๙๗๗. บ้านหลังที่สอง...


บ้านก็คือครอบครัว หลายครอบครัวรวมกันเป็นหมู่บ้าน ชุมชนและสังคม เมื่อมีความเข้มแข็งเกิดขึ้น เราจะพบว่ามีปราชญ์ชาวบ้านให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำภูมิปัญญาของท่านมาใช้..

         ความเชื่อของผมก็คือ จะเปลี่ยนหลักสูตรอีกกี่ครั้ง โรงเรียนก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป อย่างเป็นธรรมชาติที่ควรจะเป็น ไม่ต้องเน้นการปรุงแต่งแต่ต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน

    เพื่อความเข้าใจที่ง่าย ให้นึกถึงหลักสูตรสถานศึกษาที่นำมาจากหลักสูตรแกนกลาง แล้วจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียนมีบรรยากาศที่เป็นบ้านหลังที่สอง

        บ้านก็คือครอบครัว หลายครอบครัวรวมกันเป็นหมู่บ้าน ชุมชนและสังคม เมื่อมีความเข้มแข็งเกิดขึ้น เราจะพบว่ามีปราชญ์ชาวบ้านให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำภูมิปัญญาของท่านมาใช้..

        ภูมิปัญญาดังกล่าว โรงเรียนสามารถเข้าถึงได้ใน ๒ สาขาหลักๆก็คือด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีและเกษตรอินทรีย์ที่เป็นวิถีแบบไทยๆ

        โรงเรียนขนาดเล็กที่ใกล้จะถูกยุบเลิกจะอยู่ใกล้ชิดกับภูมิปัญญาทั้งหลายเหล่านี้เสมอ และใช้โอกาสนี้บูรณาการด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้โรงเรียนมีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีชีวิตชีวา เด็กอยากเข้ามาสู่บ้านที่มีความอบอุ่นปลอดภัย มีกิจกรรมแปลกใหม่ให้ลงมือทำ นำไปเป็นอาหารได้

        เมื่อโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้าน..ผมจึงคิดว่า..อย่าทำให้บ้านห่างไกลจากชีวิตจริงของเด็ก..อย่าทำให้บ้านดูน่าเบื่อ และอย่าทำให้บ้านบ่มเพาะความเกียจคร้านให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก คือยิ่งเรียน..มากขึ้น..สูงขึ้น..ก็ยิ่งต้องจากบ้านและทิ้งชุมชนท้องถิ่นไป

        ประเทศไทยควรจัดการศึกษาที่ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังเสียที ด้วยการตอบโจทย์ที่เป็นข้อคำถามอยู่ในเวลานี้ ที่ต้องการจัดการศึกษาเพื่อให้ครูและเด็กไทยก้าวทันโลกทันเหตุการณ์

        เราตั้งโจทย์การศึกษาและพูดแบบนี้มากว่า ๒๐ ปีแล้ว..เพื่อแข่งขันกับใครก็ไม่รู้ ถ้าหันมาแข่งกับตัวเอง..ในรูปแบบของความเป็นไทย โรงเรียนคงทำให้ครูและเด็กมีความสุขมากขึ้น..

        โรงเรียนใหญ่ๆ ทั้งประถมและมัธยม..ที่มีครูและเด็กมากมาย จึงสอนความรู้เชิดชูเหรียญตรา ปรารถนาความเป็นที่หนึ่ง ทิ้งคนที่อ่อนแอไว้ข้างหลังอย่างมากมาย

        หลักสูตรใหม่ก็ไม่ช่วยอะไรได้ ถ้าเราไม่สอนวิชาชีวิต ให้เด็กมีทักษะพื้นฐานของงานอาชีพ เรียนรู้ในโรงเรียนที่เป็นบ้านคู่ขนานไปกับชุมชน

        อาจฟังดูไม่ทันสมัย ก้าวไปไม่ทันโลก แต่ก็เข้าใจได้ว่าน่าจะห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะสิ่งที่เด็กเขาตระหนักได้คือ..พิษภัยของสารเคมี..ไม่มีมลพิษ..พิชิตโลกร้อนได้ ในบ้านหลังที่สองของพวกเขา..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๓  สิงหาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 665403เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2019 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2019 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท