สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๑๖. จัดการตัวถ่วงการเรียนรู้



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๑๖. จัดการตัวถ่วงสมอง  นี้เป็นบันทึกที่ ๒ ใน ๔ บันทึกภายใต้ชุดความคิดหนุนศักยภาพของนักเรียน(enrichment mindset)    ตีความจาก Chapter 13 :  Manage the Cognitive Load         

สาระหลักในบันทึกนี้คือ นักเรียนขาดแคลนมีตัวถ่วงการเรียนรู้ (cognitive load)  คือมีเรื่องวิตกกังวลอยู่ในสมอง    ทำให้สมองไม่โปร่งโล่ง เรียนรู้ยาก  ไม่มีสมาธิอยู่กับการเรียน        

ตัวถ่วงการเรียนรู้ (cognitive load) หมายถึงความคิดหรือเรื่องราวภายในสมองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง     ที่เกิดขึ้นเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ เช่น กังวลว่ากลับไปบ้านเย็นนี้จะโดนพ่อเลี้ยงขี้เมาด่าว่าหรือไม่   เย็นนี้จะมีข้าวกินหรือไม่  ฯลฯ     หากไม่ได้รับการจัดการ ครูอาจเข้าใจผิดว่านักเรียนมีธรรมชาติเป็นคนหัวช้า (slow learner)    โดยที่ที่แท้จริงแล้วนักเรียนเรียนได้ช้าก็เพราะมีตัวถ่วง   

มีผลงานวิจัยบอกว่า ตัวถ่วงเหล่านี้ ทำให้ ไอคิว ลดลงถึง ๑๓ หน่วย    เพราะเมื่อครูให้นักเรียนคิดเรื่องวิชาการ  สมองของนักเรียนล่องลอยไปกับเรื่องที่วิตกกังวล    นักเรียนเหล่านี้ไม่ใช่เด็กสมองไม่ดี แต่สมองถูกใช้งานไปในทางอื่น (เพื่ออยู่รอด)    ครูจึงต้องมีชุดความคิดบวกต่อเด็กเหล่านี้    ต่อด้วยชุดความคิดหนุนศักยภาพ    โดยกระตุ้นความหวังและมองโลกแง่ดี (บันทึกที่ ๙)   สร้างเจตคติเชิงบวก (บันทึกที่ ๑๐)    เปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ (บันทึกที่ ๑๑)    ฟังนักเรียน (บันทึกที่ ๑๒)    สร้างความรู้สึกปลอดภัยในห้องเรียน (บันทึกที่ ๑๓)    และให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวและออกกำลัง เพื่อช่วยให้การเรียนรู้เกิดง่ายขึ้น    โดยสร้าง ชุดความคิดผูกพันนักเรียน (engagement mindset)    ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบันทึกที่ ... ต่อไป       

สาระสำคัญของบันทึกตอนที่ ๑๖ นี้คือเครื่องมือเอาชนะตัวถ่วงการเรียนรู้  และเครื่องมือฝึกทักษะการดึงความรู้ออกมาจากความจำ

เครื่องมือลดตัวถ่วงการเรียนรู้

ความวิตกกังวลที่เป็นตัวถ่วงการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กขาดแคลน คือกังวลเรื่องการถูกดูถูกดูแคลนจากครูและเพื่อนๆ     ซึ่งแก้ได้ง่าย โดยการที่ครูแสดงให้นักเรียนเหล่านี้เห็นว่า ครูเป็นห่วงเป็นใย และเอาใจใส่ความรู้สึกของเขา     และเนื่องจากห้องเรียนที่ครูจัด เป็นห้องเรียนที่เนื้อหาเข้มข้น  หากไม่มีเครื่องมือช่วย ใจของเด็กเหล่านี้จะหลุดจากการเรียน    และนอกจากเครื่องมือที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้  ครูต้องจัดให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพและด้านอารมณ์ (บันทึกที่ ๑๓)    เมื่อใช้เครื่องมือต่อไปนี้ ครูจะสังเกตเห็นว่า นักเรียนเอาใจใส่การเรียนมากขึ้น เข้าใจได้ดีขึ้น และจำได้ดีขึ้น  

        แบ่งความรู้เป็นตอนๆ

                 นักเรียนขาดแคลนมีความเครียดเรื้อรังติดตัว    ความเครียดเรื้อรังทำให้ “ความจำใช้งาน” (working memory) ลดลง    ความจำใช้งานเป็นทักษะการจดจำภาพหรือเสียงไว้ในสมองชั่วคราว และสังเคราะห์เข้ากับความรู้เดิม ได้เป็นคำตอบ หรือข้อคิดเห็น    หากสาระการเรียนรู้มีความซับซ้อนและก้อนใหญ่เกินไป    และครูสอนเร็วเกินไป   จะเกินกำลังความจำใช้งาน และความรู้เดิม ที่อ่อนแอของเด็ก    มีผลให้เด็กละความสนใจ    มีการวิจัย แนะนำให้ครูแบ่งเนื้อหาเป็นตอนๆ  แต่ละตอนใช้ความยาม ๓ - ๖ นาที    และใช้เวลาทบทวนความรู้ตอนก่อนๆ    ก่อนที่จะสอนต่อ   เปรียบเสมือนการกินข้าวทีละคำ  แบ่งเป็นคำเล็กๆ  และมีเวลาให้เคี้ยว          

       หยุดเป็นช่วงๆ

                 การหยุดเป็นช่วงๆ (ชั่วอึดใจ) เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนรู้อย่างหนึ่ง     เมื่อเริ่มคาบเรียน สรุปประเด็นที่จะเรียนด้วยถ้อยคำสองสามประโยค แล้วหยุด    หลังจากพูดประโยคสำคัญ ให้หยุดหนึ่งอึดใจเสมอ    ในไม่ช้านักเรียนจะจับสัญญาณนี้ได้

                 นอกจากนั้น เมื่อถึงตอนสำคัญ ให้บอกนักเรียนว่า สาระต่อไปนี้สำคัญ ให้เตรียมจด    นักเรียนต้องนำไปใช้ในภายหลัง    หยุดหนึ่งอึดใจแล้วบอก แล้วหยุดหนึ่งอึดใจ  

                 การหยุดเป็นช่วงๆ และบอกความสำคัญนี้ เป็นการช่วยสร้างความแข็งแรงของความจำใช้งาน         

         ยืดเวลาออกไป

                  มีผลงานวิจัยบอกว่า เมื่อครูขยายเวลาเรียนรู้ออกไป นักเรียนเข้าใจ และจดจำ ได้ดีขึ้น    ตัวอย่างเช่น มีสาระวิชาที่ต้องใช้เวลาเรียน ๑๐ ชั่วโมง    ซึ่งอาจเรียนจบภายใน ๒ วัน    แต่หากใช้เวลา ๑๐ ชั่วโมงนั้นในช่วงเวลา ๒ สัปดาห์  ผลการเรียนรู้จะดีกว่า   

                  การเรียนแบบนี้มีชื่อทางวิชาการว่า spaced learning  หรือ distributed learning    ใช้หลักการคือ “อย่ามาก อย่าเร็ว เพราะจะไม่ได้เรียนรู้จริง” (Too much, too fast, it won’t last)    เป็นวิธีเรียนที่ตรงกันข้ามกับ mass learning เช่นสอนตะลุย ๕๕ นาทีใน ๑ คาบ   effect size ของ spaced learning สูงถึง ๐.๗๑    แทนที่จะให้เรียนสาระต่อเนื่องกัน ๕๕ นาที     ก็ใช้วิธีแบ่งสาระออกเป็น ๖ ตอน ตอนละ ๙ นาที    ให้เรียนภายใน ๑ สัปดาห์   

                 เขาแนะนำให้เตรียมความพร้อมต่อการเรียนของนักเรียนล่วงหน้าก่อนการเรียนจริง หลายวันหรือหลายสัปดาห์    โดยการเกริ่นหลักการที่เข้าใจยาก ด้วยภาพหรือ infographic    และในการสอนแต่ละตอน เมื่อจะจบตอน ให้ย้อนกลับไปเอ่ยถึงสาระสำคัญของตอนที่แล้วหนึ่งหรือสองประโยค    และเอ่ยถึงตอนต่อไปอีกหนึ่งถึงสองประโยค  

              สมมติว่าสาระที่จะสอนทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วง เวลา ๔ สัปดาห์    เขาแนะนำให้สอนสาระร้อยละ ๘๕ ในช่วงสัปดาห์ที่สองและสาม    อีกร้อยละ ๑๕ สอนในช่วงสัปดาห์แรกและสัปดาห์สุดท้าย             

          ใช้เทคนิค Spaced Relevance

                  เป็นการใช้ spaced learning ร่วมกับ content relevance   คือใช้เวลาเรียนรู้เท่าเดิม  แต่ขยายช่วงเวลาให้ทอดยาวออกไป    และจัดให้นักเรียนได้มีช่วงทบทวนสาระและความสำคัญ    โดยแบ่งเวลาเรียนทั้งหมดออกเป็น ๓ ช่วง     ช่วงแรก ใช้เวลาร้อยละ ๕ – ๑๐ ของทั้งหมด ใช้เกริ่นนำ หรือเตรียมพร้อมนักเรียน    ช่วงที่สอง ใช้เวลาร้อยละ ๘๕ ใช้เรียนสาระ    และช่วงที่สาม ใช้เวลาร้อยละ ๕ – ๑๐ สำหรับทบทวน ที่เขาเรียกว่า post-review synthesis    ครูไม่พึงสอนตะลุยเนื้อหาให้จบ    เพราะนักเรียนจะไม่รู้จริง    

เครื่องมือช่วยฝึกทักษะการดึงความรู้ออกมาจากความจำ

การเรียนรู้ (learning) กับการดึงความรู้ออกมาจากความจำ (retrieval) อาจเป็นสิ่งเดียวกันสำหรับคนบางคน    แต่สำหรับอีกบางคน การดึงความรู้ออกมาจากความจำต้องการตัวช่วยหรือการบอกเป็นนัยๆ    เข้าใจว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้    ครูจึงต้องช่วยฝึกทักษะดึงความรู้ออกมาใช้งานให้แก่ศิษย์ด้วย

ผมเข้าใจว่า คนเราเก็บความรู้ไว้ใน “ความจำระยะยาว” (long term memory)    การดึงความรู้จาก ความจำระยะยาว เอามาใช้งานในความจำใช้งานนั้น ต้องมีการฝึก    หากมีการฝึกบ่อยๆ ในหลากหลายสถานการณ์ ก็จะดึงความรู้ออกมาได้คล่อง คือเร็วและครบถ้วนตามที่ต้องการ    หากไม่ฝึก ก็จะดึงออกมาแบบตะกุกตะกักและมักไม่ครบถ้วนตามที่ต้องการใช้งาน  

เขาบอกว่า ความจำ (memory) กับการระลึก (recall) เป็นคนละสิ่ง    และตัวลดช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้คือ (๑) การใช้บ่อยๆ  (๒) การที่เรื่องนั้นสอดคล้อง (relevance) กับชีวิตหรือประสบการณ์  และ (๓) ความเข้มข้นของความจำ (เกิดจากอารมณ์)  

แต่ในที่นี้ retrieve กับ recall แตกต่างกัน    คือ retrieval เป็นการนึกออกมาจากความจำ โดยไม่มีตัวช่วยกระตุ้นความจำใดๆ และไม่มีความต้องการใช้    เพียงต้องการทบทวนความจำเท่านั้น    ส่วน recall เป็นการระลึกในสถานการณ์ความต้องการใช้งาน     

เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่อสมองปลอดโปร่ง มีความเครียดน้อย และบรรยากาศเอื้อ คือมีสถานการณ์ที่ช่วยชี้โดยนัย    การระลึก (recall) เกิดได้คล่องแคล่ว

การฝึกดึงความรู้ออกมาจากความจำ (retrieval) มีประโยชน์มาก ต่อการเรียนรู้และจดจำ    และทำได้ง่ายๆ โดยการให้เวลานักเรียนเขียนสรุปสิ่งที่เรียนมาแล้ว โดยเขียนจากความจำ ไม่ดูสมุดโน้ต ไม่ปรึกษาเพื่อน (หากดูสมุดโน้ตหรือปรึกษาเพื่อน จะไม่ได้ผลจาก retrieval)    มีผลดีต่อการเรียนรู้มากมาย    แต่แปลกมาก ที่มีการใช้น้อย     ผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่ออายุเพียงประมาณ ๑๕ ปี ผมค้นพบเครื่องมือนี้ด้วยตนเอง    และปฏิบัติเป็นประจำ    ทำให้ผลการเรียนเด่นมาก    และผมใช้มาตลอดชีวิต

มีการวิจัยในนักเรียน ป. ๖ เรียนวิชาสังคมศึกษา   และนักเรียน ม. ๒ วิชาวิทยาศาสตร์    แบ่งนักเรียนเป็น ๒ กลุ่ม  ทั้งสองกลุ่มได้รับการสอนเนื้อหาพร้อมกัน    หลังจากนั้น กลุ่มควบคุมได้รับการทบทวนโดยฉายสไลด์ให้ดู    ส่วนกลุ่มทดลอง ได้รับการฝึก retrieval โดยเขียนลงบนกระดาษ    แล้วทั้งสองกลุ่มได้รับการทดสอบด้วยกัน    พบว่ากลุ่มควบคุมทำข้อสอบถูกร้อยละ ๗๙   ส่วนกลุ่มทดลองได้ร้อยละ ๙๒   เขาบอกว่าเป็นความแตกต่างของเกรดในระดับ C+ กับ A-   

เขาแนะนำการฝึก ดึงความรู้ออกมาจากความจำ โดยวิธีต่อไปนี้

  • ให้เวลานักเรียน quiz ตัวเอง
  • ให้นักเรียนตอบว่า ได้เรียนอะไรไปแล้วในวันนั้น หรือวันก่อน
  • ให้นักเรียนได้ฝึกทบทวนหลากหลายแบบ เช่นวันหนึ่งให้เขียนบน flip chart   วันต่อมาให้พูดปากเปล่า
  • มีโจทย์หลายแบบให้นักเรียนฝึกตอบ เช่น ทบทวนคำ  จำนวน รายการ  ประโยคหรือวลี   ข้อเท็จจริง  ให้ความเห็น  บอกเหตุและผล  เป็นต้น
  • จัดให้มีการฝึกหัดดึงความรู้ออกมาจากความจำหลายแบบ เช้น ในวันหนึ่งให้ทำร่วมกับเพื่อน  วันต่อมาให้ทำคนเดียว     

การฝึกดึงความรู้ออกมาจากความจำควรสลับระหว่างการดึงออกมาเป็นถ้อยคำ และการแสดงออกมาเป็นอวัจนะภาษา (ไม่ใช่ภาษาพูด)  หรือแสดงออกมาเป็นการ์ตูน  เป็น mind map   เป็นตาราง  เป็นกราฟ ฯลฯ   ตามความชอบและถนัดของนักเรียน    วิธีการดึงความรู้ออกมาเป็นอวัจนะภาษา ๒ วิธีอธิบายข้างล่างนี้

          ใช้ การจัดระบบความรู้ผ่านจักษุประสาท (visual organizer)

                  มีเครื่องมือมากมาย ได้แก่ mind map, time sequence, concept pattern organizer, target diagram, การ์ตูน, Venn Diagram, tree diagram, flowchart, cluster map, spider web, continuum diagram, concept map, descriptive pattern organizer   โดยเขาแนะนำหนังสือ Visual Tools for Constructing Knowledge  เขียนโดย David Hyerle (1996)    เขาแนะนำให้ใช้ในการสอบซ้อม   ให้เวลา ๑๐ นาที สำหรับให้นักเรียนเขียนบอกว่าตนรู้อะไรบ้างในเรื่องนั้น   การสอบแบบนี้อาจใช้ในการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) ก็ได้    หรือใช้ในการประเมินผลได้ตก (summative evaluation) ก็ได้    การใช้เครื่องมือนี้ช่วยฝึกดึงความรู้ออกมาจากความจำมี effect size ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้สูงถึง ๑.๒    

          แสดงท่าทีที่บ่งบอกสาระ

                 นี่คือการแสดงท่าทีของครู ตามเรื่องราวที่กำลังสอน    ซึ่งผลการวิจัยบอกว่า ช่วยลดตัวถ่วงการเรียนรู้ของนักเรียน   ทำให้นักเรียนเรียนรู้และจดจำได้ดีขึ้น   

                  อาจให้นักเรียนเป็นผู้แสดงท่าที   โดยนักเรียนทำงานเป็นทีม ช่วยกันระบุประเด็นหลักของบทเรียนที่เรียนไปแล้ว ๓ - ๔ ประเด็น    แล้วร่วมกันคัดเลือกให้เหลือ ๒   นำเสนอต่อชั้นเรียนเป็นท่าทาง ห้ามใช้คำพูด   เขาบอกว่าการเคลื่อนไหวช่วยการเรียนรู้ของเด็ก   และแนะนำเว็บไซต์ Math&Movement (mathandmovement.com) ที่แสดงวิธีส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ผ่านการเคลื่อนไหว  

วิจารณ์ พานิช

๒๙ เม.ย. ๖๒



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท