นาร์ซิสซัส (Narcissus) : ว่าด้วยการหลงตัวเองในโลกโซเชียลมีเดียและในโลกปกรณัมกรีก


ว่าด้วยการหลงตัวเองในโลกโซเชียลมีเดียและในโลกปกรณัมกรีก

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (14 มีนาคม 2562) @vatin sansanti

คนที่ชอบโพสแต่รูปของตัวเอง เป็นพฤติกรรมทางจิตที่เรียกว่าหลงตัวเอง และเรื่องราวของนาร์ซิสซัสปกรณัมกรีก ผู้หลงรูปตัวเอง

เชื่อว่าใครหลายคนที่เล่นโซเชียลมีเดียอาจมีเพื่อนหรือคนที่คุณติดตามที่มีพฤติกรรมที่ชอบเซลฟี่ ชอบโพสแต่รูปของตัวเอง เรียกได้ว่าในหน้า wall ของเพื่อนคุณนั้นแทบไม่มีรูปอื่นเลยนอกจากรูปของเขาเอง นั่นทำให้สันนิษฐานเบื้อต้นไว้ว่า เพื่อนของคุณหรือคนที่คุณติดตามนั้น อาจมีอาการทางจิตอ่อน ๆ ที่เรียกว่าหลงตัวเอง อาจเลยเถิดไปถึงโรคจิตหวาดระแวง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พฤติกรรมหลงตัวเองเช่นนี้เกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นและเด็กนักเรียนที่ชอบโพสต์รูปของตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตในอนาคต การโพสต์รูปตัวเองเพื่อรอให้คนมากดไลค์ (Likes) นั้นทางจิตวิทยาถือเป็นรางวัล ซึ่งเมื่อคนมากดไลค์มาก ๆ เขาก็เหมือนกับได้รับรางวัล แล้วก็จะทำเพื่อให้ได้รับรางวัลก็จะทำอีกเรื่อยๆ แต่ละคนจะมีความสุขหลังจากที่ได้โพสต์รูปตัวเองและมีคนกดไลค์มากน้อยต่างกัน บางคนหมกมุ่นที่จะพยายามให้คนมากดไลค์ให้ ถ้าไม่มีคนกดไลค์อย่างที่หวัง ก็จะโพสต์รูปอื่นต่อไปเพื่อหวังให้ได้รับการตอบรับที่ดีกว่า พฤติกรรมเช่นนี้อาจกระทบต่อความคิด เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง และมีทัศนคติทางลบกับตัวเอง ทำให้เกิดการรู้สึกกระวนกระวาย ลังเลใจ และไม่มีความสุขในชีวิต นานเข้าอาจเกิดการแปรปรวนทางอารมณ์และจิตใจ เช่น โรคจิตหวาดระแวง (Paranoia) ขี้อิจฉา จู้จี้จุกจิก (Nitpicking) และซึมเศร้าหดหู่

ในฐานะที่ผมเล่นโซเชียลมานานก็เห็นพฤติกรรมของใครหลายคนเป็นเช่นนี้ แต่จะเหมารวมว่าหลายคนที่เป็นเช่นนี้ว่าเขาเป็นอาการหลงตัวเอง หรือโรคจิตหวาดระแวงทุกคนไม่ได้ เพราะมันไม่ได้หมายถึงทุกคนจะเป็นเช่นนั้นหมด หรือหากใครเป็น ต่อให้เราไปบอกเขา เขาก็ไม่ยอมรับหรอก แน่นอนละใครมันจะไปยอมรับว่าตัวเองบ้าละจริงมั้ย

ในฐานะที่ผมเป็นผู้ศึกษาคติชนวิทยา ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงเทพปรณัมกรีกที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลงรูปลักษณ์ตนเองจนเทพเจ้าหมั่นไส้ สาปให้หลงรักแต่ตัวเองจริงจังจนตาย บุคคลนั้นคือ นาร์ซิสซัส (Narcissus)

นาร์ซิสซัส เป็นนายพรานจากดินแดนเธสพิเอ ในโบเทีย คือชายหนุ่มรูปงามที่สุดคนหนึ่งในเทพปรณัมกรีกเลยกว่าได้ ไม่จะเป็นมนุษย์หรือเทพก็หลงในรูปลักษณ์ของเขาเป็นอย่างมาก มีผู้หญิงจำนวนมากมารุมล้อมเฝ้ามองเขาตลอดเวลา และด้วยความรูปงามของเขาเอง ทำให้เขาเป็นผู้หยิ่งทะนงตนเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งที่เขาจะเบื่อหน่ายสาว ๆ ที่มาชอบเขา

นาร์ซิสซัสยังมีเรื่องราวความสัมพันธ์อันขมขื่นกับเอคโค่

เอคโค่เป็นนางไม้ที่มีความร่างเริงชอบส่งเสียงใส ๆ เจื่อยแจ้วไปเรื่อย เรียกได้ว่าพูดได้ทั้งวันแบบไม่เบื่อเลย วันหนึ่งเฮร่ามาตามหาซุสสามีที่หลบมาเล่นจ่ำจี้กับเหล่านางไม้ ด้วยความที่เอคโค่เป็นผู้ที่พูดเก่งจึงทำหน้าที่พูดถ่วงเวลาให้ซุสจ้ำจี้จนเสร็จสมอารมณ์หมาย เฮร่าโมโหและโกรธเอคโค่มาก จึงสาปให้เอคโค่ไม่สามารถพูดได้อีกต่อไป จะพูดได้แต่เพียงคำท้ายของคำพูดจากผู้อื่นเท่านั้น นั้น นั้น นั้น ......

เอคโค่เศร้าโศกเสียใจมาก แต่วันหนึ่งนางได้พบกับพรานป่านาร์ซิสซัส แน่นอนว่า ความหล่อเหล่าเอาการรูปงามขั้นเทพเช่นนี้ก็สามารถมัดใจนางได้ทันที นางตามนาร์ซิสซัสไปทุกที่ แต่นาร์ซิสซัสไม่สนใจนางเลย อยากให้พูดกับนางบ้าง อยากให้หันมามองนางบ้าง แต่นาร์ซิสซัสเอาแต่มองเงาในน้ำ จ้องมองจนข้าวปลาไม่กินจนเสียชีวิตไป นางเห็นคนที่ตัวเองรักตายไป นางก็ตรอมใจตายตามไปด้วย เหลือเพียงแต่เสียงของนางเอาไว้เท่านั้น ดังนั้นหากใครพูดหรือตะโหนที่ไหนแล้วมีเสียงท้ายดังตามมา ให้รู้ไว้ว่านั้นคือเสียงของเอคโค่นั่นเอง เอง เอง เอง...

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ครั้งหนึ่งนาร์ซิสซัสดันไปปฎิเสธความรักของวีนัส เทพเจ้าแห่งความงาม วีนัสอับอายมาก จึงสาปนาร์ซิสซัสว่า หากไม่รักใครก็ให้นาร์ซิสซัสหลงรักแต่ตัวเองเท่านั้น

จากนั้นเป็นต้นมา นาร์ซิสซัส ก็เอาแต่รักตัวเอง หลงรูปตัวเอง เมื่อเขามองเงาตัวเองเมื่อไหร่ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้แต่ก้มลงจะกินน้ำก็ไม่ได้กิน ได้แต่จ้องมองหน้าตัวเองในน้ำเท่านั้่น เรียกได้ว่าหลงรูปตัวเองแบบสุด ๆ แบบโงหัวไม่ขึ้นเลยทีเดียว มองแต่เงาตัวเองจนตายคาบ่อน้ำนั้นแหละ

หากใครมีเพื่อนที่ชอบโพสแต่รูปตัวเอง กว่าจะโพสรูปตัวเองได่แต่งแล้วแต่งอีก แล้วนั่งรอว่ามีคนมากดไลค์เท่าไหร่ หรือรออ่านว่ามีคนมาคอมเม้นต์อย่างไรบ้าง ผมว่าเขาอาจจะเป็นส่วนหนึ่ของวิญญาณ นาร์ซิสซัส ก็เป็นได้

ข้อมูลจาก

http://haamor.com/th/เซลฟี-โรคจิตออนไลน-1\

The Narcissus Myth: Early Poets and Versions of the Ancient Story จาก https://www.historicmysteries....

หมายเลขบันทึก: 660651เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2019 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2019 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท