ชิวิตจริงของอินเทอร์น : ครูผู้สร้างความรู้เอง(๒)


ตามที่ได้นำเสนอไปในตอนที่แล้วว่าสไตเนอร์มองมนุษย์ด้วยความเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และเห็นว่ามนุษย์ในแต่ละช่วงวัยของชีวิตมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป

 

ใน ๗ ปีแรกนั้น ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการปลูกฝังให้คุณความดีเติบโตขึ้นในชีวิต  อีก ๗ ปีต่อมา (อายุ ๗ - ๑๔ ปี) ความงามกลายเป็นเรื่องหลัก  และอีก ๗ ปีหลังจากนั้น (อายุ ๑๔- ๒๑ ปี) ความจริงจะเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต เมื่อมองสาระสำคัญของแต่ละวัยว่าเป็นเช่นนี้แล้ว แนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละช่วงจึงมีความแตกต่างกันออกไปด้วย

 

วัยแรกเกิดจนถึง ๗ ปีนี้เป็นวัยที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ด้วยความมุ่งมั่นพยายาม พัฒนาการในแต่ละขั้น ตั้งแต่การชันคอ คว่ำ นั่ง คลาน ยืน เดิน และอื่นๆ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องผ่านไปให้ได้ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยพัฒนาการของร่างกายก็คือ การต่อสู้ และการฝึกฝนอย่างไม่ย่อท้อจะช่วยให้เราข้ามพ้นอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ เพื่อจะได้ก้าวสู่พัฒนาการในขั้นต่อไป การเคลื่อนไหวร่างกายนี้สร้างทั้งความสมดุลภายในร่างกาย รวมไปถึงความสมดุลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจด้วย

 

ที่สำคัญก็คือการรู้จักกับความผิดหวัง ความล้มเหลว การลุกขึ้นสู้ จะช่วยให้เขามีทักษะทางอารมณ์ที่มั่นคง รู้จักการพึ่งพาตนเอง และมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และยิ่งไปกว่านั้น การรู้จักความเจ็บจะก่อเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ภายในที่สร้างให้เขาเกิดความเมตตาต่อผู้อื่นได้ดี และเด็กที่ไม่เคยล้มในวัยเล็กยังจะกลายมาเป็นเด็กที่วิ่งป่วนอยู่ในห้องเรียนเมื่อเขาอยู่ในวัยประถมอีกด้วย

 

การสอนเด็กในวัยนี้ที่เหมาะที่สุดก็คือการสอนเรื่องของคุณธรรมความดีผ่านนิทาน และเรื่องเล่า ประกอบการเคลื่อนไหวที่มีท่วงทำนองของดนตรี การสอนให้เด็กมีวินัยในตนเองก็ทำได้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ นั่นเอง ของที่นำมาให้เล่นก็ควรเป็นของเล่นที่มีการเปิดช่องว่างให้เด็กเกิดจินตนาการต่อสิ่งนั้นๆได้ เช่น การให้เล่นกับดิน ทราย น้ำ ที่เปลี่ยนรูปได้ดั่งใจ หรือการต่อแท่งไม้ให้เป็นรูปทรงต่างๆ เป็นต้น เพราะการเล่นเช่นนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการแล้ว เด็กยังจะได้เรียนรู้เรื่องคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ  และได้คุ้นเคยกับสัมผัสชนิดต่างๆ ที่มาจากธรรมชาติด้วย

 

เด็กในช่วงวัยประถม การเรียนเรื่องต่างๆยังต้องการการร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราว ที่มีลำดับขั้นชัดเจน และต้องเชื่อมสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรมจนกว่าเด็กจะสร้างภาพในใจขึ้นได้เอง การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและสัมผัสที่หลากหลายยังคงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม ความงามจะเข้ามาสู่ชีวิตของเด็กได้ด้วยการใช้ศิลปะ ดนตรี และการเคลื่อนไหวเป็นสื่อ ซึ่งจะเป็นการซึมซับความงามที่เข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวของเขาด้วยการใช้ผัสสะทั้งหมด

 

ความเข้าใจในธรรมชาติ ความเข้าใจในชีวิต และการรับรู้ว่าเขาต้องยืนหยัดอยู่บนโลกนี้ด้วยตนเอง ทำให้การเรียนในเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยสี่ของชีวิตมีความสำคัญต่อคำถามที่เด็กในวัยนี้มีความสงสัยอยู่ในใจ และเป็นการเสริมความมั่นคงในทางอารมณ์ ความรู้สึกว่าเขาสามารถที่จะดูแลตัวเองให้ปลอดภัยได้อย่างไร

 

การเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของยุคต่างๆ ก็จะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจในความเป็นมา และความสัมพันธ์ของการอาศัยอยู่ร่วมกันของมนุษย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถขยายความเข้าใจออกไปได้ถึงรายละเอียดของการอยู่รวมกันของจักรวาลและดวงดาวต่างๆได้อีกด้วย การเรียนรู้ในวัยประถมนี้เป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับชีวิต และความรู้สึกมั่นคงภายในจิตใจ ซึ่งเป็นคำถามของช่วงวัยใน ๗ ปีที่สองของชีวิต

 

๗ ปีสุดท้ายที่มีความสัมพันธ์กับวัยเรียนอย่างเต็มที่ก็คือช่วงอายุระหว่าง ๑๔ - ๒๑ ปี  เด็กในวัยนี้มีความมั่นใจ และกล้าทำในสิ่งที่มีความแตกต่าง แต่ก็กลัวว่าจะไปไม่รอด จึงมักจะอยู่เป็นกลุ่ม และทำตามกลุ่ม แต่จะเน้นที่ความแตกต่างระหว่างกลุ่มตนกับกลุ่มอื่น  เรื่องสำคัญที่เด็กในวัยนี้ต้องการก็คือความมีวิจารณญาณซึ่งเกิดมาจากการรวมกันข้อมูลที่สั่งสมไว้ในวัยประถมกับการได้ฝึกคิดฝึกตัดสินใจ การได้เห็นแบบอย่างจากครูผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์ และการได้ประจักษ์กับความจริงของสิ่งต่างๆ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นนั่นเอง

 

สิ่งสำคัญที่อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยฉุดรั้งไม่ให้เด็กในวัยนี้เป็นไปตามอำนาจของอารมณ์ก็คือ การปลูกฝังให้เด็กรู้กับตัวตน และความคิดของตน เพื่อช่วยให้เขาค้นหาความเป็นตัวเองให้พบ และเกิดความรู้คิดที่จัดการกับตัวเองว่าชีวิตของเขาจะดำเนินไปอย่างไร

 

นอกจากความดี ความงาม ที่หล่อหลอมชีวิตจิตใจของเขาเมื่อวัยต้น จะเป็นรากฐานสำคัญให้กับการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของเขาในอนาคตแล้ว ยังมีเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ควรสอนให้เขาได้รู้จักควบคู่กันไป นั่นคือ เรื่องของ"กลิ่นสะอาด"

 

การสอนให้เขารู้จักกับกลิ่นของความสะอาด ว่ากลิ่นอย่างไหนคือกลิ่นสะอาด และเราจะจัดการให้สภาพแวดล้อมและบรรยากาศรอบตัวสะอาดอยู่เสมอได้อย่างไรนั้น ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมีความสำคัญที่ยิ่งใหญ่ และฝังรากลึกลงไปในมโนสำนึกเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่เรียกว่ากลิ่นของความสะอาดนี้แหละ ที่จะสอนให้ใจรู้จักกับความระมัดระวัง และมีความยับยั้งชั่วใจให้ไม่ทำในสิ่งที่ไม่สะอาด ที่สามารถปรากฏในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย

 

หากจะกล่าวโดยย่อ การศึกษาในแนววอลดอร์ฟนี้ เป็นการศึกษาที่มุ่งให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีความดี ความงาม และความจริงอยู่ในชีวิตจิตใจ ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งผลตรงไปถึงความรู้สึก นึก คิด การตัดสินใจ และการกระทำ เลยทีเดียว

 

ครูที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ลึกถึงระดับนี้ได้ จึงต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างความรู้ได้เอง จากการรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล และค่อยๆ พัฒนาเขาจากจุดที่เขาเป็นอยู่ ความรู้ชนิดนี้หาอ่านจากที่ไหนไม่ได้ แต่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ เพราะศิลปะการมองเด็กนี้เป็นทักษะที่ต้องสั่งสม

 

หากถามว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน ก็คงต้องบอกว่าที่การมองให้เห็นรายละเอียดของเด็กแต่ละคนให้มากที่สุด ทั้งที่เป็นรายละเอียดของรูปลักษณ์ อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงสิ่งที่จะทำให้ครูจำเขาได้ดี เพื่อต่อเติมฐานความรู้จักให้กับเด็กแต่ละคนที่อยู่ในความดูแลของเราให้มากที่สุด

 

จากนั้นลองค่อยๆทบทวนดูว่าเขาแต่ละคนทำอะไรได้ดี มาสัก ๕ สิ่ง และลองนึกถึงเหตุการณ์หรือชิ้นงานมาประกอบความเข้าใจด้วยเพื่อให้เห็นเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้น ในขั้นตอนนี้ต้องขอให้คุณครูวางภาพเดิมที่เคยมีต่อเด็กลงเสียก่อน เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสเห็นเขาอย่างที่เขาเป็นจริงๆ ซึ่งหากพิจารณากันจริงๆแล้วก็จะเห็นว่าความเป็นเขาก็เปลี่ยนไปตามบริบทด้วยเช่นกัน

 

สิ่งสำคัญคือการหยิบเอาเรื่องดีๆของเขาขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแล และคอยเพิ่มปัจจัยเกื้อหนุนให้สิ่งที่ดีอยู่แล้วค่อยๆ งอกงามขึ้น คอยชื่นชมเมื่อมีความคืบหน้าแม้เพียงเล็กน้อย  ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องคอยลิดส่วนที่เป็นอุปสรรคให้ค่อยๆ จางไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

หากคุณครูทุกคนบันทึกวิธีการ และความคืบหน้าที่เกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนไว้ ตัวบันทึกก็จะแสดงให้เห็นผลที่ก่อให้เกิดความชื่นใจอยู่เป็นระยะ  และตัวบันทึกนี้ก็จะกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า สามารถนำมาถอดบทเรียนให้กลายเป็นความรู้ในเรื่องการพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคลต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 66638เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2006 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

a po jakiemu to? ja nic nie rozumiem... ale pozdrawiam

คุณ nowa จะกรุณาแปลข้อคิดเห็นสักนิดได้ไหมคะ ไหนๆเราก็ชื่อละม้ายๆกัน ถ้า nova = new = ใหม่ / nowa จะ = อะไร :)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท