สุนทรียสนทนากับครูช่าง ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก


   วันนี้ผมได้รับเชิญจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ ให้เป็นวิทยากรอบรมพัฒนาทักษะความเป็นครูของนักวิชาการฝึกอบรม(ครูช่าง) ในหัวข้อ "จิตสำนึกความเป็นครูสอนวิชาชีพ" ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมต่างเป็นครูสอนผู้เรียนที่เป็นลูกหลานของทหารผ่านศึก จำนวน 25 คน มีทั้งครูที่สอนวิชาช่างไฟฟ้า  วิชาช่างอีเล็กทรอนิกส์  วิชาช่างพิมพ์ดีดและคอมพิวเตอร์  วิชาช่างโลหะ  วิชาช่างเครื่องยนต์  วิชาขับรถยนต์  และวิชาคหกรรม
   ผมเข้าใจพื้นฐานและธรรมชาติของครูช่างดังกล่าวดี  ว่าเขาคงเบื่อไม่ชอบที่จะมานั่งฟังการบรรยายแล้วฉาย powerpoint ของวิทยากร  ผมจึงหันมาใช้ "กิจกรรมสุนทรียสนทนา" ชวนพูดชวนคุย อย่างกัลยาณมิตร  เสียดายที่ไม่สามารถจัดห้องประชุมให้ล้อมวงนั่งคุยกันอย่างใกล้ชิดได้ เพราะห้องถูกจัดไว้ตายตัว เลยไม่เป็นธรรมชาตินัก 
    ประเด็นคำถาม"สุนทรียสนทนา" ที่ผมชวนเขาคุยเป็นรายคนถามสลับเป็นช่วงๆ (สลับกับการใช้สื่อ และวิธีการอื่นประกอบ) คือ
1.ให้แต่ละคนย้อนนึกไปถึงตอนเรียนชั้นประถม หรือมัธยม หรืออาชีวะ หรือมหาวิทยาลัยว่า ตนเองประทับใจการสอนของคุณครูท่านใดมากที่สุด(คุณครูท่านเดียว ระดับใดก็ได้) และบอกด้วยว่าท่านสอนยังไง  ตัวเองถึงประทับใจท่าน (ถามช่วงแรก)
     2.ลองรำลึกเหตุการณ์ที่ผ่านมาในการสอนของตัวเอง  ตามวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ  แล้วเล่าวิธีการสอนที่ตัวเองภาคภูมิใจมากที่สุด อย่างย่อๆมาสัก 1 เหตุการณ์  คนละไม่เกิน 2 นาที (ถามเมื่อทำกิจกรรมและบรรยายไปได้สักพัก)
     3.  ตอนนี้พอจะบอกได้หรือยังว่า  ยังมีเรื่องอะไรที่คิดว่าตนเองยังทำหน้าที่การเป็นครูผู้สอนไม่ดีพอ  และคิดว่าต่อไปนี้ตนเองจะปรับปรุงการสอนอย่างไรให้ดีขึ่น (ถามเมื่อใกล้จะหมดเวลา)
     ผมเองก็ต้องเล่าเรื่องของตนเองทั้ง 3 ประเด็น ร่วมไปกับเขาด้วยเหมือนกัน  ปรากฏว่าเกิดบรรยากาศที่ดีเกินคาด  ครูช่างทั้งหลาย(ที่ดูหน้าตาค่อนข้างถมึงทึงตอนแรก) ต่างเปิดใจ  ละทิ้งตัวตน  ละทิ้งอคติ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย ต่างเล่าและฟังเพื่อนเล่าด้วยความสนุกสนาน ตั้งใจ และกล้าที่จะเปิดเผยความในใจของตน
      บัดนี้ "ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน" "ปูว่าหอย แม้กล้วย ว่ากล้าย เรียมตาม"  เกิดขึ้นแล้ว  วิทยากรจะพูดอะไร  ฉายอะไรให้ดูก็สนใจกันทั้งนั้น
    

หมายเลขบันทึก: 662770เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท