๙๘๘. สอนให้คิด...


ผมมีโครงการจะให้นักเรียนป.๖ ปลูกผลไม้เป็นที่ระลึกคนละ ๑ ต้น..ดินที่โรงเรียนเป็นดินดานคงไม่เหมาะนัก ต้องอาศัยตัวช่วยดีๆที่นักเรียนทำกับมือมาใส่ก้นหลุม..

         ปัจจุบันมีการสอนหลายรูปแบบ สำหรับผมไม่ค่อยจะได้ศึกษารูปแบบใหม่ๆเท่าที่ควร เพราะผมคิดว่า..สอนแบบไหนก็ได้ที่เด็กเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง

    ที่สอนอยู่ทุกวันนี้.ผมมักจะใช้การสอนแบบ”อัตนัย” คืออ่าน คิดแล้วก็เขียนตอบแบบบรรยาย ผมเชื่อว่าเด็กอ่านออกย่อมเขียนได้ ถ้ารักการอ่าน ก็ย่อมที่จะรักการเขียน

        ผมต้องการให้เด็กคิดเยอะๆ ก่อนที่จะลงมือเขียนอธิบาย เป็นการฝึกสมอง ลองจินตนาการ ผมจะไม่ตีกรอบคำตอบ และสุดท้ายผมก็ได้เห็นลายมือและความระเบียบ

        วันนี้..จัดกิจกรรมให้เด็กป.๖ สองเรื่องสองรสด้วยกัน เริ่มจากการเทนมกล่องของโรงเรียน..ที่ใกล้จะเสียแล้ว นมยังไม่หมดอายุ แต่เนื่องจากรถขนส่งเรียงซ้อนทับกันมา

        ผมไม่ได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนนมลังใหม่จากเทศบาล แต่นำมาจัดกิจกรรมเกษตรอินทรีย์น่าจะดีกว่า..นักเรียนเทนมใส่ถังเรียบร้อยแล้ว ผมก็ตั้งคำถามทันที

        นม..นอกจากจะสร้างการเจริญเติบโตและแข็งแรงแล้ว นมสด..นำไปทำอะไรได้อีก? นักเรียนก็เขียนอธิบายกันมายาวเหยียด ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่บอกว่าไปทำปุ๋ยหมัก..

        ผมก็เลยถามต่อ..ว่าปุ๋ยหมักของนักเรียน..มีสูตรอย่างไร มีส่วนผสมของอะไรบ้าง ใช้เวลาหมักกี่วัน..แล้วปุ๋ยหมักที่ว่านี้มีสรรพคุณอย่างไร..มีความเหมาะสมกับพืชผักอะไรบ้าง?

        ผมคิดว่าถ้านักเรียนใช้ความคิดและเขียนเสร็จแล้ว ผมจะให้ทำการทดลอง แล้วสังเกตและบันทึกผลด้วยตนเอง..คือคิดเองทำเองและใช้เอง..แต่คงต้องใช้เวลาบ้าง

        ช่วงบ่าย..ด้วยความเสียดาย”ผักตบชวา”ที่กำลังตากแห้งอยู่ริมสระ ทับถมทอดตัวเป็นแนวยาว..บางส่วนยังดูสวยสดงดงาม น่าจะทำประโยชน์ได้..

        ผมให้นักเรียนใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่กล้าให้ใช้มีดเพราะกลัวว่าจะบาดมือ เด็กๆช่วยกันตัดก็ได้เยอะอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าครูให้ตัดไปทำไม?

        นักเรียนเคยเห็นแต่ผักตบชวาต้นใหญ่โยนลงไปในบ่อ ไม่นานก็ย่อยสลายกลายเป็นดิน แต่รายการนี้..ผมจะให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง อาจจะถามครูประจำชั้นหรือดูจากยูทูป..ก็ได้

        จากนั้นผมก็จะให้สานต่องาน โดยใช้ผักตบชวาที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผมเชื่อว่าก่อนที่เขาจะจบ ป.๖ เขาต้องได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน

       ผมมีโครงการจะให้นักเรียนป.๖ ปลูกผลไม้เป็นที่ระลึกคนละ ๑ ต้น..ดินที่โรงเรียนเป็นดินดานคงไม่เหมาะนัก ต้องอาศัยตัวช่วยดีๆที่นักเรียนทำกับมือมาใส่ก้นหลุม..   

        ๔ ปี หรือก่อนเกษียณ..ผมอาจจะได้เห็นผลงานของเด็กรุ่นนี้...ก็เป็นไปได้

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๗  สิงหาคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 666678เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2019 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2019 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท