รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

บทสัมภาษณ์นักเขียน : นามสนิท บุญฤทธิ์


***บทสัมภาษณ์ สนิท บุญฤทธิ์ จากเว็บไซต์ประพันธ์สาส์น***

เป็นมนุษย์ถือหลักรู้จักแก้ 
แต่สายธารคืนวันที่ผันแปร 
ความไม่แน่นั้นจริงเหนือสิ่งใด 
อันที่จริงสิ่งเรียกหาว่าชีวิต 
อย่ามัวคิดแต่หวังตั้งต้นใหม่ 
เพราะที่แท้ชีวิตเมื่อผิดไป 
ยากตั้งใหม่ได้เหมือนนาฬิกาทราย 


นี่คือส่วนหนึ่งจากชิ้นงานที่ชื่อ นาฬิกาทราย 

ชื่อเดียวกับหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ของอาจารย์สนิท บุญฤทธิ์ ซึ่งผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุคส์อวอร์ด ถึงแม้หลายๆ คน จะไม่คุ้นหูกับชื่อนี้สักเท่าไหร่นัก เนื่องจากงานของอาจารย์สนิทนั้นไม่ได้มีการเผยแพร่ในวงกว้าง แต่ทุกคนที่ได้อ่านผลงานของอาจารย์ ล้วนยอมรับว่า สนิท บุญฤทธิ์ เป็น ผู้สืบทอดท่วงทำนองกวีสยามอย่างรู้จักของเก่าในคืนวันแห่งยุคใหม่ อย่างแท้จริง 

การได้สนทนากับนักเลงฉันทลักษณ์เช่น อาจารย์สนิท บุญฤทธิ์ ในการคุยนอกรอบครั้งนี้ จึงน่าจะมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่มีใจใฝ่รักในบทกวีเช่นกัน 

"ผมเริ่มต้นจากการอ่าน เมื่ออ่านมากๆ ทำให้รู้สึกว่าน่าจะทำได้ ก็ลองทำ ที่เขียนช่วงแรกๆ ก็จะเป็นการเขียนเรื่องสั้นๆ ล้อเพื่อน แล้วจริงๆ การที่เขียนได้ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะได้ครูดี มีครูที่สอน จุดประกายความคิด ให้ตัวอย่าง แบบอย่างในการเขียน การอ่านหนังสือมาก รวมถึงความชื่นชมในตัวนักเขียนทำให้อยากทำงานเขียน" 

"ผมรู้สึกว่านักเขียนนี่เหมือนเป็นพระเจ้า เพราะสามารถลิขิตชีวิตตัวละครได้ เหมือนเป็นพระพรหมนะ ก้อยากจะลองลิขิตชีวิตตัวละครบ้าง อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อยากเขียนก็คือ เราได้อ่านความคิดของคนอื่นมาก็เยอะ ก็เลยอยากจะให้คนอื่นได้อ่านความคิดของเราบ้าง พอเขียนไปแล้วได้กำลังใจจากคนใกล้ชิดอีก ก็เลยทำให้มีกำลังใจเขียนต่อไปเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เผยแพร่มากนักหรอก เพราะจะตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันเสียมากกว่า" 

"กำลังใจนี่เป็นสิ่งสำคัญนะ มีช่วงหนึ่งที่ผมได้ไปทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทำให้ได้รู้จักกับบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการของที่นั่น ซึ่งเขาก็ให้กำลังใจเราตลอด ทำให้ผมรู้สึกดีมาก ตอนนี้ผมเป็นบรรณาธิการที่ชมรมเด็ก ผมก็พยายามจะให้กำลังใจนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เช่นกัน" 

"งานเขียนชิ้นแรกที่ได้ทำให้ตีพิมพ์เผยแพร่นั้นมันทำให้นักเขียนตื้นตันจนกินข้าวไม่ลงได้เลยล่ะ มันภูมิใจ ตื้นตันนะ บอกยังไงก็ไม่รู้หรอก ต้องเจอด้วยตัวเอง แล้วจะเข้าใจความหมาย" 

"ที่จริงผมชอบทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองนะ ไม่ได้เขียนแต่ร้อยกรองอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาไหนคิดอะไร ก็เขียนในสิ่งที่เราคิด อยากนำเสนอ แต่จะดูว่า เรื่องนี้เหมาะกับการนำเสนอแบบไหน ถ้าควรจะมีตัวละคร ผูกเป็นเรื่องราวก็เขียนเป็นเรื่องสั้น แต่ถ้าเป็นการนำเสนอแนวคิด เป็นการสรุปสิ่งที่เราคิด ก็จะเขียนเป็นบทกวี" 

"พูดถึงคนปัจจุบันกับการเขียนบทกวีนี่มีการเขียนผิดเยอะ ซึ่งอาจเพราะเขามองอะไรฉาบฉวย รักในความคิดที่มันไม่ถูกต้อง ในความคิดผมนะ จะเห็นว่ามีคนบางกลุ่มเขียนกลอนเปล่า ผมไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อพูดถึงคำว่ากลอน ย่อมหมายถึงการเขียนที่มีสัมผัสคล้องจอง จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ดังนั้นถ้าไม่มีการสัมผัสก็ไม่ใช่กลอน มันฉาบฉวยเกินไป นึกจะเขียนอะไรก็เขียนโดยละทิ้งแบบแผนเก่าๆ แล้วมาบอกว่า นี่คือของใหม่ เป็นกลอนแบบใหม่ ผมก็ถามเขาว่ามันจะเป็นของใหม่ได้อย่างไร งั้นบอกมาสิว่าของเก่าของสิ่งที่คุณทำมันคืออะไร เขาก็ตอบไม่ได้ เพราะถ้าพูดว่ามันใหม่มันต้องมีตัวเทียบ อะไรใหม่กว่า อะไรเก่ากว่า ถ้าเป็นของใหม่ก็แสดงว่าต้องมีของเก่าสิ" 

"ในหลักการที่ผมสอนลูกศิษย์ คือสอนให้รู้จักของจริง ของเก่าจริงๆ เพื่อสร้างของใหม่ โดยดูว่าสิ่งไหนดี เราต้องรักษา สิ่งไหนไม่ดีเราต้องแก้ไข และเราต้องพัฒนาในสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น นี่จึงจะเป็นของใหม่จริงๆ ที่ทำให้เจริญ คนเราถ้าปฏิเสธของเก่า ก็เป็นของลอยๆ ไร้ราก ไร้ฐาน" 

"กวีไทยนี่ไม่ได้มีแต่โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ด้วยนะ มันยังมีกลอนพื้นบ้านอีก แต่เรามาทึกทักว่ามีแค่นั้น เพราะในตำราบอกมาแค่นั้น พอใครทำอะไรที่แปลกออกไปก็กลายเป็นการนอกครู ผมเองบางทีก็นอกครูด้วยความเคารพเหมือนกัน ไม่ได้โอหังนะ แต่ทำเพื่อพัฒนา ยกตัวอย่างครูสอนเราว่า กลอนนั้นมีสัมผัสสองชนิด คือสัมผัสนอก และสัมผัสใน เราก็สอนตามนั้น แต่ดูผลจากการสอน เด็กอ่านกลอนได้ แต่เขียนกลอนไม่ได้ หรือถึงเขียนได้ก็ไม่ต่อเนื่อง เพราะมันขาดสัมผัสต่อระหว่างบท เขียนมาก็ผิด ผมมานั่งวิเคราะห์ว่ามันเป็นเพราะอะไร แล้วก็หาวิธีสอนใหม่ ไม่สอนตามครู แบ่งใหม่เป็น กลอนมีสัมผัสสองอย่าง คือสัมผัสตามบังคับ หมายถึงต้องมี ถ้าไม่มีคือผิด และสัมผัสนอกบังคับ คือมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ พอสอนแบบนี้ลูกศิษย์ก็เริ่มเข้าใจถูก ก็เขียนได้ แบบนี้คือการนอกครูแล้วดี" 

"คนเดี๋ยวนี้ยังเข้าใจผิดเรื่องบทกวีเยอะ อย่างเรื่องบังคับเอกโทที่เข้าใจกันว่ามีเฉพาะโคลง ที่จริงไม่ใช่ กลอนก็มี เพียงแต่ไม่ได้บังคับ แต่เราลองสังเกตเสียงดูได้ คำสุดท้ายของกลอน ในวรรครับจะต้องเป็นเสียงตรี หรือจัตวา จะเพราะ แต่ถ้าเป็นเสียงสามัญจะไม่เพราะเลย มันจะแปร่ง ไม่เพราะ มันไม่ได้บังคับตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่ถ้าไม่ทำแล้วไม่เพราะ ซึ่งเราก็ต้องพิจารณาวิเคราะห์กัน" 

"ถ้าอยากเขียนกลอนให้ได้ เริ่มแรกสุดคือ ต้องเขียนด้วยใจรัก รักในงานกาพย์กลอน บทกวี มันต้องพิสูจน์กันนะ ถ้าคนรักกลอนจริง บอกให้ท่องให้ฟังสักบทต้องท่องได้ ผมเองพูดได้เต็มปากว่าผมรักบทกวี ตอนเด็กๆ ผมก็ท่องได้ จำได้ พอเรามีความรักเป็นทุนแล้ว ผมก็จะมีหลักการเขียนที่จะบอกกับทุกคนสั้นๆ 4 คำเท่านั้น คือ อ่าน เขียน เพื่อน พี่" 

"หนึ่ง คือ อ่าน หมายความว่าเราต้องรับให้มากที่สุด ต้องอ่าน ต้องเรียนรู้ รวมทั้งการฟังด้วย คือให้อ่านจนล้นเลยนะ พอรับมากๆ แล้วทุกอย่างมันจะล้นออกมาเอง สอง เขียน เราต้องเขียนให้มากที่สุด คนส่วนมากจะชอบพูดว่าเขียนไม่ได้ แต่จริงๆ ผมว่าเขาไม่ได้เขียนมากกว่า เพราะไม่ได้รัก หรือไม่ก็กลัวเกินไป คิดว่ามันยาก เพราะเวลาเรียนเขาบอกว่ามันต้องมีหลัก ก็กลัวเขียนแล้วจะผิดหลัก กลัวไปหมด ซึ่งที่จริงแล้วการเขียนก็คือการสื่อสารความคิด ดังนั้นจะเขียนอะไรก็ได้ เขียนไปเถอะ ไม่มีอะไรผิด อยากเขียนเท่าไหร่ก็เขียนไปอย่าไปกังวลมาก แต่มีวิธีพิสูจน์ว่าที่เขียนนั้นดีไหม ด้วยการเขียนเสร็จแล้วก็ถามตัวเอง อ่านรู้เรื่องไหม ถ้ารู้เรื่องก็พอใช้ได้ จากนั้นถามตัวเองสิว่า ดีไหม ถ้าดีก็ใช้ได้ จากนั้นก็ให้เพื่อนอ่านบ้าง รู้เรื่องไหม ดีไหม ถ้ารู้เรื่องและดีก็พอ กฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่มาทีหลัง การมองคนอื่นแล้วเอามาพัฒนามาทีหลัง" 

"สามคือ เพื่อน ต้องมีเพื่อนเพราะว่าการทำงานเขียนนั้นมันว้าเหว่ บางทีไม่รู้จะปรึกษาใคร ถ้ามีคนอ่านบ้างก็ยังพอมีกำลังใจถ้ามีคนที่ร่วมอุดมการณ์ เข้าใจ ให้กำลังใจกัน ช่วยกัน ผลัดกันอ่านงาน แนะนำกัน ก็จะมีประโยชน์มาก" 

"สุดท้ายคือ พี่ หมายถึงคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อนเรา เราไปคุยไปขอความคิดเห็น คำแนะนำ คำวิจารณ์ จะทำให้งานของเราดีขึ้นเป็นลำดับ"

หมายเลขบันทึก: 664101เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท