“ครู…นวัตกรรมของการจัดการเรียนรู้”


“ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” กฎของไตรลักษณ์ ความเป็นวิทยาศาสตร์ของพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา

“นวัตกร” คือผู้สร้าง “นวัตกรรม” ความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า เป็นความสดใหม่ที่เสริมสร้างพลังขับเคลื่อน    ให้ก้าวรุดหน้า เป็นความต่างที่มีลักษณะเฉพาะของความเป็นตัวตนเพื่อตอบโจทย์หรือเงื่อนไขที่ยังค้างคา “Be Different, Be Unique, Be Self”

ทำไมครูต้องเป็นนวัตกร? เพราะการเปลี่ยนแปลงทำให้มนุษย์เผชิญกับโลกที่หมุนได้สารพัดทิศทาง ของห้วงเวลาที่น้อยกว่าเสี้ยวของเสี้ยวที่กระพริบตา มนุษย์จะอยู่หรือควรอยู่อย่างไร? ในฐานะของผู้สร้างที่สำคัญ “ครู” จะช่วยตอบโจทย์นี้อย่างไร เด็กที่ผ่านการบ่มเพาะของครูหนึ่งคนมีกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่นคน เขาเหล่านี้ไม่ได้รับรู้แต่เฉพาะบรรดาประสบการณ์ที่ครูต้องการถ่ายทอดในรูปแบบของลายลักษณ์อักษร ผังมโนทัศน์ สมการทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ โครงสร้างทางเคมี หรือประโยคสื่อสารอันสละสลวยของภาษา ทุกอย่างที่เป็นครูสะท้อนไปยังเด็ก เป็นหลักสูตรที่แฝงนัยยะ (Hidden Curriculum) และมีอิทธิพลอย่างยิ่ง “Teacher as a mirror and the other hand student as a mirror too”

นักเรียนที่อยู่ในมือของครู หลากหลายคละคล้าย พื้นฐานครอบครัวที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐสถานะ ระดับการศึกษา ทัศนคติ ไม่นับปัจจัยภายในคือความถนัด ความสนใจ พฤติกรรมความสามารถที่แตกต่างสอดรับกับโครงสร้างทางชีวภาพและกายภาพของตัวเด็กเอง การจัดการเรียนรู้แบบตัดเสื้อโหล (One fit for all) จึงไม่ใช่สิ่งที่ตอบสนองต่อเด็กทุกคนในห้องเรียน เป็นความคาดหวังที่ไม่มีทางเป็นไปได้

การเป็นนวัตกรของครู….ต้องคำนึงถึง ทบทวน และปรับเปลี่ยน

๑) รู้จักเด็กเป็นรายบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

๒) การจัดการเรียนรู้ต้องเริ่มในจุดที่เป็นตัวเด็ก (Starting where the student is)

๓) อายุไม่บ่งชี้ถึงวุฒิภาวะในความพร้อมที่จะเรียนรู้ เด็กต่างคนต้องการเวลาและโอกาสที่ต่างกัน

๔) วุฒิภาวะสอดรับกับศักยภาพ เด็กทุกคนมีช่วงของการพัฒนาศักยภาพที่เรียกว่า “Zone of Proximal Development” ลดน้อยถอยห่างได้ต่างกัน ถ้าครูใส่ใจ ไวต่อปฏิกิริยาของเด็ก อดทนพยายาม มองหาคุณภาพมากกว่าปริมาณ จะมองเห็นช่องทางการช่วยเหลือและเติมเต็ม เด็กทุกคนต้องมีที่ยืน มีตัวตน มีความภาคภูมิใจ

๕) การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนคือการเสริมสร้าง “Zone of Proximal Development” และตอบสนองแนวคิดพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ๖) ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่ใช่แค่การพัฒนาเด็ก แต่คือการพัฒนาวิชาชีพของครู อันแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้บทบาทที่ได้รับการเรียกขานว่า “ปูชนียบุคคล”


หมายเลขบันทึก: 660240เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2019 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2019 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท