๙๘๓. ดนตรี..จิตอาสา


ผมชอบฟังดนตรีไทยจากวงปี่พาทย์มอญในงานศพ..เพลงที่ดูเศร้าแต่ก็เร้าใจในความรู้สึก เป็นเพลงชั้นสูงที่หาฟังยากมาก งานไหนที่มีการประโคมปี่พาทย์จะบ่งบอกฐานะเจ้าภาพได้ไม่น้อย

        วันก่อนผมจัดงานศพให้หลาน..ซึ่งครอบครัวมีปัญหาการเงิน..ผมผู้ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนพอที่จะมีเงินเก็บอยู่เล็กน้อย ก็เลยจัดงานสวดพระอภิธรรมให้เป็นเวลา ๒ คืน

    เป็น ๒ คืนที่ประหยัดเรียบง่าย ในรูปแบบที่พอเพียงของผม แต่ขั้นตอนพิธีการก็ถูกต้องครบถ้วนตามรูปแบบของวัดและชุมชนท้องถิ่นทุกอย่าง

    บทสรุป..หลังการฌาปนกิจศพเสร็จสิ้นลง ปรากฏว่าผมหมดเงินทำบุญไปกว่าครึ่งแสน..ทั้งการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ การทำบุญเลี้ยงพระและการต้อนรับผู้ที่มาในงาน

        ผมไม่เคยรู้สึกเสียดายเงิน เพราะตั้งใจทำเต็มที่เต็มกำลัง..ยึดความถูกต้องและความพอดี แต่ที่ได้บทเรียนครั้งนี้ก็คือ..ความรู้สึก..รู้สึกว่าถ้าใครยากจน คงจัดงานศพได้อย่างยากลำบากเป็นแน่แท้..

        จริงอยู่..คนไทยไม่ทิ้งกัน..แต่ค่านิยมและเศรษฐกิจ..จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย ก็เชื่อว่าองค์กรท้องถิ่น ชุมชนและวัด คงได้แก้ปัญหาและหาทางออกไว้บ้างแล้ว..

        สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับผมอีกอย่างก็คือ..ผมคิดไม่ทัน ไม่ได้ใช้โอกาสที่ผมมีในงานศพที่ผมจัดเอง..ผมลืมเรื่องดนตรีไทย..

        ผมชอบฟังดนตรีไทยจากวงปี่พาทย์มอญในงานศพ..เพลงที่ดูเศร้าแต่ก็เร้าใจในความรู้สึก เป็นเพลงชั้นสูงที่หาฟังยากมาก งานไหนที่มีการประโคมปี่พาทย์จะบ่งบอกฐานะเจ้าภาพได้ไม่น้อย

        ถ้าสวด ๓ คืน ค่าใช้จ่ายปี่พาทย์มอญก็หลายหมื่น ถ้ามีเฉพาะคืนสุดท้ายและบรรเลงอีกครั้งในช่วงก่อนเผา ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่หมื่นต้นๆ

        งานที่ผ่านมา ผมมั่นใจเลยว่าไม่มีปัญญาว่าจ้างอย่างแน่นอน แต่พอนึกย้อนกลับไป ก็เป็นอุทาหรณ์ให้คิดที่จะทำเรื่องจิตอาสา โดยปรึกษากับลูกชายไว้แล้ว

        ผมบอกลูกว่า..ศพคนยากคนจนในชุมชนก็มีถมไป ส่วนใหญ่ก็สวดพระอภิธรรมที่วัด เราน่าจะทำประโยชน์ด้วยการสร้างบรรยากาศในงานไม่ให้เงียบเหงา

        ขออนุญาตเจ้าภาพ ให้เราเป็นเล่นดนตรีไทยวงเล็ก ขับกล่อมให้เกียรติผู้วายชนม์ และเล่นให้คนที่มาฟังสวดได้รับชม สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทย โดยเล่นให้ฟรี

        ผมตีกลองแขกและตะโพน ลูกชายเป่าปีใน ขลุ่ยและปีชวา ส่วนกรับและฉิ่ง ให้นักเรียนช่วยตี เท่านี้เอง ใช้ผู้เล่นเพียง ๔ คนก็เป็นวงแล้ว

        บรรเลงช่วงก่อนพระสวดก็ได้ หรือหลังจากพระท่านสวดเสร็จแล้ว บรรเลงให้ผู้ที่มาฟังสวดรับฟัง ขณะที่นั่งทานข้าวต้มร้อนๆก็ย่อมได้

        ลูกชายเดี่ยวปี่ในที่มีเสียงเล็กแหลม ด้วยเพลงยาวๆสัก ๒ เพลงก็คุ้มแล้ว ตามด้วยเพลงแบบบ้านๆ ทำนอง ๒ ชั้น อีกสัก ๓ – ๔ เพลง เท่านี้เจ้าภาพก็ดีใจ ส่วนผมและลูกชายก็ถือว่าได้ทำงานจิตอาสาประสบความสำเร็จ

        ผมส่งโครงการฯให้ลูกชายพิจารณา ลูกชายผมหัวเราะ แล้วถามผมว่า.พ่อคิดได้ไงเนี่ย..?ผมก็ตอบว่า..ไม่มีใครอยากมีความทุกข์หรอกลูก และทุกคน..อยากให้ผู้ตายไปดีมีความสุขเป็นครั้งสุดท้าย..และเป็นเรื่องยากสำหรับสมัยนี้ที่จะคิดเรื่องมโหรีปี่พาทย์

        พ่อกับลูก..เกิดมาในสายครู มีความรู้ด้านศิลปะดนตรี ก็น่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน..พ่อเชื่อว่า..คนจนก็มีสิทธิฟังดนตรีไทยที่ไพเราะนะ..

        ลูกชายยิ้ม..ก่อนพูดเบาๆว่า..ผมน่ะไม่เท่าไหร่แต่พ่อจะไหวรึ กลับบ้านค่ำทุกวัน การเล่นดนตรีจิตอาสา ต้องมีเวลาและสุขภาพต้องแข็งแรง..

        ถ้าลูกโอเค..พ่อก็จะสู้และดูแลตัวเอง..ผมเริ่มรู้สึกว่า..ไฟในกายและใจของผมร้อนแรงเหลือเกิน..ว่าแต่ว่า..มีใครเห็นด้วยกับผมไหม?

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  สิงหาคม  ๒๕๖๒


หมายเลขบันทึก: 666142เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท