เก็บตกวิทยากร (57) : ประเมินความคาดหวัง (BAR) และการถามทักความกลัวของผู้นำนักศึกษา


ผมไม่รู้หรอกว่า ผมออกแบบกระบวนการผิด หรือถูก แต่ที่แน่ๆ ผมปรับกระบวนการเรียนรู้ตามความคาดหวังของผู้เรียน – เป็นการปรับกระบวนการตามบัตรคำ BAR นั่นแหละ การปรับกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ จะว่ายึด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ก็พอได้กระมัง

จากบันทึก (ที่แล้ว)

การเดินทางไปทำกระบวนการเพียงคนเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เนื่องในโครงการ “บ่มเพาะผู้นำนักศึกษายุคใหม่”  ที่มีคนเข้าร่วมราวๆ  100 คน  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  กระนั้นผมก็คิดว่า “เอาอยู่”  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ทำให้เต็มที่”

ผมยึดมั่นในแนวทางของตนเองเหมือนเช่นทุกครั้ง  การเป็นวิทยากร  ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ หรือสร้างกระบวนการสกัดความรู้ออกจากตัวของคนในเวทีเท่านั้น  หากแต่หมายถึงการสอนให้คนในเวทีได้เรียนรู้ที่จะนำกระบวนการไปประยุกต์ใช้ด้วยตนเอง –



ปรับโต๊ะใหม่ : สะท้อนการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้


ภายหลังพิธีเปิดเสร็จสิ้น  ผมเปิดตัวด้วยเรื่องเล่าอันเป็นประวัติส่วนตัวของตนเองเพียงเล็กน้อย  โดยโฟกัสไปเรื่องราวสมัยยังเป็นเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลาย  เพราะต้องการให้คนในเวทีรู้ว่าผมเป็น “คนของที่นี่”(คนกาฬสินธุ์) เผื่อจะทำให้นักศึกษาในเวทีผ่อนคลายว่ากำลังเรียนรู้กับ “คนบ้านเดียวกัน”

ผมขอให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่จัดโต๊ะนั่งกันใหม่ จากที่นั่งเหมือนในชั้นเรียนทั่วไปก็เปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นแบบ “ตัวยู (U)”  พร้อมๆ กับบอกตรงๆ ไปเลยว่า  การจัดโต๊ะเก้าอี้คือส่วนหนึ่งของทักษะของผู้นำที่ว่าด้วย “การออกแบบการเรียนรู้”



BAR : ปักหมุดการเรียนรู้ของนักศึกษา


เวทีนี้ผมไม่ได้ทำกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  แต่ปรับกระบวนการตรงดิ่งลงที่ “การประเมินความคาดหวัง”  ในรูปของ “BAR” (Before action review)

ก่อนที่จะนำเข้ากระบวนการ  ผมถามนักศึกษาก่อนว่ารู้จัก หรือคุ้นชินกับ BAR หรือไม่  มีทั้งที่ถามผ่านอักษรย่อและชื่อเต็ม –  ซึ่งจากการประเมินผ่าน “หน้าตัก” ตรงนั้น  ดูราวกับว่านักศึกษาจะไม่คุ้นชินนัก  ผมจึงอธิบายความหมายและความสำคัญให้นักศึกษาได้รับรู้ พร้อมๆ กับตั้งคำถามว่า “คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้”

ผมบ่งชี้ชัดว่า “ให้เขียนจากความสัตย์จริงของแต่ละคน”  อันประกอบด้วย “ความคาดหวังส่วนตัวล้วนๆ” ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับโครงการฯ  และ “ความคาดหวังที่สัมพันธ์กับโครงการฯ”  โดยทั้งนี้ผมให้นักศึกษาเขียนผ่าน “บัตรคำ” ที่ผมเตรียมไปเอง

การเขียนความคาดหวัง  ผมเปิดเพลงคลอเบาๆ เสริมสร้างบรรยากาศ  พร้อมๆ กับให้ทางเลือกในการสะท้อนความคาดหวังอย่างหลากรูปแบบ  ทั้งเขียนเป็นวลี –วาทกรรม – ประโยค – สำนวน  หรือกระทั่งการวาดภาพประกอบ หรือวาดภาพเฉยๆ โดยไม่มีข้อความปะปน

ใช่ครับ – ผมไม่อยากสร้างกติกาในการเรียนรู้มากนัก ผมอยากให้นักศึกษามีอิสระในการเลือกวิธีการต่างๆ ด้วยตนเอง  ประหนึ่งกำลังบอกกับนักศึกษาว่าการเป็นผู้นำต้องเป็นนักออกแบบ  กล้าคิดนอกกรอบ กล้าจินตนาการ ฯลฯ

และแน่นอนครับ-เมื่อเขียนเสร็จแล้ว  ผมก็เชื้อเชิญให้นักศึกษาบอกเล่าความคาดหวังของพวกเขาเอง เป็นการบอกเล่าตามความสมัครใจ และให้โอกาสคนที่บอกเล่าได้ “โยนไมค์” ไปยังเพื่อนคนอื่นๆ

เสียดายก็แต่ในหอประชุมนี้  ไม่สามารถนำบัตรคำไปปิดผนึกไว้ตามผนังหอประชุมได้  ผมจึงนำมาเก็บไว้และหาเวลา “ถอดความ”  ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว –  ซึ่งก็ค้นพบประเด็นต่างๆ หลากหลาย ยกตัวอย่างที่ปรากฏพบมากที่สุดเรียงตามลำดับ  เช่น

  • อยากได้แรงบันดาลใจในการทำกิจกรรม และการใช้ชีวิต
  • อยากได้ความรู้ใหม่ๆ  และประสาบการณ์ตรงในการใช้ชีวิตของวิทยากร
  • อยากได้ความรู้ในเรื่องการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
  • อยากได้แนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อมหาวิทยาลัย และน้องๆ
  • อยากได้ความสนุกสนานจากการอบรม
  • อยากได้ความรู้ในการเขียนโครงการ บริหารโครงการ  กฎระเบียบของการจัดกิจกรรม
  • อยากรู้จักเพื่อนใหม่
  • อยากมาฝึกความกล้า  (แต่ไม่ชัดว่าความกล้าที่ว่านั้นคืออะไร)
  • อยากเรียนรู้เรื่องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
  • อยากรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ

· ฯลฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่าที่พบถี่มากที่สุดคือเรื่อง “แรงบันดาลใจ”  และรองลงมาคือ “อยากรับรู้เรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของวิทยากร”  จนผมอดคิดไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษา หรือผู้นำเหล่านี้ทำไมปักหมุดไปที่ “แรงบันดาลใจ”  พวกเขากำลังเผชิญอยู่กับอะไร  ทำกิจกรรมแล้วไม่มีความสุข  หรือกำลังกระหายและเต็มไปด้วยพลัง  แต่ไม่รู้จะ “เดินต่อ”  อย่างไร หรือเปล่า

และนอกจากนั้นก็มีจำนวนหนึ่งที่เขียนสะท้อนความคาดหวังในการเข้าร่วมกิจกรรมแบบซื่อใส น่ารักๆ  เช่น

  • อยากมาทานข้าวฟรี
  • อยากมานั่งในห้องที่มีแอร์เย็นๆ
  • ไม่รู้ –ดีกว่าอยู่เฉยๆ

จากข้อมูลข้างต้น  ในช่วงพักรับประทานอาหารว่าง  ผมต้องปรับสไลด์จากชุดแรกเป็นชุดที่สองทันที  นั่นคือยกสไลด์ว่าด้วยวิชาการออกไป  แล้วใช้สไลด์แบบบันเทิงเริงปัญญาเข้าแทน  พร้อมๆ กับการตัดสินใจปรับการบรรยายมาสู่การเรียนรู้ร่มกันผ่านวาทกรรมความคิด  ผ่านคลิป ผ่านเวทีโสเหล่ ผ่านบัตรคำ ผ่านการโยนไลค์ ฯลฯ 

ทั้งปวงก็ไม่มีอะไรมาก  เพราะต้องการให้นักศึกษามีความสุขและตื่นตัวกับการเรียนรู้ให้มากที่สุด  เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ  และ “เล้าโลม”ให้นักศึกษาได้แสดงแนวคิดแล้วค่อยหยิบจับสิ่งที่นักศึกษาสะท้อนออกมาแล้วขมวดความมาเป็น “วิชาการ” หรือ “ทฤษฎี” โดยย้ำว่า “นี่คือบริบท” หรือ “ลักษณะเฉพาะของที่นี่” หรือ “ลักษณะเฉพาะตนของผู้นำนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์”




ความกลัว : หลุมดำของการเรียนรู้


ถัดจากกระบวนการประเมินความคาดหวัง ผมนำเข้าสู่กระบวนการถัดว่า คือ “สำรวจความกลัวของผู้นำนักศึกษา” เป็นการสำรวจผ่านการชวนคิด ชวนคุย โยนไมค์บ้าง หรือไม่ก็กระตุ้นให้แต่ละคนพูดโดยสมัครใจ

กรณีคำถามในกระบวนการนี้  ผมเปิดกว้างทั้งที่เป็นความกลัวว่าด้วยการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร และความกลัวทั่วไปที่อาจเป็นได้ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต และอื่นๆ  ซึ่งนักศึกษา/ผู้นำนักศึกษาได้สะท้อนออกมา ยกตัวอย่างเช่น

  • กลัวทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่
  • กลัวทำงานไม่สำเร็จ – กลัวความล้มเหลว
  • กลัวโครงการไม่ได้รับการอนุมัติ
  • กลัวไม่ได้รับความร่วมมือ
  • กลัวการอยู่คนเดียว
  • กลัวเสียเพื่อน
  • กลัวทำอะไรโดยปราศจากสติ

· ฯลฯ

ผมเจตนาถามถึงเรื่อง “ความกลัว”  เพราะต้องการสำรวจปัญหาของการขับเคลื่อนกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือภาวะความเป็นผู้นำในแบบกรายๆ  และถึงแม้จะไม่พบประเด็นเชิงลึก หรือความหลากหลายอะไรมาก  แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าคำถาม หรือคำตอบจะไร้ตัวตนในเวทีนี้

ถัดจากนั้น  ผมก็ “ยิงคำถามใหม่”  นั่นคือ “คุณมีวิธีจัดการกับความกลัวนั้นอย่างไร”  ซึ่งเน้นให้แต่ละคนพูดด้วยความสมัครใจ  ใครใคร่พูดก็พูด ใครใคร่ฟังเฉยๆ ก็ตามสบาย – ไม่ว่ากัน

ถัดจากนั้นจึงเปิดคลิปให้นักศึกษาได้ดูร่วมกัน  ซึ่งเป็นคลิปเรื่องราวของอิกัวน่าหนีตาย ฝ่าวงล้อมของงูพิษจำนวนมาก

พอคลิปจบลง  ผมก็ชวนนักศึกษาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ผ่านคำถามง่าย ๆ “ได้เรียนรู้อะไรจากคลิป”  ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เห็นถึง “ความกลัวและการต่อสู้กับความกลัวเพื่อการอยู่รอด”

เช่นเดียวกับการชวนให้นักศึกษาได้คิดร่วมกันว่า  การชนะซึ่งความกลัว  หรือการเอาชนะซึ่งความตายที่ว่านั้นต้อง “ทำอย่างไร”

ใช่ครับ- “ทำอย่างไร”  ผมผูกโยงประเด็นถึง “เครื่องมือในการเรียนรู้” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ  พร้อมๆ กับการ “ลากความ”  เข้าสู่การเรียนรู้-ทักษะการเรียนรู้ของผู้นำนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 ไปแบบไม่ให้ตั้งตัว  เรียกได้ว่า “เอาบันเทิงนำความรู้”  หรือที่ผมพุดเสมอว่า “บันเทิงเริงปัญญา”

ผมไม่รู้หรอกว่าคลิปสั้นๆ ที่ตัดตอนมานั้นมาจากเหตุการณ์ใด หรือภาพยนตร์เรื่องใด  ถึงรู้ก็ไม่เฉลยให้นักศึกษาได้รับรู้  ผมอยากให้เขาไปเรียนรู้และสืบค้นด้วยตนเอง 

เช่นเดียวกับการไม่ยอมเริ่มต้นกระบวนการด้วยการบรรยายว่าด้วย “การเรียนรู้-ทักษะการเรียนรู้-คุณลักษณะของผู้นำนักศึกษา”  แต่เลือกที่จะเปิดเวทีทักถามถึงความกลัวและการแก้ปัญหาความกลัวของนักศึกษา ซึ่งเจตนาละลายพฤติกรรมไปพร้อมๆ กับการ “สำรวจต้นทุน” ของแต่ละคน โดยฝึกให้พวกเขากล้าที่จะแบ่งปันประสบการณ์ต่อคนรอบข้าง  

ในทำนองเดียวกัน  การเปิดคลิปให้นักศึกษาได้ดู – ผมเปิดให้ดูแบบไม่ได้บอกล่วงหน้าว่า “ตั้งใจดู ตั้งใจค้นหาว่าในคลิปมีอะไรที่เกี่ยวกับความกลัว หรือการใช้ชีวิตและการทำงาน”  เพราะผมอยากสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษา  และต้องการประเมินทักษะการดู การฟัง การจับประเด็น การวิเคราะห์ประเด็นแบบไร้โจทย์ตั้งแต่ต้น  เรียกได้ว่า “เรียนรู้ตามสถานการณ์”ก็ไม่ผิด  

รวมถึงการเชื่อมไปสู่ทักษะที่ว่าด้วย Soft skills 

ผมไม่รู้หรอกว่า  ผมออกแบบกระบวนการผิด  หรือถูก 

แต่ที่แน่ๆ ผมปรับกระบวนการเรียนรู้ตามความคาดหวังของผู้เรียน – เป็นการปรับกระบวนการตามบัตรคำ BAR  นั่นแหละ  การปรับกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้  จะว่ายึด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ก็พอได้กระมัง

และที่แน่ๆ ผมสรุปความตอนท้ายว่า "การขจัดปัญหาความกลัวทั้งปวง  ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน  และยิ่งในวิถีกิจกรรม ยิ่งตอบโจทย์การขจัดความกลัวผ่านการลงมือทำ -เป็นการลงมือทำอย่างเป็นทีม  เพราะกิจกรรมสอนให้ทำงานอย่างเป็นทีม"

หรือแม้แต่  "BAR คือเครื่องมือการเรียนรู้  เราอาจไม่จำเป็นต้องวัดจากทุกคนทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ  แต่อาจเน้นที่แกนนำหลักๆ ของเราก็ได้  เพราะกิจกรรมต้องสร้างผู้นำ มิใช่สร้างแต่ผู้ตามจนล้นองค์กร  การขับเคลื่อนกิจกรรม  อย่างน้อยแกนนำต้องรู้ว่าทำกิจกรรมแล้ว ได้เรียนรู้อะไร เปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์หรือไม่ ทำแล้วบรรลุวัตถุประสงค์แค่ไหน  ทำแล้วจะเดินต่ออย่างไร"




จากบันทึก (ที่แล้ว)

เขียน : ศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562
ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา/มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

หมายเลขบันทึก: 661604เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2019 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2019 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วคิดตาม วิทยากรเก่งมากค่ะ เรียนเสร็จรู้และเข้าใจตนเอง

สวัสดีครับพี่แก้ว,ที่จริงแล้วเนื้อความที่เขียนในบันทึกนี้ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการหลัก เป็นเหมือนการ “นวด”หรือการ “นำเข้าสู่เนื้อหาหลึก”

และสรุปเครื่องมือการเรียนรู้ไปในตึวครับว่ามีอะไรบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท