สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๑๒. ให้ความสำคัญต่อวิสัยทัศน์และการแสดงออกของนักเรียน


บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๑๒. ให้ความสำคัญต่อวิสัยทัศน์และการแสดงออกของนักเรียน  นี้เป็นบันทึกแรกใน ๓ บันทึกภายใต้ชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม (rich classroom climate mindset)    ตีความจาก Part Four : Why the Rich Classroom Climate Mindset?  และ Chapter 10 :  Engage Voice and Vision   

สาระหลักในบันทึกนี้คือ นักเรียนจากครอบครัวขาดแคลน มาโรงเรียนพร้อมกับผลลบจากความเครียดเรื้อรัง    ทำให้สมองไม่เปิด   และขาดแคลนทักษะหลายด้านที่สำคัญต่อการเรียนรู้    มี “ยาวิเศษ” แก้ข้อด้อยของนักเรียนเหล่านี้    คือความรู้สึกว่า ตนได้รับการยอมรับนับถือจากครูและเพื่อนๆ    หรือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของนักเรียนได้รับการยอมรับ    หรือเอกลักษณ์ (identity) ของนักเรียนแต่ละคนได้รับการยอมรับ    รายละเอียดในบันทึกนี้ในส่วนต้นเป็นเรื่องทฤษฎี ที่ได้จากการวิจัย    และส่วนหลังเป็นภาคปฏิบัติ  ซึ่งก็มีหลักฐานจากงานวิจัยเช่นเดียวกัน 

ทฤษฎี

ชื่อของตอนที่ ๔ ในหนังสือภาคภาษาอังกฤษใช้คำว่า rich (ร่ำรวย)    ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สภาพห้องเรียนที่มีบรรยากาศที่ร่ำรวยปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ๔ ปัจจัย    ได้แก่ ร่ำรวยการยอมรับ (affirmation), ร่ำรวยสภาพที่ตรงตามความต้องการของนักเรียน (relevancy), ร่ำรวยการผูกพัน (engagement) ตัวนักเรียน,  และร่ำรวยปฏิสัมพันธ์ (relationship) ระหว่างมนุษย์ 

บรรยากาศห้องเรียนเช่นนี้ ช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลาย และรู้สึกปลอดภัย ที่จะกล้าเรียนรู้แบบกล้าเสี่ยง    ทั้งเสี่ยงเชิงวิชาการและเชิงพฤติกรรม    รวมทั้งช่วยให้นักเรียนกล้าฝัน ในลักษณะของ “ฝันใหญ่”

คำว่า บรรยากาศ (climate)  ในที่นี้มีองค์ประกอบคือ พลัง (energy), การมีส่วนร่วม (participation), สปิริต, ความยอมรับนับถือ (respect), การเรียนรู้, การเคลื่อนไหว (movement), การฟัง, การแลกเปลี่ยน, การใคร่ครวญสะท้อนคิด,  และเป้าใหญ่    ทั้งหมดนั้น นำไปสู่สภาพห้องเรียนที่มีผลลัพธ์สูง (high-performing classroom)    และมีความเท่าเทียม (equity) สูง    

ห้องเรียนที่มีบรรยากาศเช่นนี้ ไม่ใช่ดีต่อนักเรียนเท่านั้น    แต่ยังดีต่อครูด้วย    เพราะจะช่วยให้ชีวิตครูง่ายขึ้น  มีปัญหาจากความประพฤติของนักเรียนน้อยลง   

ครูที่จัดให้ห้องเรียนมีบรรยากาศดังกล่าว ต้องมี ชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม (rich classroom climate mindset)    ซึ่งตรงกันข้ามกับชุดความคิดห้องเรียนแบบเดิมๆ (traditional classroom climate mindset)        

ในชุดความคิดห้องเรียนแบบเดิม  กำหนดว่า นักเรียนต้องมาโรงเรียนพร้อมกับความตั้งใจเรียน  รู้ว่าจะต้องประพฤติตัวอย่างไร  รู้ว่าจะทำงานเป็นทีมอย่างไร  รู้ว่าจะถามคำถามที่เหมาะสมอย่างไร  และรู้ว่าจะต้องเรียนรู้หลักการยากๆ ด้วยตนเอง โดยไม่มีคนช่วย    วาทกรรมของครูที่มีชุดความคิดนี้คือ “ฉันมีหน้าที่สอนเนื้อหาวิชาความรู้   หากคุณต้องการให้นักเรียนเรียนได้ดี  จงบอกให้เขาตื่นและตั้งใจเรียน   ห้องเรียนไม่ใช่สถานบันเทิง”    

ในขณะที่ครูที่มี ชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม    ยึดถือวาทกรรมที่ตรงกันข้าม ได้แก่ “ฉันโฟกัสที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    และเชื่อมโยงสู่กระบวนการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทุกวัน”    รวมทั้งวาทกรรม “นักเรียนรู้ว่าชั้นเรียนของฉันมีไว้เพื่อการเจริญเติบโตของนักเรียน    นักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเอง  ปฏิบัติงานผิดพลาด  รวมทั้งกล้าเสี่ยงต่อความผิดพลาดในการเรียน   โดยมั่นใจว่าจะมีครูอยู่เคียงข้าง”

     วัฒนธรรมของชั้นเรียน กับ บรรยากาศของชั้นเรียน

           หนังสือบอกว่า วัฒนธรรมของชั้นเรียน กับ บรรยากาศของชั้นเรียน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน   

           วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติ (พฤติกรรมและลักษณะนิสัย)    ส่วน บรรยากาศ เป็นสภาพความรู้สึกของเรา

           วัฒนธรรม เป็นตัวกำหนด และทำนาย พฤติกรรม    แต่บรรยากาศเป็นผลของพฤติกรรม และอารมณ์ร่วม  ของคนส่วนใหญ่    ซึ่งในกรณีของโรงเรียน บรรยากาศขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนทั้งหมดในขณะใดขณะหนึ่ง

            บรรยากาศเป็นเรื่องชั่วคราว หรือชั่วขณะใดชั่วขณะหนึ่ง     ส่วนวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างถาวร และมาจากการสั่งสมระยะยาว     การเปลี่ยนวัฒนธรรม ต้องการการดำเนินการที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ และต้องดำเนินการต่อเนื่องระยะยาว    แต่บรรยากาศเปลี่ยนได้ในบัดดล   

            ในบันทึกตอนที่ ๑๒ - ๑๔ นี้ เราเน้นที่ บรรยากาศ    แต่ โดยที่การสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่มีการเรียนเข้ม มีพื้นฐานจาก วัฒนธรรมของโรงเรียนและชั้นเรียน    เขาจึงแนะนำว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมต้อนรับนักเรียนทุกคนให้มาโรงเรียน    ไม่ใช่ต้อนรับเฉพาะนักเรียนที่ครูรัก หรือนักเรียนที่มีความประพฤติดี เท่านั้น   

             สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใคร่ครวญสะท้อนคิด ว่าพฤติกรรมของสมาชิกของแต่ละคนในโรงเรียนมีผลต่อสมาชิกทั้งหมด และต่อโรงเรียน อย่างไร    เพื่อร่วมกันสร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนที่ยิ่งใหญ่   

             สร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมวาทกรรมที่เอื้อให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีเกียรติ  มีเป้าหมายยิ่งใหญ่  และมีพลัง     โดยการพูดวาทกรรมเชิงบวกซ้ำๆ    รวมทั้งสร้างสภาพที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้สูงสุด

             บรรยากาศห้องเรียน เป็นผลรวมของสารพัดสิ่ง รวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์,  การสอน,  การเรียนแบบร่วมมือกัน,  กลยุทธสร้างวินัย,  หลักสูตร,  ความคาดหวัง,  และความเอาใจใส่ (engagement)    มีผลงานวิจัยว่า การสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่ดีของครู มี effect size เท่ากับ 0.80    หรือเท่ากับการเพิ่มการเรียนรู้ใน ๒ ปี   

             เปรียบเทียบ บรรยากาศห้องเรียน ที่มีบรรยากาศเชิงบวกสูง   กับห้องเรียนที่มีบรรยากาศเชิงบวกต่ำ ได้ตามในตาราง

           


ผลลัพธ์ของชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม

            ห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม มีกระบวนการที่ซับซ้อน ทางด้านสังคม อารมณ์ และวิชาการ    ไม่ใช่ชั้นเรียนที่ครูแสดงความเข้มงวด ดุด่าว่ากล่าวนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียน    มีผลงานวิจัย (ในสหรัฐอเมริกา) ในโรงเรียนที่เด็กส่วนใหญ่ยากจน ๑๐ โรงเรียน    พบว่าการจัดชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้มตามที่จะกล่าวถึงในบันทึกที่ ๑๒  - ๑๔ ทำให้ครึ่งหนึ่งของนักเรียน กลายเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดี (ผลการเรียนอยู่ในกลุ่มสูงสุด ร้อยละ ๒๕ แรกของรัฐ)    

            ผลงานวิจัยบอกว่า ประสิทธิผลของครู (teacher effectiveness) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าในการเรียนของศิษย์ (effect size 0.98)    หากมีบรรยากาศชั้นเรียนแบบเรียนเข้มเสริมเข้าไป     ผลดีที่เกิดต่อศิษย์ยิ่งเพิ่มขึ้นมากมาย             

            การพัฒนา ชุดความคิดห้องเรียนที่มีการเรียนรู้เข้ม ได้สำเร็จ    จะช่วยให้ห้องเรียนเป็นทั้งสวรรค์ของนักเรียน และของครู   

ชุดความคิดนี้เริ่มจากการทำให้นักเรียนแต่ละคนรับรู้ว่า ครูและคนอื่นๆ ในชั้นเรียน รับรู้ตัวตนของนักเรียน  รับรู้สิ่งที่นักเรียนมุ่งหวัง  และรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน    โดยเครื่องมือทำให้เกิดการรับรู้นี้มี ๓ ชิ้น  คือ (๑) ความหมาย (relevance) ต่อนักเรียน  (๒) เสียง (voice) ของนักเรียน  และ (๓) วิสัยทัศน์ (vision) ของนักเรียน

มีความหมายต่อนักเรียน

เรื่องที่มีความหมาย (relevant) ต่อตัวนักเรียนมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน   และมีความแตกต่างหลากหลายในนักเรียนในชั้น    หากเน้นที่บทเรียน  คำถามหาความเหมาะสม หรือความจำเป็น คือ “ทำไมฉันต้องเรียนสิ่งนี้”    นั่นคือ บทเรียนต้องมีความหมายในความคิดของนักเรียน    ไม่ใช่แค่มีความหมายในความคิดของครู   

มองอีกมุมหนึ่ง  ครูต้องช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับชีวิตในอนาคตของตนได้    ยิ่งในชั้นเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวขาดแคลน  ซึ่งมักมาจากครอบครัวที่มีวัฒนธรรมย่อย หรือเป็นชนกลุ่มน้อย    ครูต้องช่วยให้นักเรียนมองเห็นหรือเข้าใจ ว่าบทเรียนนั้นมีความหมายตามนัยวัฒนธรรมของตนอย่างไร    หนังสือเรียกครูที่เอาใจใส่เรื่องนี้ว่า culturally responsive teacher (ครูที่เอาใจใส่วัฒนธรรมของนักเรียน)   โดยครูตอบคำถาม ๔ ข้อต่อไปนี้

  1. 1. ครูช่วยเสริมความมั่นใจ (affirming) หรือไม่    ครูที่ตระหนักในปัจจัยด้านวัฒนธรรมต่อการเรียนรู้ จะหมั่นทำความเข้าใจ (validate) และเสริมความมั่นใจให้แก่ศิษย์    โดยต้องหาทางให้นักเรียนได้เล่าประสบการณ์ของตนที่บ้านให้เพื่อนๆ และครูรับรู้    เพื่อครูหาทางช่วยเหลือส่งเสริมให้นักเรียนจัดการโลกที่บ้าน (หรือชุมชน) กับโลกที่โรงเรียน  และเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ของตนได้    เมื่อนักเรียนแชร์ประสบการในชุมชนของตนจบ    ครูกล่าวว่า “ขอบคุณ สมศรีมาก ครูดีใจที่เธอแชร์เรื่องนี้ต่อเพื่อนๆ   การที่เราเรียนรู้เรื่องราวของกันและกัน มีความสำคัญมาก”           
  2. 2. การสอนของครูมีความแตกต่างหลากหลายหรือไม่     การสอนนักเรียนที่มาจากครอบครัวขาดแคลน ต้องมีลักษณะที่ “สอดคล้องกับวัฒนธรรม” (culturally relevant)    โดยต้องใช้สื่อการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของนักเรียน    เพื่อการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ คุณค่า และเจตคติ  ผ่าน บรรยากาศในห้องเรียน  วิธีการสอน  และวิธีประเมิน    หากจะมีการฉายภาพคน ต้องพยายามหาคนที่มีหน้าตาบ่งบอกว่าเป็นคนในวัฒนธรรมเดียวกันกับนักเรียน    และเน้นใช้ reciprocal teaching (ครูกับนักเรียนผลัดกันทำหน้าที่นำกระบวนการเรียนรู้ ในหน่วยย่อยของคาบเรียน)  และ cooperative learning (นักเรียนผลัดกันแสดงบทบาทหลากหลายบทบาทในชั้นเรียน)  
  3. 3. ครูช่วยเอื้ออำนาจ (empower) แก่นักเรียนหรือไม่    ทำโดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ผลัดกันแสดงบทบาทผู้นำในชั้น   การเชิญบุคคลที่มีเชื้อชาติเดียวกันกับนักเรียนมาเป็นแขก หรือวิทยากรเฉพาะเรื่อง ก็เป็นการเอื้ออำนาจ (empowerment) แก่นักเรียน    การที่นักเรียนได้รับการเอื้ออำนาจ มีผลต่อสมรรถนะทางวิชาการ  ความมั่นใจตนเอง  ความกล้า  และการแสดงบทบาทในชั้นเรียน  
  4. 4. ครูช่วยเปลี่ยนชีวิตให้แก่นักเรียนหรือไม่    นี่คือ transformative learning    ครูต้องร่วมกับนักเรียนทำความเข้าใจด้านลบของการศึกษาที่ไม่ดี    ครูต้องช่วยให้นักเรียนเติบโตทางวิชาการ  มีเป้าหมายชีวิต  เตรียมตัวเข้าสู่การมีงานทำ  รวมทั้งช่วยติวพิเศษเพื่อไปสอบเข้าโรงเรียนชั้นมัธยม    เป้าหมายคือ ช่วยให้นักเรียนหลุดพ้นจากสภาพยากจนในอนาคต  

ครูที่เอาใจใส่วัฒนธรรมของนักเรียน จะทำความรู้จัก  ให้ความยอมรับ  และเอาใจใส่ นักเรียนทุกคน    โดยกำหนดความคาดหวังสูง  จัดหลักสูตรเข้ม  และจัดการสนับสนุนที่ต้องการ เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายตามความคาดหวังที่กำหนด    และต้องหมั่นทบทวนไตร่ตรองพฤติกรรมของตนเอง ว่าเผลอแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง และดำเนินการแก้ไขตนเอง  

เสียงของนักเรียน

เมื่อนักเรียนได้มีโอกาสพูด หรือแสดงออก    นักเรียนจะรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง  และได้รับความเข้าใจ    ช่วยสร้างความมั่นใจตนเอง  และความรู้สึกว่าสามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้    ครูต้องรับฟัง เสริมความมั่นใจ และค่อยๆ ทำให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ความเห็น (opinion) กับความจริง (fact)     โดยครูอาจใช้คำพูดในทำนอง “ครูชอบมากที่เธอแชร์ความเห็นต่อชั้นเรียน   และหวังว่าพรุ่งนี้เธอจะแสดงความเห็นอีก”   

การได้แสดงความคิดเห็น และได้รับการรับฟัง ถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์    ช่วยให้รู้สึกว่าตนมีความสำคัญ  ได้รับความชื่นชม  ได้รับเกียรติ  ได้รับความยอมรับนับถือ   ยิ่งนักเรียนจากครอบครัวด้อยโอกาส ยิ่งต้องการสิ่งนี้มากเป็นพิเศษ    เพราะจะช่วยลดความเครียด  และช่วยพัฒนาทักษะยืนหยัดในสถานการณ์เลวร้าย ให้ไม่เกิดความเครียด    มีผลงานวิจัยบอกว่า นักเรียนที่รู้สึกว่าได้รับการยอมรับในชั้นเรียนตั้งแต่สองสามสัปดาห์แรกของเทอม  จะเพิ่มความเอาใจใส่ในการเรียน    และพฤติกรรมนี้จะดำรงต่อเนื่องไปตลอดรายวิชานั้น  

ในสหรัฐอเมริกา มีขบวนการสร้างความรู้สึกมีตัวตนของเด็กด้อยโอกาส เพื่อแก้ปัญหาการเรียนและปัญหาสังคม    ดังตัวอย่าง โปรแกรม We All Have a Voice (http://weallhaveavoice.org)  

หนังสือแนะนำวิธีส่งเสริมให้นักเรียนแสดงออก ดังต่อไปนี้

  • เชื้อเชิญให้นักเรียนแชร์ความต้องการของตน   โดยเปิดช่องทางเสนอความต้องการหลากหลายแบบ  
  • ทำความเข้าใจนักเรียน และใช้เป็นฐานของปฏิสัมพันธ์    ครูทำความเข้าใจความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge), ทักษะด้านสังคมและด้านจิตใจ,  และแวดวงสังคม ของนักเรียน
  • เชิญชวนให้นักเรียนระบายปัญหาส่วนตัว กับผู้ใหญ่ที่ยินดีรับฟัง    มีผู้ใหญ่ที่นักเรียนไว้วางใจ และรับฟังนักเรียนเป็น เช่นครู  ครูแนะแนว  ผู้ปกครองนักเรียนบางคน    โดยที่คนเหล่านี้ต้องมีทักษะรับฟัง และรักษาความลับได้
  • ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าเสี่ยง    กล้าเสี่ยงในที่นี้หมายถึงเสี่ยงในการก่อการดี  เช่น สร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน  สมัครเป็นกรรมการนักเรียน  รวมทั้งทำกิจกรรมในชุมชน  
  • เชื้อเชิญให้นักเรียนมีหุ้นส่วน (partner)    โดยที่หุ้นส่วนอาจเป็นผู้ใหญ่ที่หวังดี  ที่จะช่วยให้คำแนะนำวิธีสื่อสารกับพ่อแม่  
  • สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเขียนและพูดต่อสาธารณะ    เพื่อสร้างความมั่นใจ และสร้างทักษะทางสังคม

มีผลงานวิจัยบอกว่า ในช่วงวัยรุ่น มนุษย์เราแต่ละคนจะแสวงหาอัตลักษณ์ หรือความมีตัวตนของตนเอง    การช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง  จะส่งผลต่อการปรับตัว และพัฒนาการ  

การที่ครูช่วยให้นักเรียนมีความยอมรับอัตลักษณ์ของตนเอง โดยการกล้าแสดงความคิดเห็น เป็นการเอื้ออำนาจให้แก่นักเรียน   

วิสัยทัศน์ของนักเรียน

ในที่นี้ วิสัยทัศน์ของนักเรียน หมายถึงความคาดหวังต่ออนาคตของตนเอง     หากความคาดหวังหรือเป้าหมายนี้เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันกับการเรียน  การเรียนหรือชีวิตในโรงเรียนก็จะมีพลัง  นักเรียนจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เพื่ออนาคตของตนเอง   

ครูพึงเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ของนักเรียนนี้ เข้ากับสาระในบันทึกที่ ๕ ตั้งเป้าหมายสูง    เพื่อให้วิธีการในบันทึกที่ ๕ ช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายในอนาคตระยะยาวของนักเรียน    โดยพึงตระหนักว่า เป้าหมายตามในบันทึกที่ ๕ เป็นเป้าหมายจำเพาะ เฉพาะเรื่องการเรียน และเป็นเป้าหมายระยะไม่ยาวมาก คือ ๑ ปี หรือ ๑ เทอม    แต่เป้าหมายที่เรียกว่าวิสัยทัศน์เป็นเป้าหมายชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวมาก    เป็นหน้าที่ของครู ที่จะช่วยส่งเสริมให้ “ฝันใหญ่” ของนักเรียน โผล่ออกมา    หรือพูดในอีกนัยหนึ่งว่า หนุนให้นักเรียนกล้าฝัน    และต้องไม่ใช่แค่ช่วยให้ฝัน  ครูต้องช่วยฝึกทักษะในการทำให้ฝันเป็นจริงด้วย    โดยเขาแนะนำ ๓ วิธี

  1. 1. ถาม   ครูตั้งคำถาม ให้นักเรียนบอกความฝันในชีวิต    ว่าในอนาคตเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ต้องการมีชีวิตอย่างไร   อยากประสบความสำเร็จในชีวิตในลักษณะไหน    นักเรียนจำนวนหนึ่งจะตั้งเป้าไม่เป็น หรือไม่กล้าฝันใหญ่    เขาแนะนำให้ฟังหรืออ่านความฝันในชีวิตของคนอื่น   เช่นค้นด้วย Google  ด้วยคำค้นว่า “teens or students who have changed the world”   เขาแนะนำว่า เมื่อครูตั้งคำถาม และนักเรียนตอบเรื่องความฝันในชีวิตของตน  ให้ฟัง และทำความเข้าใจ  อย่าตัดสิน    บอกนักเรียนให้เขียน แล้วแชร์กับเพื่อนสนิท   ทำความชัดเจน   และระบุขั้นตอนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย  
  2. 2. ช่วย   ครูช่วยให้นักเรียนทำความชัดเจนของเป้าหมาย   โดยใช้เกณฑ์ SMART (strategic & specific, measurable, amazing, relevant, และ time-bound)    ให้นักเรียนบอกว่า ผลลัพธ์สุดท้ายมีภาพเป็นอย่างไร  อธิบายเป็นถ้อยคำได้อย่างไร  และก่อความรู้สึกอะไร     
  3. 3. ฝึกตั้งเป้าหมาย    โดยเขียนในคอมพิวเตอร์ หรือเท็บเล็ต หรือกระดาษ ฟลิปชาร์ต    ทำเป็นเส้นทางตามช่วงเวลา     จากจุดเริ่มต้น ถึงเป้าหมายสุดท้าย    ระบุเป้าหมายรายทางเป็นช่วงๆ    ดีที่สุดหากร่วมกันทำกับเพื่อนคู่หู    ให้นักเรียนระบุเป้าหมายรายทางที่จะบรรลุให้ได้    เช่น ได้เกรดสูงขึ้น    แล้วคิดย้อนทาง (คิดจากผลไปหาเหตุ) ว่าตนเองจะทำอย่างไรบ้าง จะปรับปรุงตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายรายทางนั้นอย่างไร    ครูทำหน้าที่ช่วยให้นักเรียนมีจิตจดจ่อมุ่งมั่นอยู่กับเป้าหมายปลายทางและเป้าหมายรายทางอย่างไม่ละลด    โดยจัดกิจกรรมให้นักเรียนแสดงผลลัพธ์ของเป้าหมายปลายทางด้วยท่าทางประกอบเพลง  ที่เป็นเพลงเฉลิมฉลองความสำเร็จ    เช่นท่าทางตอนเรียนจบปริญญาตรี    มีผลงานวิจัยบอกว่า กิจกรรมเช่นนี้มีผลเปลี่ยนสารเคมีในสมอง    testosterone เพิ่มขึ้น  cortisol (ฮอร์โมนก่อความเครียด) ลดลง    ช่วยเพิ่มความรู้สึกมั่นใจว่าตนจะบรรลุความสำเร็จได้  และช่วยเพิ่มความกล้าเสี่ยง    เกิดแรงบันดาลใจต่อการเรียน    นอกจากนั้น เมื่อนักเรียนบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายรายทาง ครูต้องจัดกิจกรรมเล็กๆ เป็นการเฉลิมฉลอง    เพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อเนื่อง      

วิจารณ์ พานิช

๒๑ เม.ย. ๖๒  ปรับปรุง ๔ มิ.ย. ๖๒



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท