๙๕๔. ปฐมวัย..หาหัวใจให้พบเจอ..


ผมก็ได้แต่เตือนตัวเอง..ให้ระมัดระวังนวัตกรรมที่กำลังคืบคลานเข้ามาในห้องเรียนอนุบาล จนอาจทำให้ผมหลงลืม “หัวใจ”ของการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับบริบท และเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสม คือง่ายและงดงามยิ่งนัก..

         บางทีผมก็ลืมวิธีปฏิบัติที่ดีจากหลักสูตรเก่า จากประสบการณ์เก่าๆที่เคยปฏิบัติมา รู้สึกเสียดายแต่ไม่ถึงกับเสียใจ..เพราะทุกวันนี้ก็ยังทำงานได้และยังมีโอกาสเสมอ..

    ผมกำลังคิดถึงการจัดประสบการณ์ในชั้นอนุบาล เมื่อเดินอยู่ในร้านหนังสือสำหรับเด็ก ความคิดวนไปวนมาอยู่ที่สื่อ Bbl กิจกรรมวิทยาศาสตร์น้อย และกระบวนการ STEM

        ที่เรากำลังหยิบยื่นให้ครูอนุบาล เพื่อส่งต่อให้นักเรียนอนุบาล ที่เป็นวัยก่อนประถมศึกษา หรือเป็นช่วง”ปฐมวัย”ที่สำคัญที่สุด

        สำคัญถึงขนาดที่ผมนำมาเป็นสาระตั้งต้นในโมเดลการบริหาร โดยให้ชื่อว่า”ชยันโตโมเดล” ซึ่งยังไม่มีใครรู้จักเพราะผมคิดและใช้อยู่คนเดียว..ในโรงเรียนขนาดเล็ก

        ถ้อยคำสำคัญในโมเดลและปฏิบัติได้จริงก็คือ “ผลสัมฤทธิ์เริ่มที่อนุบาล” โดยที่ผมพยายามเน้นกิจกรรมที่ต้องทำให้ได้มากกว่าการร้องเพลง วิ่งเล่นและกินนม – นอน

        ในร้านหนังสือสำหรับเด็ก ผมถามตัวเองว่าได้ลืมอะไรไปหรือเปล่า? ลืมเพราะอะไร? จงอธิบายมาอย่างสมเหตุสมผล..

        ช่วงหลังผมยอมรับว่าลืมสนิท เพราะมีเรื่องราวที่ต้องพัฒนาอย่างมากมาย ขาดการนิเทศติดตามปฐมวัยไปพอสมควร หรืออาจเป็นเพราะว่าเด็กอนุบาลมีจำนวนมากขึ้น ห้องเรียนก็คับแคบ และมีการสับเปลี่ยนบุคลากรผู้สอนชั้นอนุบาล

        ถ้าผมไม่ติดธุระในเรื่องสร้างอาคารเรียนและสร้างห้องเรียนอนุบาล ผมก็น่าจะได้ฉุกใจสักนิด ว่าการที่นักเรียนชั้นป.๕ – ๖ อ่านคล่องเป็นเพราะเหตุใด?

        คำตอบก็คือ..ได้รับประสบการณ์”การอ่าน”มาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ได้ฟังนิทานมาอย่างโชกโชน เมื่อสิ่งเร้าดีการตอบสนองด้านทักษะภาษา..จึงไม่ใช่เรื่องที่พัฒนายาก..

        ผมยังจำภาพนั้นได้ ที่บอกให้ครูและรุ่นพี่ หยิบหนังสือเด็กที่เป็นหนังสือ”บันเทิงคดี”มานั่งกลางห้องแล้วรายล้อมด้วยเด็กนักเรียนตัวน้อยๆ คอยฟังเสียงด้วยใจจดจ่อ..

        หนังสือเล่มใหญ่(Big Book) ผมให้วางไว้หน้ากระดานดำ แล้วให้ครูอ่านให้นักเรียนฟัง อ่านช้าๆแล้วทำท่าทางประกอบ เด็กฟังหลายครั้งก็ไม่มีวันเบื่อ

        หนังสือเล่มเล็ก ครูกับเด็กจะได้ใกล้ชิดกัน ครูจะเปิดไปทีละหน้าแบบที่ไม่ต้องรีบเร่ง ให้นักเรียนเห็นทั้งภาพและเนื้อเรื่อง ครูสนทนาซักถามเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ

        ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมการอ่านในตารางประจำวัน จะอยู่ในช่วงก่อนนอนตอนบ่าย และหลังจากตื่นนอน..ก่อนที่จะกลับบ้าน

        กิจกรรมปฐมวัยแบบนี้ ตอบโจทย์อะไรได้บ้าง เราอาจไม่ต้องเสียเวลาตอบก็ได้ ถ้าเราเชื่อว่า โลกยุคใหม่..เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ฟังแม่ร้องเพลงและอ่านหนังสือ..

        แล้วเด็ก ๓ – ๕ ขวบ..ทำไมถึงจะไม่พร้อมในการเรียนรู้ภาษา ซึ่งต้องเริ่มต้นจาก “การฟัง”ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การอ่านเป็นลำดับต่อไป

        ผมเชื่อว่าครูประถมฯจะรู้สึกคับข้องใจไม่มากกับการอ่าน คิดวิเคราะห์ของเด็ก..ถ้าเด็กอนุบาลได้ฟังเรื่องราวดีๆผ่านตัวหนังสือ ได้เล่นบทบาทสมมุติจากหนังสือที่ครูอ่าน

        และผมยังเชื่ออีกว่า จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สร้างได้ตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ถ้าครูใส่ใจที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง..อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็กรักการอ่านเมื่อโตขึ้น

        ผมก็ได้แต่เตือนตัวเอง..ให้ระมัดระวังนวัตกรรมที่กำลังคืบคลานเข้ามาในห้องเรียนอนุบาล จนอาจทำให้ผมหลงลืม “หัวใจ”ของการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับบริบท และเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสม คือง่ายและงดงามยิ่งนัก..

        ผมเลือกหนังสือเด็ก ๑๐ เล่มเพื่อซื้อกลับบ้าน เดินผ่านสองแม่ลูกที่นั่งอ่านหนังสือ ลูกสาวจับจ้องมองภาพสีอันสวยสด แม่ทำสุ้มเสียงที่ตื่นเต้นเร้าใจ ผมยืนดูและแอบฟัง..

        เรื่องในหนังสือมีอยู่ว่า..”นักเรียนในห้องตั้งใจเรียน..และเตรียมอุปกรณ์การเรียนมาพร้อม มีนักเรียนคนหนึ่งตื่นสายแล้วลืมดินสอไว้ที่บ้าน...”

        นักเรียนอีกคนหนึ่งมีดินสอมากกว่า ๑ แท่ง จึงนำดินสอไปให้เพื่อนยืม เพื่อนดีใจและกล่าวขอบคุณ..แม่อ่านจบแล้ว ผมได้ยินแม่บอกลูกสาวว่า.. เราต้องรู้จักช่วยเหลือเพื่อนที่เดือดร้อนและรู้จักการแบ่งปันนะลูก...แม่สอนคุณธรรมให้ลูกผ่านตัวหนังสือ...

        ครับ..ผมก็กำลังจะนำหนังสือไปแบ่งปันให้ครูและนักเรียนเหมือนกัน

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๐  มิถุนายน  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 662369เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2019 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2019 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่เยอรมัน.. เขาจะมีคน แก่.ที่อยู่เหงาคนเดียว.. หรืออาสาสมัคร.. มาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง.. เจ้าค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท