ชีวิตที่พอเพียง 3504a. วิธีใช้วิกฤติเป็นโอกาส
หนังสือ Upheaval : TurningPoints for Nations in Crisis เขียนโดย Jared Diamond นักเขียนมือรางวัลพูลิตเซอร์ บอกวิธีแปลงวิกฤติเป็นโอกาส ๑๒ ข้อ โดยข้อสำคัญที่สุดคือ “เปลี่ยนแปลงสู่สภาพที่เลือกสรรแล้ว” (selectivechange) คือวิกฤติเป็นสัญญาณว่า ต้องการการเปลี่ยนแปลง จึงต้องไม่ทำหรืออยู่แบบเดิม ต้องเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนอย่างมีสติและมีปัญญา ที่เขาเรียกว่า selective change
สภาพวิกฤติคือสภาพที่ปัญหาท่วมท้น เกินกำลังต้านทาน ตั้งรับ หรือแก้ไข
โดยเขายกตัวอย่างเรื่องราววิกฤติที่เกิดในประวัติศาสตร์ของ๗ ประเทศ ที่การดำเนินการตามหลักการ ๑๒ข้อ นำไปสู่ผลดี ตัวอย่างที่เด่นคือฟินแลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย
หลักการ ๑๒ ข้อ สำหรับแก้วิกฤติส่วนบุคคลหรือของประเทศ ได้แก่
1. ยอมรับว่ามีวิกฤติเกิดขึ้นจริง การปฏิเสธไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา
2. ยอมรับว่า ตนมีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหานั้น
3. เลือกประเด็นที่จะคงไว้อย่างเดิมและประเด็นที่จะต้องเปลี่ยน นี่คือ selective change
4. แสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก
5. เรียนรู้วิธีการแก้วิกฤติที่ผู้อื่นเคยใช้ได้ผลมาแล้ว
6. ทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเอง หรือของประเทศ
7. ประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ (honest self-appraisal)
8. เรียนรู้จากการแก้วิกฤติของตนเองในอดีต
9. อดทนต่อความล้มเหลว
10. มีความยืดหยุ่น
11. กำหนดคุณค่าหลัก (core values) ของตน
12. ทำความเข้าใจข้อจำกัดของตนเองในการดำเนินการ selective change
กล่าวอย่างง่าย วิธีการคือ ต้องยอมรับว่ามีวิกฤติเกิดขึ้น เป็นสัญญาณเตือนว่าตนหรือประเทศได้เดินทางมาถึงทางแยกหรือจุดเปลี่ยน (turningpoint) ที่จะดำรงอยู่อย่างเดิมไม่ได้แล้ว และตนต้องเป็นผู้แก้ หรือมีส่วนแก้ โดยต้องอดทนไม่ท้อถอยหรือยอมแพ้ ใช้หลักการดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ ปัญญาและคุมอารมณ์ให้ไม่ตกใจเกินควร (panic) ใช้หลักการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องและไม่ยอมเปลี่ยนในบางเรื่อง คือคิดให้ชัดว่าต้องไม่ยอมเปลี่ยนแปลงส่วนใด(ส่วนที่เป็นตัวตน หรืออัตลักษณ์ ของตน) และยอมเปลี่ยนส่วนใด และคิดให้ชัดว่าตนเองดำเนินการเองได้ในส่วนใด ส่วนไหนที่เกินกำลังต้องหารความช่วยเหลือจากภายนอก
หัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ selective change ในยามวิกฤติ ที่เขาเสนอกลยุทธ “สร้างรั้ว”(building a fence) ซึ่งหมายถึงแยกแยะประเด็นที่กำลังเผชิญ และพิจารณาแล้วเห็นว่าควรเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ไว้ด้านหนึ่งของรั้ว ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ควรแตะต้องหรือควรรักษาไว้อย่างเดิม ไว้อีกด้านหนึ่งของรั้ว การดำเนินการแก้ไข ทำเฉพาะเรื่องในรั้วด้านแก้ไขเท่านั้น ไม่เปะปะสับสน โปรดสังเกตนะครับว่าในยามวิกฤติที่ปัญหาท่วมท้น ในกรณีของวิกฤติส่วนตัว คนที่จะคงสติ (และปัญญา) ให้แยกแยะประเด็นไว้สองข้างรั้วได้ต้องเป็นคนที่มี executive functions แข็งแรงเป็นพิเศษ
รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ คนชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างผมจึงชอบมาก ที่ได้อ่านประวัติศาสตร์แนววิเคราะห์เจาะลึกแบบนี้
วิจารณ์ พานิช
๒๔ ส.ค. ๖๒
ห้อง ๘ ชมทะเล รีสอร์ท หาดเจ้าสำราญ เพชรบุรี
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
วิกฤติความเชื่อทางการเมืองคนละขั้วของคนไทยยังเหมือนเดิมนะคะอาจารย์บางครั้งก็รู้สึกเครียด กับความคิดเห็นเหล่านี้ ……..