สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๑. บทนำ



ธนาคารโลกตีพิมพ์ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1) ส่งสัญญาณต่อโลก    ว่าการศึกษามีคุณค่าต่อพัฒนาการของโลกและของประเทศต่างๆ มากกว่าที่เราคิด    มีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์แต่ละชีวิตในทุกสังคม    โดยเขาไม่ได้แค่บอกความสำคัญของการศึกษา  ยังบอกวิธีการบรรลุผลการศึกษาคุณภาพสูงไว้ด้วย    อ่านแล้วเห็นชัดเจนว่า การจัดทำรายงานนี้มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมขอเสนอให้ผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาไทย และนักการศึกษาไทย อ่านเอกสารนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ และหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

แก่นของสาระในรายงานคือ ต้องยึด “การเรียนรู้” เป็นศูนย์กลาง

แปลกไหมครับ ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ ไม่ได้ยึดการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นเป้าหมายหลัก

รายงานนี้มี ๔ ส่วน  ได้แก่  (๑) พันธสัญญาของการศึกษา  (๒) ต้องเน้นที่การเรียนรู้  (๓) วิธีทำให้โรงเรียนสนองผู้เรียน  (๔) วิธีทำให้ระบบสนองการเรียนรู้   

แปลกมากนะครับ ที่รายงานนี้บอกว่า ระบบการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่ไม่สนองการเรียนรู้    ผมเข้าใจว่า ระบบการศึกษาไทยก็เป็นเช่นนั้น    เราจะได้ทำความเข้าใจในตอนที่ ๔ ของรายงาน ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น    และจะดึงระบบการศึกษาออกจากหุบเหวนั้นได้อย่างไร   

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอเล่าว่า สื่อมวลชนของประเทศต่างๆ กล่าวถึงร่างรายงานนี้อย่างไร    เว็บไซต์ของธนาคารโลกนำข้อมูลนี้มาลงไว้ที่ ()    ทำให้สามารถค้นคว้าเปรียบเทียบได้    สำหรับในประเทศไทย นสพ. บางกอกโพสต์ลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐  ตั้งข้อสงสัยว่า มีใครบ้างในประเทศไทยสนใจรายงานนี้    เพราะมีหลายรายงานจากองค์การระหว่างประเทศที่ชี้ให้เห็นความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทย    แต่ไม่มีการแก้ไข ()

หนังสือพิมพ์ New Strait Times ของมาเลเซียลงบทความเสนอความเห็นต่อการศึกษาของมาเลเซียหลังจากอ่าน WDR 2018  เน้นที่การเรียนภาษา    โดยผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนอยู่ที่ลอนดอน ()     ส่วนที่ประเทศฟิลิปปินส์ หนังสือพิมพ์ Manila Bulletin ลงบทความสะท้อนคิดหลังอ่านรายงาน WDR 2018 และไปฟังการอภิปรายเรื่องนี้   ว่าต้องเน้นแก้ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา    และยกตัวอย่างผู้นำที่เป็นตัวอย่างที่ดีด้านพัฒนาการศึกษา ()  

ส่วนที่อินเดียหนังสือพิมพ์ The Hindu ลงบทความของผู้เขียนที่ทำงานอยู่ใน IAS (Indian Administrative Service) โดยระบุว่าเป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน    ระบุว่า (๑) รายงานนี้เขียนแบบ “right-based approach”   และเน้นการศึกษาพาสู่อิสรภาพ   (๒) ปัญหาสำคัญที่พัฒนาการของเด็กเล็ก   ที่จะต้องเอาชนะภาวะทุพโภชนาการ อันเกิดจากความยากจน   (๓) เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ เฉพาะเมื่อเทคโนโลยีนั้นช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน   (๔) รายงานบอกว่าระบุได้ไม่ชัดว่ากลุ่มไหนดีกว่ากัน ระหว่างโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐ  (๕) ยังมีความขาดแคลนครู (

ที่ปากีสถานหนังสือพิมพ์ Dawn ลงบทความของนักวิจัย โยงประเด็นใน WDR 2018 เข้าสู่สภาพแรงงานในประเทศ    และเอ่ยถึง Annual Status of Education Report 2016   ที่ระบุชัดว่า ในปากีสถาน โรงเรียนเอกชนคุณภาพดีกว่าโรงเรียนของรัฐ    เขาลงท้ายด้วยหลักการ all for education ()   

ผมยกตัวอย่างข่าวหรือบทความในหนังสือพิมพ์ในบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย    เพื่อจะตั้งข้อสังเกตว่า ยกเว้นประเทศอินเดียที่มีข้าราชการเขียนถึงรายงานนี้     ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่ยกมา ข้อเขียนในหนังสือพิมพ์เป็นของ “คนนอก” ทั้งสิ้น    ไม่มีคนในวงการศึกษาเลย    แม้แต่ที่อินเดียผู้เขียนบอกว่าเป็นข้าราชการ ก็ไม่ได้ระบุว่าอยู่ในวงการศึกษา    ทำให้เป็นข้อสงสัยว่า คนในวงการศึกษาของประเทศต่างๆ มีปฏิกิริยาต่อรายงานนี้อย่างไร   

ประเทศไทยมี รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. ๒๕๖๑ () ซึ่งสาระแตกต่างจาก WDR 2018 โดยสิ้นเชิง    คือรายงานการศึกษาไทย พ.ศ. ๒๕๖๑ ไม่แตะเรื่อง “การเรียนรู้” เลย    ซึ่งน่าจะเป็นตัวบอกว่าชุดความคิดของคนในระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร    รายงานนี้ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๑   ในบรรณานุกรมไม่อ้างถึง WDR 2018   และรายงานอื่นๆ ขององค์การระหว่างประเทศ ที่กล่าวถึงคุณภาพของระบบการศึกษาไทยเลย    รวมทั้งรายงานของธนาคารโลกเรื่อง Growing Smarter : Learning and Equitable Development in East Asia and Pacific ()      

หันไปดูปฏิกิริยาในหนังสือพิมพ์ของประเทศที่การศึกษามีคุณภาพสูงกันบ้าง    หนังสือพิมพ์ China Daily ของจีนลงข่าวที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัว พาดหัวว่า World Bank warns of global learning crisis (๑๐)    โปรดดูภาพประกอบนะครับ ว่าเขาสื่ออะไร  

น่าเสียดาย ที่ข่าวจากประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูงในยุโรปเหนือ เป็นภาษาท้องถิ่น ผมอ่านไม่ออก    จึงไม่ทราบว่าวงการศึกษา และสังคมของเขามีปฏิกิริยาอย่างไร

ในขณะที่ผมตีความว่า วงการศึกษาไทยมีปฏิกิริยาในลักษณะ “ไม่สนใจ”    ซึ่งก็สะท้อนประเด็นที่จะต้องพัฒนาในระดับนโยบายของประเทศ     

ขอย้ำว่า ข้อตีความของผมอาจผิดพลาด และขออภัยหากไปล่วงละเมิดความรู้สึกของท่านใดเข้า     ข้อเขียนนี้ไม่มุ่งร้ายใคร    แต่มุ่งชักชวนกันฟื้นคุณภาพการศึกษาไทยกลับมา    เพื่อคุณภาพพลเมืองไทยในอนาคต   ซึ่งผมคงไม่มีโอกาสได้มีชีวิตยืนยาวจนเห็นผลที่มุ่งหวัง    แต่ผมก็เชื่อว่าคนไทยร่วมกันทำให้บรรลุได้        

ขอเชิญชวนให้เข้าไปที่หน้า ๒ ของรายงาน    ที่เขาสรุปประเด็นเพื่อดำเนินการ (Action) เป็น 3As คือ   (1) Assess learning (to make it a serious goal)  (2) Act on evidence (to make schools work for all learners  (3) Align actors (to make the whole system work for learning)    ผมตีความว่า นี่คือแก่นของสาระในรายงาน   

โยงเข้าหาระบบการศึกษาไทย    ผมคิดว่า หากผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาไทยดำเนินการนโยบายตาม ๓ ข้อข้างบน    ก็จะเป็นเส้นทางสู่การพลิกฟื้นคุณภาพการศึกษาของประเทศ    โดยขอย้ำว่าสิ่งที่พึงปฏิบัติคือ  (๑) ประเมินการเรียนรู้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างจริงจัง  (๒) ดำเนินการตามข้อมูลหลักฐาน เพื่อทำให้โรงเรียนเอาใจใส่ผู้เรียนทุกคน  (๓) ทำให้ภาคีที่หลากหลายรวมพลังกัน ทำให้ระบบการศึกษารับใช้ผู้เรียน    ทั้ง ๓ ข้อนี้ พุ่งเป้าที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน    

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 664104เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท