลาริมน้ำ  สวนสามพราน

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท