๙๗๐. ปัญหาที่แท้จริง..(๒)


ผมไม่แปลกใจเลยว่า..ทำไมโรงเรียนที่ออกนอกกะลาหรือออกนอกระบบ จึงไม่ใช้หนังสือแบบเรียน แต่ใช้”วรรณกรรม”ที่หลากหลาย ให้นักเรียนอ่านและอ่าน จากนั้นก็ฝึกให้เด็กคิดและหาคำตอบด้วยตนเอง..

        คนในวงการศึกษามีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาแตกต่างกันไป แต่ถึงจะแตกต่างในมุมมองอย่างไร?..ผมก็ยังคิดว่าปัญหาก็น่าจะใกล้เคียงกัน...

    โดยส่วนตัวผมมองปัญหาการศึกษา..เหมือนกระดุม ๕ เม็ด..อย่าเพิ่งฮา..เพราะผมก็นำมาจากที่ประชุมสภา วันที่แถลงนโยบายของรัฐบาลนั่นแหละ

        ทุกวันนี้..มิอาจจะปฏิเสธได้เลยว่าการบริหารจัดการศึกษาของไทยวนไปวนมา ผมขอเปรียบเทียบว่าเหมือนเสื้อที่สวมใส่ ที่ติดกระดุมผิดมาโดยตลอด

        กระดุมเม็ดที่ ๑ ถึง ๕ ประกอบด้วย (๑) การอ่านคล่องเขียนคล่อง (๒) การอ่านคิดวิเคราะห์ (๓) การบริหารจัดการ (๔) ครู และ (๕) ผู้บริหารสถานศึกษา

        ผมขอพูดถึงปัญหารุนแรงระดับต้นๆ โดยเฉพาะการอ่าน คิดและวิเคราะห์ ที่ครูส่วนใหญ่เข้าใจค่อนข้างดี..และหนีไม่พ้นเสียแล้ว

        เข้าใจ..ในที่นี้หมายความว่า..จะให้เด็กท่องจำไม่ได้อีกแล้ว ความเข้าใจต่อมาก็คือ ถ้าเด็กอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง ก็จะอ่านแบบคิดวิเคราะห์เจาะลึกไม่ได้

        หลายคนอาจเป็นงงสงสัยว่าจะไปกังวลทำไม?ในเมื่อเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น(ป.๑ – ป.๖) แต่อย่าลืมว่า..แบบทดสอบตามตัวชี้วัดจากส่วนกลาง ณ ปัจจุบันนี้เริ่มที่ชั้น ป.๑ แล้วครับ จากนั้นก็ ป.๓ ( NT ) และ ป.๖ ( ONET)

        ชั้นที่ไม่ได้สอบ..นั่นก็หมายความว่าครูต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่? คือต้องฝึกทักษะการอ่าน และกางตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายของการประเมินผล

        ผมเริ่มจะให้ความสำคัญกับหนังสือเรียนน้อยลง ตั้งแต่สั่งซื้อแล้วได้ไม่ครบ ต้องรอทุกปี จนกระทั่ง..สังเกตข้อสอบที่สพฐ.นำมาให้ครูประเมินนักเรียนตลอด..ไม่น้อยกว่า ๕ ปี

        คนที่ออกข้อสอบ..เขาไม่ได้เอามาจากหนังสือเรียน เหมือนสมัยที่เราเรียนหนังสือ ทุกวิชาที่เด็กสอบ แทบจะทุกข้อคำถามเป็นแบบวิเคราะห์ทั้งหมด มีให้เขียนตอบด้วย(อัตนัย)

        โดยเฉพาะภาษาไทยกับวิทยาศาสตร์..เด็กต้องอ่านจนเหนื่อยกว่าจะได้คำตอบ บางครั้ง..ก็ไม่เจอคำตอบ..เด็กต้องคิดต่อยอด คิดสร้างสรรค์ และคิดอย่างละเอียดละออ

        ผมเองเคยปฏิเสธระบบการวัดผลแบบนี้ แต่เมื่อถามตัวเองว่า..เราไปห้ามเขาได้ไหม? ตราบใดที่เรายังอยู่ในวงการเราจะหนีวงจรแบบนี้ไปไม่พ้น

        ที่สำคัญที่สุดก็คือ การคิดในมุมบวกของครู ให้คิดว่า การอ่านคิดวิเคราะห์ เป็นทักษะ..ถ้าครูปลูกฝัง เด็กจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ได้ตลอดชีวิต..

        ผมไม่แปลกใจเลยว่า..ทำไมโรงเรียนที่ออกนอกกะลาหรือออกนอกระบบ จึงไม่ใช้หนังสือแบบเรียน แต่ใช้”วรรณกรรม”ที่หลากหลาย ให้นักเรียนอ่านและอ่าน จากนั้นก็ฝึกให้เด็กคิดและหาคำตอบด้วยตนเอง..

        เด็กจะถูกฝึกให้สังเคราะห์และวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงขั้นยากแบบแยบยล ซึ่งก็เหมาะสมตามวัยและความสนใจ ตลอดจนสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง

        ครูอย่าได้กังวลว่าเด็กป.๑ – ๒ จะวิเคราะห์ไม่ได้ เมื่ออ่านได้..เขาก็จะมีเครื่องมือที่เหมาะสมตามวัย..การสอนแบบนี้ค่าของคะแนนจะไม่มีศูนย์แท้ แต่มันเป็นแบบฝึกชีวิต

        ต่อเมื่อเด็กโตขึ้น..พัฒนาการจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเด็กได้ถูกฝึกมาอย่างถูกทาง ซึ่งจะดีกว่า..ท่องจำจากตำราแล้วนำไปสอบ..อันนี้ก็คงไม่ใช่การศึกษาในยุค 4.0 แน่นอน

        ผมใช้บทความ..จากวรรณกรรม..จากบทร้อยกรองและเรื่องสั้นสอนเด็กเกือบทุกวัน ทำมา ๒ – ๓ ปีแล้ว..ได้ผลดี เด็กชอบและอยากเรียน คะแนนอาจไม่พึงพอใจในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดเมื่อถูกประเมินด้วยข้อสอบกลาง เด็กจะมั่นใจและไม่กลัวข้อสอบ..

        การสอนแบบนี้..เป็นการบูรณาการและเชื่อมโยงเนื้อหาสาระได้พอสมควรทีเดียว ถ้าครูไม่ลองจะไม่รู้ ถ้าครูไม่เชื่อ..ครูอาจจะเหนื่อยและหลงทางก็เป็นได้

        ผมนำมาแลกเปลี่ยน..ก็หวังจะให้ทุกท่านมีความสุขในการสอนเหมือนผม อย่าเพิ่งไปหวังในความสำเร็จ แต่ให้ก้าวทันสถานการณ์ของการศึกษาบ้านเรา และยอมรับมัน..

        ผมไม่ได้มาโอ้อวด..ผมก็ทำหน้าที่ครูเหมือนกับท่าน..สิ่งที่ผมนำมาเล่าเร้าพลัง..ล้วนแต่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผมได้ทำมาแล้วทั้งสิ้น..เชื่อผมเหอะ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  สิงหาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 664463เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2019 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2019 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท