การประกอบสร้างความจริง ใน วรรณกรรม (5)


ภาพตัวแทนวีรบุรุษ ในวรรณกรรม

                         การสร้างความจริงในอัตลักษณ์ต่าง ๆ ผ่านเรื่องเล่าในวรรณกรรม เป็นกระบวนการสร้างความจริงที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าอัตลักษณ์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตามเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยระบบสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นภาพแทนอัตลักษณ์หนึ่งคือ ตัวแทนของวีรบุรุษ  ได้แก่งานของ วันขนะ ทองคำ (2550:14) ได้เขียนให้ความหมายของภาพแทนว่ามีจุดร่วมก็คือ เป็นการนำความจริงต้นแบบ มานำเสนอใหม่ โดยที่การนำเสนอภาพตัวแทนนั้นไม่ใช่การนำเสนอภาพแทนอย่างตรงไปตรงมา เพราะการเสนอภาพแทนเป็นการนำเภาพต้นแบบมาเสนอซ้ำ ภาพและคุณสมบัติจึงไม่ได้เท่าเทียมกับความจริง เพียงแต่คล้ายคลึงกับความจริงต้นแบบ เท่านั้น โดยภาพตัวแทนที่ถูกนิยามนั้นถูกเล่าในลักษณะใด

                    วันชนะ ทองคำเภา (2550:บทคัดย่อ) ได้ศึกษาภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมไทย  ผ่านวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  ซึ่งศึกษากลวิธีการเล่าเรื่อง ของ พระมหาธรรมราชา และปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมและการเมือง ผลการวิจัยพบว่า ภาพตัวแทนพระมหาธรรมราชา ไม่ใช่ภาพสะท้อนพระมหาธรรมราชาที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ แต่ถูกสร้างด้วยกลวิธีทางภาษา ความคิดทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมในยุคสมัย ภาพตัวแทนแบ่งตามสถานภาพ ในฐานะของขุนพิเรนทรเทพ เป็นผู้ปราบยุคเข็ญและนักรักนักรบ สองในสถานภาพของพระมหาธรรมราชา ผู้เป็ฯเจ้าเมืองพิษณุโกล ปรากำว่าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อชาติ ผู้เผด็จชาติตน และผู้พ่ายแพ้ และในสถานภาพสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา กลวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้นำเสนอภาพให้แตกต่างกัน ได้แก่ การสร้างโครงเรื่อง แก่นเรื่อง กลวิธีการสร้างตัวละคร การเลือกใช้ผู้เล่า และมุมมองของการเล่าเรื่องที่ต่างกัน และการใช้ฉากพื้นที่ของการเล่าเรื่อง ความคิดทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อการประกอบสร้างความเป็นพระมหาธรรมราชา ได้แก่ มโนทัศน์เรื่องวีรบุรุษ วาทกรรมการเมืองในวิกฤติการณ์ซึ่งเป็นวาทกรรมกระแสรอง และอิทธิพลของมโนทัศน์เรื่องพ่อของแผ่นดิน 

                        การสร้างความจริงในวรรณกรรมหรือเรื่องเล่า  ที่ผ่านการเล่าอีกครั้ง ซึ่งจะมีความละม้าย แต่ก็ไม่ใช่ความจริง เพราะมันคือ กระบวนการสร้างความจริง โดยใช้ความซับซ้อนทางด้านกลวิธีการประพันธ์ ในเรื่องนี้มีผู้ผลิตเรื่องเล่าอยู่หลายแหล่ง ประกอบกับผู้ผลิตที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงทำให้เรื่องที่ถูกนำเสนอนั้นมีความแตกต่างกัน ฮีโร่  หรือ วีรบุรุษ จึงประกอบสร้างขึ้นตามระเบียบของสังคม อุดมการณ์และวาทกรรมที่สร้างความจริง ผ่านภาษา

ภาพตัวแทน วีรสตรี ในวรรณกรรม 

                        การประกอบสร้างภาพตัวแทนวีรสตรี ในวรรณกรรมไทย ก็ไม่ได้แตกต่างจากกันมากมาย  มีงานการศึกษาที่เป็นตัวอย่างในงานของ  กษริน วงศ์กิตติชวลิต (2552) ที่ได้ศึกษา ภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยในวรรณกรรมไทย ในงาน วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  โดยการศึกษาครั้งนี้ก็มีวัตถุประสงค์  วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมุ่งวิเคราะห์ภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยที่ นำเสนอ กลวิธีการนำเสนอภาพตัวแทน และแนวคิดหรืออุดมการณ์ที่สัมพันธ์กับการประกอบ สร้างและนำเสนอภาพตัวแทนดังกล่าว

                        "พระสุริโยทัย" ถูกประกอบสร้างและ นำเสนอด้วยการใช้กลวิธีของการเล่าเรื่องให้เป็นภาพตัวแทนที่มีมิติหลากหลาย ภาพตัวแทนที่ หลากหลายเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตีความและการให้ความหมายแก่การสิ้นพระชนม์ กลางสมรภูมิของพระสุริโยทัยที่ต่างกันไป นอกจากนี้ภาพตัวแทนพระสุริโยทัยมีส่วนสัมพันธ์กับ แนวคิดหรืออุดมการณ์บางประการ     ภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยในวรรณกรรมแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มหลัก ได้แก่ (๑) ภาพยอด ภรรยา และ (๒) ภาพวีรสตรี ในภาพหลักแต่ละกลุ่มยังมีภาพย่อยที่เน้นมิติที่แตกต่างหลากหลาย ในตัวบทวรรณกรรมเรื่องหนึ่งสามารถนำเสนอได้มากกว่าหนึ่งภาพ แต่มักจะมีเพียงภาพที่โดดเด่น ที่สุดภาพเดียว (บทคัดย่อ)

                        กลวิธีการประพันธ์ที่ส่งผลให้ภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยแตกต่างกัน ได้แก่ แก่นเรื่อง ประเภทของโครงเรื่อง การนำเสนอตัวละคร มุมมองในการเล่าเรื่อง การอ้างถึงและการใช้ภาษาแนวคิดสำคัญที่สัมพันธ์กับการประกอบสร้างภาพตัวแทนของพระสุริโยทัย ได้แก่ แนวคิด เรื่องวีรบุรุษ/สตรีและแนวคิดเรื่องความเป็นผู้หญิง ที่ทำให้ภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยสามารถ นำเสนอความคิดเรื่องสำนึกรักชาติ ความคิดเรื่องการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์และความคิด เกี่ยวกับลักษณะของสตรีที่พึงประสงค์ของสังคม (บทคัดย่อ)

                        การประกอบสร้างภาพวีรบุรุษ วีรสตรีที่น่ายกย่องถึงวีรกรรมความเสียสละ ต่อชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการประกอบสร้างาภาพตัวแทนของพระมหาธรรมราชา หรือ พระสุริโรทัย ในรายงานการวิจัยดังกล่าว ได้แสดงให้ทราบว่า ความรู้นั้นถุกประกอบสร้างความจริงขึ้นมา เพื่อสร้างความหมายบางประการ เกิดจากการวางแก่นเรื่อง โครงเรื่อง มุมมองของผุ้เล่า ทำให้วีรบุรุษ วีรสตรี มีหลายเวอร์ชั่น ซึ่งก็สอดคล้องว่า เราไม่มีไทม์แมชชิน ไปค้นหาความจริงต้นแบบเสียแล้ว หรือแม้จะเข้าไปสัมภาษณ์ เรื่องเล่าผ่านสื่อจึงเข้ามาแทนที่ ยิ่งเป็นวรรณกรรมการจินตนาการย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย กว่าสื่ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวอย่างภาพยนตร์ หรือ รายการโทรทัศน์

อ้างอิง
กษริน วงศ์กิตติชวลิต (2552) ภาพตัวแทนของพระสุริโยทัยในวรรณกรรมไทย  วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
วันชนะ ทองคำเภา (2550) ภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมไทย  ผ่านวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

หมายเลขบันทึก: 664836เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2019 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2019 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท