ชีวิตที่พอเพียง 3508. ยิ่งใหญ่ที่แก่น



หนังสือ  Primary Greatness : The 12 Levers of Success (2015)   เขียนโดย Stephen Covey ()    บอกว่า ความยิ่งใหญ่มีสองชั้น คือ ยิ่งใหญ่ที่เปลือก(secondary greatness) ต้องใช้วัตถุช่วยบอก เช่นรถยนต์ บ้าน กระเป๋าถือ ฯลฯ  เป็นความสำเร็จด้านวัตถุ    กับ ยิ่งใหญ่ที่แก่น (primary greatness) ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติภายใน ได้แก่ ความมีเกียรติ  มีความมั่นคงในคุณธรรม  ความคงเส้นคงวา  ความไม่เห็นแก่ตัว  และมุ่งมั่นทำสิ่งที่มีคุณค่าที่เลยจากผลประโยชน์ส่วนตน     

ข่าวดีคือ ความยิ่งใหญ่ที่แก่นพัฒนาได้    เขาอ้าง Perry Preschool Project ที่มีการศึกษาเด็กเล็ก (ก่อนเข้าโรงเรียน) ๑๒๓ คน ในปี ๒๕๐๘  แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มแรกฝึกให้รู้จักรอผลที่ดีกว่า (delayed gratification)    กลุ่มหลังเป็นกลุ่มควบคุมหรือเปรียบเทียบไม่ได้รับการฝึก    แล้วติดตามผลการดำเนินชีวิตเป็นระยะๆ    ๕๐ ปีให้หลัง     พบว่าคนกลุ่มแรกเรียนจบมหาวิทยาลัยมากกว่า  มีงานทำดีกว่า  และถูกจับกุมจากการทำผิดกฎหมายน้อยกว่า   

  ผู้เขียนบอกว่าได้ทำวิจัย และค้นพบว่า ปัจจัยสู่ความยิ่งใหญ่ที่แก่น  ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต มี ๑๒ ประการ คือ

  1. 1.  ความมั่นคงในคุณธรรม (integrity)  
  2. 2. การทำคุณประโยชน์ (contribution)
  3. 3. การจัดลำดับความสำคัญ (priority)
  4. 4. ความเสียสละ (personal sacrifice)
  5. 5. การรับใช้ (service)
  6. 6. ความกตัญญู หรือตอบแทน (reciprocity)
  7. 7. ความแตกต่างหลากหลาย (diversity)
  8. 8. ความรับผิดชอบ (responsibility)
  9. 9. ความจงรักภักดี (loyalty)
  10. 10. การเรียนรู้ (learning)
  11. 11. การสอน (teaching)
  12. 12. เปลี่ยนสู่สภาพใหม่ (renewal)

สิ่งที่ผู้ยิ่งใหญ่ที่แก่นได้รับคือ ความสงบเย็นภายใน  ความรู้สึกพอใจในชีวิต  และความมั่งคั่งที่ยั่งยืน    เส้นทางสู่ชีวิตอุดมดังกล่าวได้จากการเตรียมฝึกสมองให้รู้จักเปิดรับหรือเรียนรู้    โดยมีเครื่องมือดังต่อไปนี้

  • มีสติมั่นคง (self-affirmation) 
  • เชื่อมระบบคุณค่า ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ   สู่ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความกล้าหาญ ซึ่งเป็นสององค์ประกอบของความมั่นคงในคุณธรรม
  • เชื่อมโยงเป้าหมายยิ่งใหญ่ในชีวิต (purpose) สู่การทำคุณประโยชน์ และลำดับความสำคัญในชีวิต
  • สู่ความเสียสละ มุ่งรับใช้สังคม    โดยลดอัตตาตัวตน (ego)  
  • มีความมั่นใจในตนเอง  รู้สึกปลอดภัย    เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมั่นคง    
  • สร้างดุลยภาพระหว่างสุขภาวะด้าน กาย ใจ และสังคม    เพื่อปูทางสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation / renewal)   โดยพึงตระหนักว่า สุขภาวะด้าน กาย ใจ และสังคม เชื่อมโยงเสริมส่งซึ่งกันและกัน    เขาแนะนำ “การดูแลตนเองอย่างเป็นองค์รวม” (holistic approach to healthcare)  

คนใหญ่จริง คือคนที่มุ่งรับใช้ผู้อื่น   เป็นชีวิตอุดมกว่าชีวิตที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตน เช่นเงินและเกียรติ

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 666794เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2019 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2019 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท