การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก : ๑๐. จินตนาการสู่ระบบการศึกษาไทย


บันทึกที่ ๑ - ๙ ตีความจากหนังสือ A World-Class Education : Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012) (1) เขียนโดย Vivien Stewart    ตอนที่ ๑๐ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย    เป็นข้อสังเคราะห์ของผมเอง  เพื่อเสนอแนะต่อวงการศึกษาไทย

ระบบการศึกษาคุณภาพสูง เป็นเงื่อนไขสำหรับประเทศไทย ในการบรรลุเป้าหมายการยกระดับประเทศสู่ประเทศรายได้สูงและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมีมาตรฐานสูง ที่เรียกว่า ประเทศไทย ๔.๐

ในการพัฒนาประเทศ ไม่มีอะไรสำคัญกว่าคุณภาพของพลเมือง การศึกษาเป็นการพัฒนาคุณภาพของพลเมือง    สภาพของคุณภาพการศึกษาในวันนี้ จะส่งผลต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศใน ๒๐ - ๕๐ ปีข้างหน้า    

ประเทศที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมีคุณภาพสูงในระดับต้นๆ ของโลก จัดระบบการศึกษาที่ถูกต้อง และมีลักษณะร่วมตามที่ระบุในตอนที่ ๖ ของบันทึกชุด การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก นี้    ควรที่ผู้บริหารระบบการศึกษาของประเทศไทย จะได้ทำความเข้าใจ นำมาปรับใช้ในประเทศไทย    เพื่อแก้ไขส่วนที่เราเพลี่ยงพล้ำดำเนินการผิดพลาด   ทำให้ระบบการศึกษาของเราตกต่ำลงไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่คุณภาพการศึกษาต่ำ     โดยขอย้ำว่าการแก้ไขนี้ต้องทำอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน    อย่างที่ได้ระบุตัวอย่างของ ๕ ประเทศ ในบันทึกตอนที่ ๑ - ๕    

ผมเชื่อว่า เราช่วยกันทำได้

โดยขอเสนอว่า เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ๘ จังหวัด ควรดำเนินการ vision exercise อย่างที่ระบุในบันทึกตอนที่ ๖    เพื่อเป็นกลไกสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (ที่ท้าทาย) ของประชาคมแกนนำในจังหวัด    โดยผมขอเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรเชิญผู้แทนของ สพฐ., สอศ., และ สกอ. เข้าร่วมด้วย    เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า ส่วนกลางของประเทศควรสนับสนุนอย่างไรบ้าง     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนโดยไม่ออกคำสั่ง     และ vision exercise ควรนำไปสู่ implementation exercise เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ในจังหวัด และในส่วนกลาง ได้เข้าใจและร่วมกันสร้าง alignment และ coherence ของการดำเนินการพัฒนาระบบการศึกษาในจังหวัด    ความสำเร็จของจังหวัดนำร่องเหล่านี้ จะเป็นข้อเรียนรู้สำหรับการพัฒนาระบบใหญ่ของประเทศต่อไป   

Alignment สำคัญยิ่งคือ ความสอดคล้องของเป้าหมายและการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย เพื่อสนองแผนระยะยาวของการพัฒนาจังหวัดหรือพื้นที่   ประเทศไทยเราอ่อนแอด้านการดำเนินการ (implementation) เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือนโยบาย    เราเขียนกฎหมายหรือกำหนดนโยบายได้ดี แต่บริหารสู่เป้าหมายไม่เก่ง    ควรเรียนรู้จากเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     

ข้อมูลจากการทำงานของมูลนิธิพูนพลัง () ในการช่วยเหลือเด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการศึกษาตามศักยภาพ    พบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะเงินเท่านั้น    ที่ขาดแคลนกว่าคือคำแนะนำแนวทางการศึกษาและดำเนินชีวิตที่ถูกต้องจากผู้ปกครองและครู    ทำให้หลักการ ตั้งเป้าสูง สนับสนุนเต็มที่ (High expectation, High support) ที่กลุ่มประเทศการศึกษาคุณภาพสูงใช้นั้น    ในสังคมไทยโดยทั่วไปยังไปไม่ถึง    

ครู และผู้บริหารโรงเรียน คือหัวใจสำคัญของคุณภาพการศึกษา    ระบบการผลิตครูใหม่ และการพัฒนาครูประจำการของไทย    ที่เชื่อมโยง (align) กับการพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนและโรงเรียน   เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามแนวของประเทศที่มีผลลัพธ์ของการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก  เป็นเรื่องเร่งด่วน และมีความสำคัญยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา     โดยที่ในปัจจุบันระบบการควบคุมจากส่วนกลางมีส่วนขัดขวางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบใหม่     เพราะเป็นระบบที่เน้นผลประโยชน์ส่วนกลุ่มมากกว่าผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศ   

จุดสำคัญอย่างหนึ่ง คือการให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามผลงานสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียน    และตามผลงานสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและในพื้นที่ เพื่อการเรียนรู้องค์รวมทั้งของนักเรียนและของครูและผู้บริหารการศึกษา     มีรายละเอียดของเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของระบบการศึกษาในบทที่ ๗

หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ต้องเน้นทักษะแห่งอนาคต  เน้นสร้างกระบวนทัศน์มองอนาคตให้แก่นักเรียน (และแก่ครูและผู้บริหารการศึกษา)    เน้นสร้างกระบวนทัศน์พัฒนาทักษะการเป็นพลเมืองโลก ด้วยวิธีการต่างๆ     ไม่ใช่สร้างกระบวนทัศน์การเรียนเพื่อการมีชีวิตอยู่ในสังคมแคบๆ และในสภาพปัจจุบัน   โดยจะต้องปรับเปลี่ยนการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ให้เข้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของครูให้มากที่สุด ตามแนวของประเทศที่ผลลัพธ์การเรียนรู้มีคุณภาพสูง    โดยจะต้องมีกลไกช่วยเหลือส่งเสริมให้ครูประเมินอย่างแม่นยำและซื่อสัตย์   เน้นให้น้ำหนักการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) ตามด้วยการให้คำแนะนำป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ (constructive feedback)    เพื่อให้การประเมินเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเรียนรู้คุณภาพสูง     ครูที่มีสมรรถนะและความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ควรได้รับการยกย่องและให้ค่าตอบทนในฐานะ “ครูสอนเก่ง” (master teacher)  ได้รับตำแหน่งและความก้าวหน้าเป็นพิเศษ   ดังประเทศสิงคโปร์ทำเป็นตัวอย่าง        

ในระบบการศึกษาคุณภาพสูง นักเรียนไม่ได้รับการเรียนรู้เฉพาะในชั้นเรียนเท่านั้น    ยังมีการจัดกิจกรรมนอกชั้นเรียนให้นักเรียนเลือกเข้าตามความชอบหรือความถนัดของตน    ดังที่ประเทศฟินแลนด์ดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง ()     และประเทศสิงคโปร์กำหนดให้นักเรียนชั้นมัธยมต้องเรียนวิชา service learning สองวิชาต่อปี    เพื่อฝึกฝนทักษะความเป็นพลเมืองและความเสียสละเพื่อผู้อื่น   

สำหรับเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา “ยุทธศาสตร์ปลดโซ่ตรวน” แก่โรงเรียน อย่างแยกแยะ   ตามที่ระบุในบันทึกตอนที่ ๙ น่าจะมีความสำคัญที่สุด    เพื่อใช้ความเป็นอิสระที่จะทำงานสร้างสรรค์เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์อย่างจริงจัง เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ต่อครูและผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นคนดีมีความสามารถ   ให้ไม่ต้องทำงานที่ไม่ก่อผลดีต่อนักเรียน    โดยควรร่วมกันกำหนดเกณฑ์ให้บรรลุเพื่อนำไปสู่ “การปลดโซ่ตรวน”    เกณฑ์หนึ่งที่ควรระบุคือ การมีระบบเรียนรู้ร่วมกันของครูและผู้อำนวยการ    ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ    รวมทั้งการมีการผลัดกันเข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียนเพื่อให้ feedback แก่กันและกัน  เป็น feedback นำไปสู่การพัฒนาชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง     และการมีทีมช่วยเหลือนักเรียนที่ล้าหลังในการเรียนรู้บางวิชา อย่างในประเทศฟินแลนด์   

เป้าหมายสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาไทยคือ การลดความสูญเปล่า    ซึ่งหมายถึงการลงทุนลงแรงที่ไร้ผลต่อการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน (ที่เป็นผลลัพธ์แบบองค์รวม)  และต่อการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง    เรามีโอกาสดำเนินการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มาก เพราะขณะนี้มีกิจกรรมที่ไม่จำเป็นในระบบการศึกษามากมาย  

เป้าหมายร่วมของทุกประเทศที่ระบบการศึกษาคุณภาพสูงคือความเสมอภาค (equity) ทางการศึกษา     ซึ่งหมายถึงการดำเนินการเพื่อให้นักเรียนทุกคน (หรือเกือบทุกคน) บรรลุเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้    การดำเนินการเพื่อเป้าหมายนี้ ไม่ใช่มีผลแคบๆ เฉพาะที่ความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมเท่านั้น    แต่จะมีผลดีต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวมเป็นอย่างมากด้วย    เพราะจะทำให้วงการการศึกษามีความประณีต เอาใจใส่รายละเอียดของการจัดการเรียนรู้ ให้มีความเหมาะสมต่อนักเรียนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก    เป็นกลไกการเรียนรู้ในวงการศึกษา เพื่อยกระดับการเรียนรู้วิธีจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียน ซึ่งตามธรรมชาติ มีความแตกต่างหลากหลายมาก  

ขอขอบคุณ นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้   

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ม..ค. ๖๒

      

หมายเลขบันทึก: 660849เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

How do we tackle issues with rural and remote areas where children need high quality education? We have poor economy, low expectation and very low support. We need highly motivated and committed –super– teachers who are willing to work in challenging (less than ideal) conditions with probably less pay (in comparison to city teachers). Preconception and practice now would keep ‘good teachers’ away from rural and remote areas. Only remedy for parents is to send ‘good children’ to a city school. And so perpetuating the conditions and issues.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท