การสร้างเสริมสุขภาพ สำหรับชมรมผู้สูงอายุ


[ผมเคยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ อยู่ประมาณ 10 ปี บทความนี้เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2554 หยิบมาอ่านใหม่ก็เห็นว่ายังใช้ประโยชน์ได้อยู่ ค้นทางอินเตอร์เนตไม่พบ จึงขอนำมาเผยแพร่ใหม่ โดยเพิ่มเติม Update ไว้ในวงเล็บใหญ่แบบนี้....อำนาจ 17 กค 62 ]


สุขภาพคืออะไร

สุขภาพมีความหมายสองอย่าง

ความหมายอย่างที่หนึ่งเป็นความหมายเดิม สุขภาพคือ ความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

ความหมายอย่างที่สองเป็นความหมายใหม่ สุขภาพคือความอยู่ดีมีสุข ครอบคลุม ทั้งสี่มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา (และรวมความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ด้วย)

สุขทางกายคือ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้จะมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ด้วย ก็ไม่ทุกข์ทรมานหรือลำบากกายจากความมีโรคภัยไข้เจ็บนั้นๆ

สุขทางใจคือ จิตใจที่เป็นสุข มีความสุขไม่ว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บหรือไม่ก็ตาม

สุขทางสังคมคือ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ทั้งในครอบครัว และในชุมชน

สุขทางปัญญาคือ มีจิตใจสูง (เช่น มีความเมตตากรุณา สติ สมาธิ) ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น เช่น ความสุขที่เกิดจากการมีจิตอาสา เป็นต้น


การสร้างเสริมสุขภาพสองแบบ

เมื่อสุขภาพมีความหมายสองอย่าง การสร้างเสริมสุขภาพจึงทำได้สองแบบ ตามความหมายสองอย่าง กล่าวคือ

แบบที่หนึ่ง เป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บ โดยหาทางทำให้ เราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือทำให้โอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง

แบบที่สอง เป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ทำให้เราอยู่ดีมีสุข โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ

ขอเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างการสร้างเสริมสุขภาพสองแบบ ดังนี้

              แบบที่หนึ่ง                                                            แบบที่สอง

ทำให้โอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บลดลง                                  ทำให้อยู่ดีมีสุขเพิ่มขึ้น

ต้องอาศัยบุคลากรสาธารณสุข                                          ทำได้เอง

เห็นผลช้า                                                                      เห็นผลเร็ว

ทำให้สนุกไม่ง่าย                                                            ทำให้สนุกได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่การสร้างเสริมสุขภาพสองแบบสามารถทำไปได้ด้วยกัน เช่น การออกกำลังกาย ทำเพื่อให้โอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บลดลงก็ได้ และทำเพื่อให้อยู่ดีมีสุข เพิ่มขึ้นก็ได้ แต่รายละเอียดวิธีการต่างกัน เช่น ถ้าจะทำเพื่อลดโรคภัยไข้เจ็บ ควรเริ่มด้วยการปรึกษาบุคลากรสาธารณสุข ถ้าจะทำเพื่ออยู่เย็นเป็นสุขต้องเริ่มด้วยการหาวิธีการที่ทำให้สนุกสนาน เป็นต้น

สำหรับชมรมผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยทำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพมาก่อน เมื่อดูจากข้อเปรียบเทียบข้างต้นแล้ว น่าจะเห็นได้ว่า การเริ่มด้วยแบบที่สองน่าจะง่ายกว่า


การสร้างเสริมสุขภาพสองแนวทาง

การสร้างเสริมสุขภาพมีให้เลือกสองแนวทาง คือ

แนวทางที่หนึ่ง เน้นที่คน เจตนาคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนให้ดีขึ้น แล้ว สุขภาพของคนก็จะดีขึ้น เช่น คนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสุขภาพจะดีขึ้น หรือคนกินผักผลไม้เพิ่มเป็นอย่างน้อยวันละสี่ขีด (400 กรัม) โอกาสเกิดโรคหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางอย่าง จะน้อยลง เป็นต้น

แนวทางที่สอง เน้นที่สภาพแวดล้อม เปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น จะช่วยให้สุขภาพของคนดีขึ้น (เช่น การสร้างสวนสาธารณะ) หรือมีผลช่วยทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น (เช่น การสร้างค่านิยมการไม่ดื่มสุราในงานประเพณีต่างๆ พฤติกรรมการดื่มสุราในชุมชนจะ เปลี่ยนไป)

ถ้ามีความพร้อมจะทำทั้งสองแนวทางก็ได้ แต่ในความเป็นจริง การเน้นที่คนเหมาะสำหรับระดับบุคคลและระดับกลุ่มบุคคล เช่น ชมรมผู้สูงอายุ การเน้นที่สภาพแวดล้อม (ทั้งด้านกายภาพและด้านสังคม) เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ เช่น องค์กรบริหารส่วนตำบล หรือระดับชาติ


หัวข้อเรื่องหรือประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพ

โปรดดูรายการต่อไปนี้

1. สุขภาพกาย (และใจ)

1.1 การออกกำลังกาย

1.2 อาหาร - เช่น กินอาหารให้ครบห้าหมู่ ลดหวานมันเค็ม เพิ่มผักไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม

1.3 การสร้างสุขนิสัยอื่นๆ เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกเหล้า

[ มีหลักฐานจากการวิจัยว่า กลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมดีทั้งสี่ประการ (ออกกำลังกาย อาหาร บุหรี่ เหล้า) มีอายุคาดเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมไม่ดีทั้งสี่ประการ 17.9 ปี]

2. สุขภาพทางสังคม (และใจ)

2.1 การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ในชุมชน

[มีหลักฐานจากงานวิจัยว่า ความสัมพันธ์ทางสังคม มีอิทธิพลต่ออัตราการเสียชีวิต ไม่น้อยกว่า การสูบบุหรี่ และการดื่มเหล้า และมากกว่าการออกกำลังกาย และอาหาร]

2.2 การสร้างงาน หรือสร้างรายได้

[ มีประโยชน์มากสำหรับ ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ตามเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อย]

3. สุขภาพทางปัญญา (และใจ)

3.1 ศาสนา

3.2 จิตอาสา

[ จิตอาสา ต้องทำด้วยความสมัครใจ และมีสิทธิบอกเลิกได้ตลอดเวลา จึงจะมีผลดีต่อสุขภาพ ถ้าจำใจมาร่วมกิจกรรม ก็ไม่อาจหวังผลดีต่อสุขภาพได้ ]

โปรดสังเกตว่า ในรายการข้างต้นนี้ ไม่ได้แยกสุขภาพทางใจเป็นรายการต่างหาก แต่แทรกอยู่ในสุขภาพด้านอื่นๆ น่าจะสมเหตุสมผล เนื่องจากการสร้างเสริมสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ระยะยาว จนเป็นนิสัย จึงจำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ทำแล้วสบายใจ น่าทำ สนุกสนานด้วยยิ่งดี จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติทางใจอยู่เสมอ และโปรดสังเกตด้วยว่า เป็นไปได้ที่จะจัด กิจกรรมเพียง 2-3 อย่างให้ครอบคลุมสุขภาพทั้งสี่มิติ


การเลือกประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพ

การสร้างเสริมสุขภาพของชมรมผู้สูงอายุจะเริ่มต้นด้วยประเด็นอะไรดี เป็นเรื่องที่ สมาชิกชมรมผู้สูงอายุต้องหาโอกาสปรึกษาหารือกัน คุยกันบ่อยๆ หลายๆรอบ ตัวอย่างต่อไปนี้ อาจะจะช่วยให้การเลือกง่ายขึ้น

หนึ่ง ระดมความคิดจากสมาชิกชมรมว่า อยากทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นอะไร หาประเด็นที่สมาชิกจำนวนมากอยากทำ เลือกไว้หลายๆประเด็น

สอง พิจารณาประเด็นเหล่านั้นว่า ประเด็นใดบ้างน่าจะเกิดผลดีเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างชัดเจน จะเหลือประเด็นให้ต้องเลือกน้อยลง

สาม นำประเด็นที่อยากทำและเห็นว่าเป็นประโยชน์มาพิจารณาต่อว่า มีประเด็นใดบ้าง ที่อยู่ในวิสัยจะทำได้จริงโดยไม่ยากนัก

สี่ ถ้ามีประเด็นที่อยากทำเป็นประโยชน์และอยู่ในวิสัยจะทำได้จริง เหลืออยู่หลายประเด็น ก็จัดเรียงลำดับก่อนหลังเตรียมไว้ใช้งานต่อไป

[คุณบุญเสริม ดวงจันทร์ อดีตประธานสภาผู้สูงอายุจังหวัดพัทลุง ได้รวบรวม 25 กิจกรรม ที่ผู้สูงอายุทำแล้วมีความสุขไว้ในเอกสารสองหน้า ดูได้จาก PDF ไฟล์ ข้างล่างนี้]

20190717211243.pdf

   

การสร้างเสริมสุขภาพต้องลงมือทำ

เป้าหมายสุดท้ายหรือเป้าหมายระยะยาวของการสร้างเสริมสุขภาพคือ สุขภาพที่ดีขึ้น แต่มักจะใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลว่าสุขภาพดีขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพทางกาย ดังนั้นจึงต้องดูที่เป้าหมายระยะกลาง คือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม (ที่ดีต่อสุขภาพ) หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (ที่ดีต่อสุขภาพ หรือดีต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ) การจะถึงเป้าหมายทั้งสองระยะนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิบัติหรือการลงมือทำ เพียงแค่รู้หรือรู้วิธีย่อมไปไม่ถึงเป้าหมาย

ดังนั้น กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่เป็นการอบรม หรือการดูงาน เป็นได้เพียงจุดเริ่มต้น เท่านั้น เป็นการทำให้ได้รับความรู้หรือวิธีการที่ถูกต้องเพื่อนำไปใช้ จำเป็นต้องตามด้วย การปฏิบัติหรือการลงมือทำ และต้องทำติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน (หกเดือนถึงหนึ่งปี ถือว่าน้อยที่สุดแล้ว) จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้หรือเรียกง่ายๆว่าเปลี่ยนนิสัย ผลดีต่อสุขภาพจึงจะเกิดขึ้น


การติดตามประเมินผล

การสร้างเสริมสุขภาพต้องใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าจะเห็นผล จึงต้องติดตามว่าทำแล้วได้ผลจริงหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้จะได้ปรับปรุงแก้ไข ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล จะได้เปลี่ยนวิธี ด้วยเหตุนี้ โครงการสร้างเสริมสุขภาพจึงต้องมีการติดตามประเมินผล


ข้อคิดสำหรับชมรมผู้สูงอายุที่เคยทำโครงการแล้ว

ประเด็นหนึ่งที่ชมรมผู้สูงอายุควรคำนึงถึงได้แก่ ผู้สูงอายุมีพื้นฐานสุขภาพทางกายแตกต่างกัน อาจแบ่งตามภาวะพึ่งพิงได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้


1. ช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่นได้

2. ช่วยเหลือตนเองได้ แต่ช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้

3. ช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน ต้องพึ่งผู้อื่นบ้าง

4. ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่นเกือบทั้งหมด


สมาชิกชมรมผู้สูงอายุส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในระดับ 1 และ 2 เพราะระดับ 3 และระดับ 4 ส่วนมากไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก แต่หลายคนเปลี่ยนระดับในเวลาต่อมา การแบ่งระดับอาจนำมา ใช้ประโยชน์ได้อย่างน้อยสองอย่างคือ

หนึ่ง ในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จำเป็นต้องคำนึงว่า สมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรม มีภาวะสุขภาพทางกายอยู่ในระดับใดจึงจะเข้าร่วมได้ และสมาชิกบางระดับอาจจะเข้าร่วม ไม่ได้ จะได้จัดหากิจกรรมอื่นให้ทำแทน เป็นต้น

สอง เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ควรจะเป็นเรื่อง การพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนหนึ่งหมายถึงการหาทางยกระดับสุขภาวะทางกายผู้สูงอายุจากระดับล่างขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น ดังนี้

จากระดับ 2 ที่ช่วยเหลือตนเองได้ แต่ช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้ เป็นช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทำได้ไม่ยาก และจะทำให้รู้สึกภูมิใจในตนเอง [นี่คือ ความรู้สึกของจิตอาสา]

จากระดับ 3 ที่ต้องพึ่งผู้อื่นบ้าง ให้เป็นระดับ 2 ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ (ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข)

จากระดับ 4 ที่ต้องพึ่งผู้อื่นเกือบทั้งหมด ให้เป็นระดับ 3 ที่พึ่งผู้อื่นบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เช่นกัน แม้จะยากสักหน่อย (ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข)

การพัฒนาให้ผู้สูงอายุพึ่งพิงผู้อื่นน้อยลงและพึ่งตนเองได้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาให้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้นี้ เป็นการเพิ่มความรู้สึกภูมิใจในตนเองให้กับผู้สูงอายุ ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตมีความหมาย จะเรียกว่าเป็นการเพิ่มศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้กับผู้สูงอายุก็ได้ หรือจะว่า เป็นการเพิ่มสุขภาพทางปัญญาก็ได้ ถือว่าเป็นการสร้างเสริมสุขภาพอย่างชัดเจน

จากตัวอย่างของโครงการ "เพื่อนช่วยเพื่อน" ที่ผู้สูงอายุระดับ 1 (ช่วยเหลือตนเองได้ และ ช่วยเหลือผู้อื่นได้) มีจิตอาสาไปเยี่ยมเพื่อนผู้สูงอายุที่อยู่ในระดับ 3 (ช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน ต้องพึ่งผู้อื่นอยู่บ้าง) และระดับ 4 (ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่นเกือบทั้งหมด) ในมุมมอง ของผู้ทำโครงการฯ ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือ ผู้รับการเยี่ยมได้รับประโยชน์จากการสงเคราะห์ และดีใจที่คนมาเยี่ยม (สุขภาพทางใจดีขึ้น) จากเดิมที่เป็นคนเก็บตัวเปลี่ยนเป็น อยากให้คนมาเยี่ยมอีก (สุขภาพทางสังคมดีขึ้น) บางครอบครัวส่งข่าวไปบอกลูกหลาน ที่ไปทำงานต่างเมือง ทำให้ลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ้าง (สุขภาพครอบครัวดีขึ้น) ผลที่ไม่ได้คาดไว้ก่อนคือ ผู้ไปเยี่ยมก็มีความสุข (สุขภาพทางใจ) ที่ได้เห็นประโยชน์ของการไปเยี่ยม (จิตอาสา ที่ไม่ได้ใช้ชื่อว่า จิตอาสา) ขอเพิ่มเติมว่า หากผู้เยี่ยมสามารถช่วยยกระดับศักยภาพของ ผู้รับการเยี่ยม จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 หรือจากระดับ 3 เป็น 2 (ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข) จะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น และที่ง่ายกว่าคือ การเล่าเรื่องให้เพื่อนผู้สูงอายุระดับ 2 (ช่วยเหลือ ตนเองได้ แต่ช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้) ฟัง แล้วชวนให้ออกไปเยี่ยมเพื่อนด้วยกัน จะได้ยกระดับจาก 2 เป็นระดับ 1

โครงการแบบเพื่อนช่วยเพื่อนนี้น่าจะเริ่มทำกันเองได้ โดยยังไม่ต้องรับการฝึกอบรมใดๆก็ได้ ด้วยการทดลองชวนกันไปเป็นกลุ่ม เยี่ยมเพื่อนที่ออกจากบ้านไม่ได้ โดยชวนอาสาสมัครสาธารณสุขไปด้วย หลังจากการเยี่ยมไม่กี่ครั้ง คุยกันในกลุ่มก็จะรู้เองว่า น่าจะได้รับการอบรม ความรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง เพื่อจะได้ทำประโยชน์ได้มากขึ้น


หลักการสร้างเสริมสุขภาพ

การสร้างเสริมสุขภาพมีนิยามอย่างหนึ่งว่า การสร้างเสริมสุขภาพคือ การเพิ่มความสามารถในการควบคุมสุขภาพให้กับคน นั่นคือ คนต้องมีความสามารถในการควบคุม สุขภาพของตนด้วยตนเองมากขึ้น หมายถึงพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพตนเองได้มากขึ้น

หลักการพึ่งตนเองที่น่าสนใจมีอยู่ในคาถาธรรมบทที่ว่า


"ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว

ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก"


โปรดสังเกตว่า ก่อนที่ตนจะเป็นที่พึ่งของตนได้นั้น ต้องฝึกให้ดีเสียก่อนจึงจะเป็นที่พึ่งได้จริง ถ้าเป็นเรื่องที่ยากต้องเรียนและฝึกฝนกับผู้รู้ ถ้าเป็นเรื่องง่ายก็ยังต้องฝึกโดยการทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย จึงจะเกิดประโยชน์จริง เช่น การออกกำลังกาย หรือการเลือกกินอาหารให้ถูกต้อง หรือแม้แต่การกินยาไม่ให้ขาดยา เป็นต้น ดังนั้น โครงการสร้างเสริมสุขภาพจึงต้องเป็น โครงการที่มีการลงมือทำจริงๆ ทำบ่อยๆ และมีการดำเนินการต่อเนื่อง เช่น ติดต่อกันนานหนึ่งปี เป็นต้น จึงต้องมีการพิจารณาด้วยว่า มีแววว่าจะทำต่อแม้เมื่อสิ้นสุดการสนับสนุนงบประมาณ จากโครงการแล้ว


สรุปว่า การทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ มีข้อคิดให้พิจารณาดังต่อไปนี้

1. เป้าหมายของการสร้างเสริมสุขภาพน่าจะเป็นเรื่องการทำให้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา หรือ ชีวิตประจำวันของเรา ดีขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นทำ (ทำแล้วสบายใจ) และดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้เราอยู่ดีมีสุข

2. ถ้าเลือกเรื่องที่เราทำแล้วมีความสุขตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยให้สุขภาพทางใจดีขึ้น ตั้งแต่เริ่มต้น แต่กว่าจะดีจริงก็ต้องทำเป็นนิสัย ดังนั้นจึงต้องตั้งใจทำให้เป็นเรื่องระยะยาว (โครงการจึงมักจะกำหนดหนึ่งปี)

3. ด้วยเหตุที่ต้องทำเป็นระยะยาว จึงต้องรอบคอบในการเลือกเรื่อง (ประเด็น) ที่จะทำ จึงเสนอให้ปรึกษากันในหมู่สมาชิกชมรม โดยใช้หลักการให้เป็นเรื่องที่ "อยากทำ มีประโยชน์ และอยู่ในวิสัยที่จะทำได้จริง"

4. องค์ประกอบสำคัญของโครงการมีสามประการคือ วัตถุประสงค์ กิจกรรม และการติดตามประเมินผล

วัตถุประสงค์ คือ ผลที่ได้จากการทำเรื่องนี้ (เช่น ผู้สูงอายุมีความสุขมากขึ้น พฤติกรรมดีขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น หรือความสัมพันธ์ดีขึ้น)

กิจกรรม คือ วิธีที่จะทำให้เกิดผลอย่างที่ต้องการ

การติดตามประเมินผล คือ การติดตามดูว่า ทำแล้วได้ผลอย่างที่คาดไว้หรือไม่ โดยอาศัยดูจากตัวชี้วัดที่กำหนดไว้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ด้วยหวังว่าจะนำผลมาใช้ปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้น หรือถ้าไม่ผลจะได้เปลี่ยนวิธี

5. จากนั้นจึงค่อยไปดูวิธีเขียนโครงการ (ตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ให้แล้ว)

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

27 มิถุนายน 2554

หมายเลขบันทึก: 663223เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2019 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2019 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เดี๋ยวนี้ผู้คนหันมาออกกำลังกายกันเยอะนะคะอาจารย์ ที่หาดใหญ่งานวิ่งเยอะมากค่ะ มีแทบทุกอาทิตย์ สนามกีฬา อ่างเก็บน้ำ ที่ที่พอจะเป็นลู่วิ่งได้ คนจะซ้อมวิ่งกันเช้าเย็นตลอดค่ะ ฟิตเนสก็มากค่ะ ใช้ treadmill วิ่งกันเป็นหลักค่ะ สุขกายสุขใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท