สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๖. ให้คำแนะนำป้อนกลับที่ทรงพลัง



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๖ ให้คำแนะนำป้อนกลับที่ทรงพลัง  นี้เป็นบันทึกที่ ๒ใน ๓ บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสำเร็จของศิษย์ (achievement mindset)    ตีความจาก Chapter 5 :  Give Fabulous Feedback     

การที่นักเรียนจะธำรงความมานะพยายามไว้เป็นเวลานาน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายได้ในที่สุด    ต้องการแรงเสริมเป็นระยะๆ     การได้รับรู้ความก้าวหน้า ตามเป้าหมายรายทางในท้ายบันทึกที่แล้ว ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ    ในบันทึกนี้จะกล่าวถึงการใช้คำแนะนำป้อนกลับ ช่วยให้เห็นว่าเป้าหมายเคลื่อนใกล้เข้ามา สร้างความหวังเพิ่มขึ้น

การประเมินเพื่อพัฒนาในระหว่างการทำงาน

การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) ตามด้วยการให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ (constructive feedback) มีพลังต่อการเรียนรู้สูงยิ่ง ()    มีผลการวิจัยบอกว่า การประเมินเพื่อพัฒนาให้ effect size ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้เท่ากับ ๐.๙๐    การประเมินเพื่อพัฒนาจะช่วยให้ข้อมูลป้อนกลับ เพื่อปรับปรุงวิธีการ    หรือเพื่อยืนยันว่ามาตรการที่ใช้ก่อผลตามที่ต้องการ    มีหลักการ ๕ ประการ ที่จะช่วยให้การประเมินเพื่อพัฒนา มีพลัง

  1. 1. มีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน    ครูต้องทำให้นักเรียนมีความชัดเจนต่อเป้าหมายการเรียนรู้  และต่อเกณฑ์บอกความสำเร็จ
  2. 2. ทำให้เห็นความก้าวหน้า    เพื่อให้นักเรียนรู้ว่างานส่วนไหนสำเร็จ  ส่วนไหนต้องการการเปลี่ยนแปลงวิธีการ
  3. 3. ให้คำแนะนำป้อนกลับที่นำสู่การกระทำ และช่วยความก้าวหน้าของการเรียนรู้    เพื่อช่วยให้นักเรียนทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  4. 4. ส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้    หลักการคือ เรียน  เป็นเจ้าของ  และแชร์
  5. 5. ติดตามแนวโน้ม    นักเรียนฝึกมองแนวโน้มภาพใหญ่  และรายละเอียดที่ทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้  

ใช้ SEA ให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงคุณภาพ

SEA เป็นคำย่อ  ย่อมาจาก strategy, effort, และ attitude   ผู้เขียน (Jensen) บอกว่านักเรียนควรได้รับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback) อย่างน้อยทุกๆ ๓๐ นาที  จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งใน ๔ แหล่งคือ จากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  จากกิจกรรมที่ทำ  จากการใคร่ครวญสะท้อนคิด  และจากครู   โดยที่คำแนะนำป้อนกลับนั้น เป็นการชื่นชม ให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งของ SEA   จะเป็นการเสริมพลังในการฟันฝ่าความยากลำบาก

ตัวอย่างของคำแนะนำป้อนกลับในตระกูลนี้   

  • “ครูพอใจมากที่เธอทดลองใช้หลายกลยุทธ (strategy) จนในที่สุดค้นพบกลยุทธที่ใช้การได้”
  • “ครูยินดีที่เห็นเธอไม่ท้อถอย    ความามานะพยายาม (effort) จะช่วยให้เธอประสบความสำเร็จ และเดินสู่เป้าหมายได้” 
  • “ก่อนเริ่มงาน และระหว่างฟันฝ่า เธอพกเอาท่าที (attitude) เชิงบวกมาเต็มปรี่    ท่าทีเช่นนี้จะช่วยให้เธอบรรลุเป้าหมายได้” 

เมื่อมีการให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างเป็นธรรมชาติ ตามหลักการ SEA   โดยมีความหลากหลายของผู้ให้คำแนะนำป้อนกลับ(who),  จังหวะ (when) ของการให้คำแนะนำป้อนกลับ,  และวิธีให้ (how)    จะช่วยสร้าง effect size ถึง ๐.๗๔ 

ใช้ 3M ให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงปริมาณ

3M ย่อมาจาก milestone, mission, และ method    เป็นเครื่องมือให้นักเรียนตระหนักว่า ขณะนั้นตนอยู่ตรงไหนในเส้นทางสู่ความสำเร็จ (milestone),    ตนมีเป้าหมายอะไร (mission),   และตนใช้วิธีการใดในการเดินทางสู่เป้าหมาย (method)    การใช้เครื่องมือ 3M มี ๓ ขั้นตอนดังต่อไปนี้

       สอนกระบวนการ 3M แก่นักเรียน

              เป็นการแนะนำให้นักเรียนรู้จักเครื่องมือแต่ละตัวของ 3M   

  • เป้าหมายรายทางสู่ความสำเร็จ (milestone)   ช่วยบอกว่าเวลานี้นักเรียนอยู่ตรงไหนบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ    เช่นเวลานี้ นักเรียนเขียนตามคำบอกได้ถูกต้อง ๘ คำ จาก ๑๕ คำ  
  • เป้าหมายปลายทาง (mission)   เช่น สามารถตอบข้อสอบซ้อมปลายเดือนได้ถูกทั้งหมด
  • วิธีการ (method)   เช่น วิธีกำหนดเป้าหมายรายทางใน ๑ สัปดาห์

        มอบหมายให้นักเรียนติดตามความก้าวหน้าของตน

              ความก้าวหน้าอาจเป็นผลการทดสอบตนเอง   ผลการทดสอบของครู   เป็นการติดตามความก้าวหน้าเทียบกับเป้าหมาย (mission) ซึ่งชัดเจนมาก ว่าคือ ๑๐๐ (เต็ม)    แต่สำหรับนักเรียนที่เรียนอ่อนมาก เป้าหมาย ๑๐๐ หมายถึง ผลการทดสอบที่ดีขึ้นกว่าเดิม ๑๐๐%     

ชี้แนะแนวทางสู่การปรับปรุง

             เป้าหมายของเครื่องมือ 3M คือการส่งเสริมให้นักเรียนสามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (ดู )    คือรู้เป้าหมายปลายทาง  เป้าหมายรายทาง  และรู้วิธีบรรลุเป้าหมายนั้น   รวมทั้งรู้วิธีประเมินว่าบรรลุแค่ไหน  รู้จักปรับปรุงวิธีการ   

             ครูชี้แนะแนวทางสู่การปรับปรุงโดยเขียนโปสเตอร์แปะที่ฝาผนังห้องเรียน  แนะนำวิธีปรับปรุงวิธีเรียน    เช่น

                 ฉันจะเรียนดีขึ้นกว่าเดิมได้โดย

  • ถามคำถามในชั้นเรียนบ่อยยิ่งขึ้น
  • ทบทวนผลงาน และนำไปนำเสนอให้เพื่อนติชม
  • สรุปการเรียนทุกวัน
  • อ่านเรื่องที่จะเรียนก่อนไปเข้าชั้นเรียน
  • ทำงานร่วมกันเกลอคู่เรียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
  • นำเนื้อหาที่เรียนมาทำ mind map หรือ infographic
  • ขอความช่วยเหลือจากครูในบางเรื่อง
  • ค้นคว้าเรื่องราวของหลักประการที่เข้าใจยาก เพิ่มขึ้น

จะเห็นว่า ผู้ใช้เครื่องมือนี้คือนักเรียนและครู   

ใช้คำแนะนำป้อนกลับ MIC

MIC ย่อมาจาก micro index card    เป็นเทคนิคที่ครูได้รับ feedback จากนักเรียนด้วยวิธีการง่ายๆ     คือให้เขียนชื่อของตนลงบนกระดาษ index card ด้านหนึ่ง  อีกด้านหนึ่งเขียนเกี่ยวกับประเด็นต่อไปนี้เพียงครั้งละหนึ่งประเด็น  

  • สองสิ่งที่ครูควรรู้เกี่ยวกับตัวเขา    แต่ผู้คนมักไม่รู้
  • ประสบการณ์ในอดีตเกี่ยวกับวิชานั้น (ไม่เกิน ๕ บรรทัด)
  • การเรียนรู้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง   มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
  • เป้าหมายการเรียน
  • สิ่งที่อยากบอกครูเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย (เขียนบทความ)  ในส่วน คำนำ  ประเด็นหลัก  ข้อเสนอ  หลักฐานสนับสนุน  ข้อโต้แย้ง   ข้อสรุป  บทลงท้าย 
  • เพื่อนสนิท ๓ คนในชั้น (เพื่อให้ครูรู้ว่านักเรียนมีสังคมกับเพื่อนอย่างไร)
  • โครงร่างของงานที่กำลังทำ โดยใช้คำ ๕ - ๑๐ คำ
  • คำแนะนำต่อนักเรียนชั้นเด็กกว่า ว่าควรมีวิธีทำโจทย์คณิตศาสตร์อย่างไร

ให้นักเรียนกรอก MIC ทุกๆ วันเว้นวัน ในช่วง ๒ สัปดาห์แรก   จะช่วยให้ครูรู้จักนักเรียนมากขึ้น   และปรับปรุงการจัดการชั้นเรียนให้เหมาะสมแก่เด็กได้ดีขึ้น   รวมทั้งจัดทีมทำงานได้เหมาะสมยิ่งขึ้น  

จะเห็นว่า คำแนะนำป้อนกลับ MIC  เป็นคำแนะนำป้อนกลับที่นักเรียนให้แก่ครู   เพื่อประโยชน์ของตนเอง (และเพื่อนนักเรียน)    

คำแนะนำป้อนกลับของนักเรียน

ครูที่ดีต้องหาวิธีได้คำแนะนำป้อนกลับของนักเรียน สำหรับนำมาปรับปรุงตนเอง    เขาแนะนำ ๔ วิธีการ ดังต่อไปนี้

  1. 1. ข้อมูลที่ไม่ใช่ถ้อยคำ    ครูสังเกตกิริยาท่าทาง สีหน้า ของนักเรียน เป็นระยะๆ    เพื่อหาทางทำให้นักเรียนทุกคนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างดี   มีผลการวิจัยว่า เครื่องมือง่ายๆ นี้ให้ effect size ถึง ๑.๔๒  
  2. 2. สิ่งที่เรียนเมื่อวานนี้   แจกกระดาษเปล่า ๑ แผ่น ให้เวลา ๑๒ นาที   ให้นักเรียนทุกคนเขียนเรื่องที่เรียน (วิชานี้) เมื่อวาน เท่าที่จำได้    ครูเก็บกระดาษมาอ่านเพื่อหานักเรียนที่จับประเด็นสำคัญไม่ได้   รวมทั้งหาส่วนที่ครูสอนไม่ชัดเจน   สำหรับแก้ไขต่อไป   นักเรียนที่จับประเด็นไม่ได้ครูเรียกมาสอนเพิ่ม
  3. 3. สรุป ๑ นาที    ก่อนจบเวลาเรียนของคาบ  แจกกระดาษที่มี ๒ คำถาม ให้นักเรียนตอบ   โดยไม่ต้องลงชื่อนักเรียน  ใช้เวลา ๑ - ๒ นาที
  4. สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการเรียนวันนี้คือ ...
  5. ส่วนที่ยังเข้าใจไม่ชัดเจนในวันนี้คือ ...
  6. 4. กล่องรับข้อเสนอแนะ   เป็นการรับข้อเสนอแนะต่อครูแนวรุก  ไม่ใช่แนวตั้งรับแบบกล่องรับข้อเสนอแนะที่เราคุ้นเคย    ทำโดยก่อนชั้นเรียนครูถามว่า ในบทเรียนที่แล้วมีตรงไหนยังเข้าใจไม่ชัดบ้าง    แล้วในช่วงเวลาเรียน ให้เวลา ๑ นาทีให้นักเรียนเขียนข้อเสนอแนะ   โดยอาจให้เขียนก่อนจบคาบเรียน   หลังจากเก็บข้อเสนอแนะมาอ่านและจัดหมวดหมู่ได้ ๑ สัปดาห์ บอกนักเรียนว่าครูได้รับข้อเสนอแนะอะไรบ้างที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้    และกล่าวคำขอบคุณนักเรียน

จะเห็นว่า คำแนะนำป้อนกลับเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้    คนที่ต้องการปรับปรุงงานของตนเอง ปรับปรุงตนเอง ต้องการคำแนะนำป้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า constructive feedback

วิจารณ์ พานิช

๑๕ เม.ย. ๖๒



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท