การศึกษาแบบยืดหยุ่น (Flexible Education)


ในการประชุมกลุ่มสามพรานเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒   ท่านคณบดีวิทยาลัยราชสุดา  มหาวิทยาลัยมหิดล (พญ. วัชรา ริ้วไพบูลย์) เสนอเรื่อง Flexible Education  (1) (2) เพื่อขอคำแนะนำจากที่ประชุม    ฟังแล้วผมได้ความรู้ว่า ถึงยุคที่การศึกษาจะต้องจัดแบบ Flexible Learning    เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนที่อยู่ในสภาพแตกต่างกัน   

อ. หมอวัชรา สนใจเอาการเรียนแบบยืดหยุ่นไปใช้ในวิทยาลัยราชสุดา ก็เพราะที่นั่นสอน นศ. พิการ    รวมทั้งต้องการเข้าถึงคนไม่พิการที่มีงานทำแล้ว    เพื่อไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ   

แต่ผมฟังแล้วคิดว่า อุดมศึกษาในอนาคตจะต้องพัฒนาสู่การเรียนแบบยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ    เพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่มอายุ  ทุกสถานะของการดำรงชีพ    โดยที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบที่กำกับโดย กกอ./สกอ. ที่ตึงและมีรูปแบตายตัวเกินไป จากความหวังดีเรื่องคุณภาพ    เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการอุดมศึกษาแนวยืดหยุ่น  กกอ./สกอ. ต้องเน้นกำกับคุณภาพขาออก    ไม่ใช่เน้นกำกับคุณภาพขาเข้าอย่างในปัจจุบัน  

ยืดหยุ่นอะไร เว็บไซต์ทั้งสองบอกว่า ยืดหยุ่นคุณสมบัติของผู้เข้าเรียน  เวลาเรียน  สถานที่เรียน (place)  วิธีจัดหลักสูตร   วิธีเรียน (mode)  ความเร็วในการเรียน (pace)  วิธีประเมิน  และการให้ใบรับรอง    หลักการสำคัญคือเปลี่ยนจากการจัดการศึกษาแบบ mass เพื่อความสะดวกของอาจารย์และสถาบัน    เป็นจัดการเรียนรู้แบบ individualized/personalized เพื่อความสะดวกของผู้เรียน   

ผมขอเสนอว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยไทยจะหันไปจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น    คู่ไปกับการจัดการศึกษาแบบเดิม    โดยที่ต้องตระหนักว่า การศึกษาแบบเดิมที่นักศึกษามาอยู่ร่วมกัน    มีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อเรียนรู้จากชีวิตมหาวิทยาลัย (campus life) มีคุณค่าต่อการหล่อหลอมเชิงวัฒนธรรมมาก   ช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ที่เรียกว่า 21st Century Skills ครบถ้วน    แต่การเรียนรู้แบบนี้มีข้อจำกัดที่สนองผู้เรียนได้เฉพาะในวัย ๑๗ – ๒๔ เท่านั้น   

 ขอเสนอว่า แม้ นศ. ที่เรียนแบบเดิมที่มาเรียนร่วมกันในมหาวิทยาลัยก็จัดให้เรียนแบบ personalized ได้    ผมไปเห็นที่เมืองจีนตอนไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ()    นักศึกษาชั้นเดียวกัน เรียนสาขาเดียวกัน แยกย้ายกันไปเรียนวิชาตามที่ตนเลือก   ไม่ได้เรียนเป็นชั้นเรียนในสาขาเดียวกันแบบที่ผมเคยเรียนทึ่จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

เครื่องอำนวยความสะดวกต่อ flexible learning คือ พัฒนาการด้าน ไอที    ที่ทำให้มี MOOCs ให้บริการแก่คนทั้งโลก    ที่มหาวิทยาลัยไทยสามารถกำหนดให้นักศึกษาเข้าไปเรียน เพื่อให้ได้ความรู้พื้นฐานเชิงหลักการ    แล้วมหาวิทยาลัยไทยจัด online & offline class เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนถูกต้อง และเชื่อมโยงเข้าสู่สถานการณ์ไทย    หรือฝึกปฏิบัติในบริบทไทย    ซึ่งหมายความว่า flexible learning model มีทั้งแบบ blended และ online learning อ่านเรื่อง flexible pedagogies : technology-enhanced learning ได้ที่ (3) ซึ่งมีหลักการที่น่าสนใจมาก       

เอกสารนี้ () ก็น่าสนใจมาก

สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีโรงเรียนแพทย์ถึงสองแห่ง รับนักศึกษาปีละ ๕ - ๖๐๐ คน    กล่าวกันว่าประมาณร้อยละสิบของนักศึกษา มาพบทีหลังว่าไม่อยากเรียนแพทย์    หลายคนต้องลาออกไปเริ่มต้นเรียนสาขาอื่นใหม่ หากมีการศึกษาแบบยืดหยุ่น นักศึกษาเหล่านี้สามารถถ่ายโอนหน่วยกิต (บางส่วน) ไปเรียนสาขาอื่นได้     

วิจารณ์ พานิช

๑๕ มิ.ย. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 663826เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2019 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2019 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท